"โซเชียลมีเดีย" ทำยอด "นักพนันออนไลน์วัยโจ๋" พุ่ง

10 มี.ค. 2562 | 05:48 น.

งานวิจัยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ พบเด็ก 7 ขวบ เล่นพนัน ชี้! ยุคโซเชียล ทำยอดนักพนันออนไลน์วัยโจ๋พุ่ง เตือน! ห่วงกระทบสมอง โทษคล้ายยาเสพติด ฉุดรั้งทักษะชีวิตในระยะยาว แนะรัฐแก้ปัญหานักพนันเยาวชนเป็นวาระแห่งชาติ มอบ สธ. แม่งาน คลอดนโยบาย พร้อมจัดเวทีสาธารณะ ชงข้อเสนอตัวแทนพรรคการเมือง

จากงานวิจัย เรื่อง "การลดผลกระทบของพนันออนไลน์ต่อเด็กและเยาวชนไทย" โดย พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ระบุว่า ในจำนวนคนไทยที่ติดพนันกว่า 2.1 ล้านคน เป็นเด็กและเยาวชนถึง 207,000 คน โดยเฉพาะพนันออนไลน์ ที่พบว่า กลุ่มวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่เล่นพนันออนไลน์มากที่สุด และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สอดรับกับสถิติการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทย ที่พบว่า ใน 1 วัน คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 10 ชั่วโมง 5 นาที เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหลายเท่าตัว โดยช่วงอายุที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากที่สุด คือ อายุระหว่าง 15-24 ปี ถึง 76.8% รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 6-14 ปี 58%
 

"โซเชียลมีเดีย" ทำยอด "นักพนันออนไลน์วัยโจ๋" พุ่ง


เหตุนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การพนันออนไลน์ได้รับความนิยมสูงสุดในเด็กและเยาวชน เพราะเข้าถึงได้ง่าย
 

งานวิจัย ยังระบุอีกว่า การพนันในเด็กและเยาวชนส่งผลต่อสุขภาพจิต สุขภาพกาย และผลกระทบต่อสมอง โดยพบว่า การพนันมีส่วนเปลี่ยนแปลงสมองได้เช่นเดียวกับยาเสพติด และขัดขวางการพัฒนาสมองและทักษะชีวิตของเด็กและเยาวชนอย่างถาวร โดยเฉพาะการพนันออนไลน์ ที่มีความรุนแรงกว่าพนันชนิดอื่นถึง 3 เท่า
 

"โซเชียลมีเดีย" ทำยอด "นักพนันออนไลน์วัยโจ๋" พุ่ง


นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบในทางพฤติกรรมด้วย เพราะการพนันเป็นต้นตอที่ให้เยาวชนมีโอกาสเข้าสู่อบายมุขอื่น รวมถึงการก้าวสู่เส้นทางอาชญากรรมได้

ส่วนผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ พบว่า รายได้ของผู้ประกอบการธุรกิจพนันออนไลน์เติบโตในลักษณะก้าวกระโดด จากปี 1997 มีรายได้ที่ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี มาเป็น 528,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปีในปี 2015

ส่วนประเทศไทยเองในปี 2551 ผลสำรวจของเอแบคโพลล์ พบว่า ในช่วงฟุตบอลยูโร มีเด็กและเยาวชน อายุ 12-24 ปี ใน กทม. และปริมณฑลกว่า 370,000 คน เข้าสู่วงพนันบอล โดยมีเงินสะพัดถึง 924 ล้านบาท

ที่น่าห่วง คือ ในจำนวนกว่าร้อยละ 83.8 มองว่า การเล่นทายพนันบอลเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมไทย

ด้าน ผลกระทบของพนันออนไลน์ต่อสังคม พบว่า พนันออนไลน์เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เยาวชนผละจากห้องเรียน และส่วนหนึ่งไม่มีเงินชำระหนี้พนัน ทำให้ต้องเดินเข้าสู่เส้นทางธุรกิจที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจากสถิติการจับเด็กและเยาวชน ข้อหาเกี่ยวกับการพนัน พบว่า ตั้งแต่ปี 2550-2559 พบว่า มีเด็กอายุ 8-15 ปี ถูกจับกุมร้อยละ 0.11 อายุ 16-18 ปี ถูกจับกุมร้อยละ 1.07 และอายุ 19-25 ปี ถูกจับกุมถึงร้อยละ 9.76

งานวิจัยฉบับนี้ ยังได้เสนอแนะ "ทางออก" ให้ทุกภาคส่วนในสังคมร่วมกันปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากพนันออนไลน์ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยรัฐควรแสดงจุดยืนให้เห็นถึงการตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการพนันในเด็กและเยาวชน ดังนี้

การป้องกันทางนโยบายสาธารณะ แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะต้น ต้องสำรวจสถานการณ์ปัญหาการพนันในเด็กและเยาวชนอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งรณรงค์ให้สังคมตระหนักรู้ผ่านสื่อและกิจกรรมต่าง ๆ ขณะเดียวกันต้องเพิ่ม "พื้นที่สีขาว" ให้เด็กและเยาวชนได้มีกิจกรรมที่ห่างไกลจากการพนันด้วย

ต่อมา ในระยะกลาง รัฐควรแสดงจุดยืนให้ชัดเจนถึงความสำคัญของปัญหาพนันในเด็กและเยาวชน โดยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ และกำหนดให้ปัญหาการพนันเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศที่ต้องได้รับการแก้ปัญหาอย่างจริงจังก่อน โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้พัฒนาแผนระดับชาติในการแก้ปัญหาการพนัน

ขณะที่ ในระยะยาว ประเทศไทยควรจัดตั้งกองทุนเพื่อการแก้ปัญหาการพนันในเด็กและเยาวชนเป็นการเฉพาะ โดยนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการดำเนินการมาใช้ในการณรงค์สร้างการตระหนัก การเยียวยารักษา รวมทั้งสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ หรือ จัดการเรียนการสอนให้ความรู้ ความเข้าใจ ปัญหาของการพนันให้เป็นหลักสูตรในโรงเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย

การป้องกันเชิงนโยบายสังคม ต้องสนับสนุนให้กระทรวงสาธารณสุขกำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในเด็กและเยาวชน โดยใช้แนวทางบริการสาธารณสุข เพราะปัญหาการพนันไม่ได้เป็นปัญหาในตัวบุคคล แต่เป็นปัญหาของชุมชนโดยรวม เช่นเดียวกับปัญหาสาธารณสุขอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังต้องมีความเข้มงวด โดยการกำหนดเป็นกฎหมายในการกำหนดอายุขั้นต่ำเพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนเล่นพนัน รวมถึงการจัดสรรทุนเพื่อสนับสนุนโครงการแก้ปัญหาการพนันหลายรูปแบบ

นอกจากนี้ ในส่วนของการคุ้มครองเด็กและเยาวชน จะต้องกำหนดมาตรการคุ้มครองเด็กจากการพนันให้ชัดเจน โดยถือการกระทำผิดที่เด็กเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นความผิดขั้นรุนแรงและบัญญัติฐานความผิดเพิ่มเติม รวมถึงการเพิ่มโทษ เพื่อสนับสนุนการคุ้มครองเด็ก เช่น ความผิดเกี่ยวกับการอนุญาตให้เด็กเข้าเล่นการพนันทุกประเภท ความผิดจากการโฆษณาพนันทุกประเภท

ทั้งนี้ มีข้อเสนอ 2 ทางเลือก ในการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนไทย คือ ตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่ โดยจัดทำกฎหมายใหม่เพื่อกำหนดให้มีองค์กรกำกับดูแลด้านความปลอดภัยออนไลน์ โดยรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณให้กับกองทุนอย่างต่อเนื่อง คล้ายกับรูปแบบของประเทศออสเตรเลีย ที่เป็นองค์กรอิสระ หรือ อีกแนวทาง คือ ยึดการทำงานตามภารกิจ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงาน โดยยึดตามภารกิจของหน่วยงาน แต่จะต้องหาวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพและจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นระบบ เพื่อดำเนินโครงการตามเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้

นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขปัญหาโดยใช้การขับเคลื่อนกลุ่มพลังเด็กและเยาวชนชุมชน การส่งเสริมให้เยาวชนรู้เท่าทันสื่อพนันออนไลน์ รวมถึงการควบคุมการใช้เครื่องมือสื่อสารและอินเตอร์เน็ตในกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี

อย่างไรก็ตาม แม้ปัญหาการพนันในเด็กและเยาวชนจะเป็นปัญหาที่มีมานาน แต่ที่ผ่านมา กลับไม่ถูกกล่าวถึงเท่าที่ควร

"โซเชียลมีเดีย" ทำยอด "นักพนันออนไลน์วัยโจ๋" พุ่ง