ปั้นอาชีวะ 4.0 2 ปีต้องการ 1แสนคน

08 มี.ค. 2562 | 10:15 น.

การจะยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10+2 สาขา ตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่เน้นไปในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) นอกจากการลงทุนในตัวเทคโนโลยีและวิทยาการขั้นสูงแล้ว การสร้างบุคลากรที่มีทักษะความสามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และสามารถพัฒนาต่อยอดขึ้นไปได้ เป็นอีกหลักประกันความสำเร็จที่จะสร้างความเข้มแข็งและยืนอยู่บนขาตนเองได้อย่างแท้จริง ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) จึงตั้งคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์(อีอีซี-เอชดีซี)ขึ้น มีนายอภิชาติ ทองอยู่ ที่ปรึกษาเลขาธิการสกพอ. เป็นประธานคณะกรรมการ

 

ต้องการอาชีวะถึง70%

นายอภิชาติกล่าวว่า สกพอ.ตั้งบอร์ดพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ขึ้น ที่มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน จ.ชลบุรี เพื่อเป็นหน่วยงานกลางเพื่อบูรณาการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ป้อนให้กับอีอีซี โดย 70% ของผู้ประกอบการที่ทำการสำรวจ มีความต้องการกำลังคนระดับอาชีวะมากกว่า เป็นเหตุให้ต้องปรับทิศใหม่ใช้ความต้องการในตลาดเป็นตัวตั้ง และดึงทุกภาคส่วนเข้าร่วมเพื่อให้ได้กำลังคนที่ทำงานได้จริง

โดยบอร์ดเอชดีซีจะทำหน้าที่ประสาน 4 ส่วนคือ 1.ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและท้องถิ่น 2.สถาบันการศึกษาทั้งอาชีวะและมหาวิทยาลัย 3.ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งหลาย และ 4. ประสานสถาบันหน่วยงานในต่างประเทศ โดยมีขอบเขตชัดเจนว่า ทำงานในพื้นที่อีอีซี โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องข้างต้น โฟกัสใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย(เอส เคิร์ฟ) ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการสำรวจความต้องการแรงงานออกมาเป็นระยะ

เมื่อสถาบันการศึกษาเห็นภาพรวมความต้องการกำลังคนจริง ก็ปรับสู่การจัดการศึกษาที่จับต้องได้ โดยสถาบันการศึกษาที่มีความชำนาญในด้านไหน เช่น ระบบราง จะดึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง มาร่วมเป็นคณะทำงาน สร้างข้อตกลงร่วม พัฒนาหลักสูตรร่วม เช่น รถไฟความเร็วสูง ต้องมีงานกี่ประเภท และงานแต่ละประเภทมีระดับไหนบ้าง ปวช. ปวส. ปริญญาตรี โท เอก จากนั้นก็จะช่วยกันร่างหลักสูตรแล้วส่งไปให้สถาบันเครือข่ายช่วยกันผลิต จะรู้ว่าในแต่ละปีๆ จากนี้ไปจะมีคนจบออกมาทำงานด้านนั้นๆ กี่คน ระดับไหนบ้าง โดยมีมาตรฐานวิชาชีพไปคอยกำกับดูแล 

ปั้นอาชีวะ 4.0 2 ปีต้องการ 1แสนคน

 

ภาคอุตฯรับภาระค่าใช้จ่าย

สำหรับการพัฒนากำลังคนแนวดังกล่าวจะเป็นแบบผสมผสาน หรือ เวิร์ก อินทิเกรต เลิร์นนิ่ง โดยมีข้อตกลงร่วมระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคอุตสาหกรรมทั้ง 10 เอส เคิร์ฟ เป็นการสร้างหลักสูตรและการจัดการศึกษาที่ตอบสนองการพัฒนาความรู้ และทักษะฝีมือที่ตรงความต้องการของอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง โดยการพัฒนากำลังคนตามโปรแกรมนี้ภาคอุตสาหกรรมจะรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ ทั้งค่าเล่าเรียน ค่ากินอยู่ ค่าหอพัก มีเงินเดือนระหว่างเรียน 5 พันบาท เมื่อไปฝึกงานก็ได้เบี้ยเลี้ยงตามอัตราตลาด จบแล้วโรงงานรับเข้าทำงานต่อทันที ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ทางบอร์ดเอชดีซีจะประสานกับบีโอไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เอกชนนำค่าใช้จ่ายไปหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เพราะเป็นการสนับสนุนสร้างความรู้ให้

“เราสร้างวิน-วินโซลูชัน เด็กไม่ต้องไปกู้เงินเรียน อุตสาหกรรมเป็นคนจ่ายให้ แล้วเขาก็เอาค่าใช้จ่ายไปขอลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า สถานศึกษาก็สามารถพัฒนาความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง จากการทำงานร่วมกับอุตสาหกรรม ได้รู้ว่าเทคโนโลยี โนว์ฮาวเปลี่ยนไปอย่างไรนอกจากนี้เมื่อเขาจบไปแล้วได้งานทันที ไม่มีข้อผูกมัดว่าต้องกลับเข้าไปทำงานในโรงงานนั้น แต่โดยสัญญาทั่วๆ ไป บริษัทก็จะรับเข้าทำงานทันที และเงินเดือนสูง เช่น ปวช.เริ่มที่ 1.5 หมื่นบาทขึ้นไป ปวส.ที่ 1.8 หมื่นบาท จะมีปัญหาที่ว่าเด็กอยากไปเรียนต่อกันมากกว่า”

 

ดึงเอกชนกว่า300รายเข้าร่วม

การปั้นคนอาชีวะ4.0 ตามอีอีซีโมเดลนี้ นายอภิชาติยืนยันว่า พร้อมเปิดรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในโปรแกรมเหล่านี้ได้ภายในปีการศึกษา 2562 นี้แน่ โดยที่ผ่านมาได้เดินสายแนะนำใน 205 โรงเรียนในสังกัดสพฐ.-เอกชน ซึ่งมี 12 วิทยาลัยจากทั้งหมด 48 แห่งในพื้นที่อีอีซี ที่จะทำอีอีซีโมเดล กับอีก 8 มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ขณะที่ภาคเอกชนมีบริษัท-กลุ่มบริษัท เอส เคิร์ฟเข้าร่วม 331 โรงงาน ในการทำงานปีที่ผ่านมา เช่น เทคนิคชลฯ ทำเรื่องออโตเมชันจับมือกับซัมซุง เทคนิคจันท์จับมือกับแม็คโครทำเรื่องโลจิสติกส์ เทคนิคสัตหีบเรียนเรื่องการโรงแรมก็จับมือกับโรงแรมแอมบาสซาเดอร์ โรงแรมรอยัลคลิฟ เป็นต้น โดยในระยะอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะมีความต้องการแรงงานทักษะเหล่านี้ถึง 100,000 อัตรา 

ปั้นอาชีวะ 4.0 2 ปีต้องการ 1แสนคน

นายอภิชาติกล่าวอีกว่า อีกภารกิจคือการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมอยู่แล้ว ในแต่ละกลุ่มจะมีสถาบันการศึกษามาร่วมเป็นคณะทำงานจัดการศึกษาแบบใหม่เป็น 15 กลุ่มทำงาน เพราะในกลุ่มโลจิสติกส์แยกย่อยเป็น 3 คือ ระบบราง อากาศยาน และการเดินเรือ มาทำหลักสูตรและการอบรมเป็นโมดูลชอร์ตคอร์ส ในการจัดอบรม ระยะสั้น ยกระดับทักษะ รวมถึงเปิดหลักสูตรให้คนที่จบปริญญาตรีที่ตกงานมาอบรมเพื่อส่งกลับเข้าตลาดแรงงานใหม่ได้ 

สัมภาษณ์ : โต๊ะข่าวอีอีซี

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3451 ระหว่างวันที่ 10 - 13 มีนาคม 2562

ปั้นอาชีวะ 4.0 2 ปีต้องการ 1แสนคน