‘Nan’ Sandbox ปลูกจิตสำนึกรักษ์ป่า

13 มี.ค. 2562 | 05:20 น.

“มันต้องมีเงินมาช่วย อยู่ดีๆ ให้เขาหยุดปลูกพืชเดิม ทำให้รายได้ประจำเดือนของเขาหายไป แล้วพวกเขาจะทานอะไร เพราะฉะนั้นในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ต้องประคองชีวิตให้เขาสามารถมีชีวิตอยู่ได้พอสมควร แล้วไปเรียนวิธีทำมาหากินแบบใหม่ แม้ชาวบ้านเขาร่วมในความตั้งใจ แต่ทุกคนยังทำเหมือนเดิม ทุกคนยังปลูกข้าวโพดเหมือนเดิม เพราะยังไม่มีอะไรไปทำให้เขาเปลี่ยนได้ ฉะนั้นทางพื้นที่ต้องเจรจาให้ถูกกฎหมายก่อน นี่คือประเด็นใหญ่ของประชาชนเลย เพราะถ้าแก้ตรงนี้ได้จะได้กำลังใจมาเยอะเลย อย่างไรก็ตามการมีพื้นที่ถูกกฎหมายไม่ได้หมายความว่าทำมาหากินรอด อันนั้นเป็นอีกโจทย์หนึ่ง ซึ่งก็ยากพอกันเราจะต้องแก้ไขไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นทุกคนไม่มีใครนั่งรอรับอะไรจากใคร ทุกคนต้องดิ้นรนที่จะสร้างชีวิตใหม่ นี่คือความยั่งยืน ” คุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ผู้มีส่วนสำคัญในการจัดทำโครงการ “น่านแซนด์บ๊อกซ์ (Nan Sandbox)”

‘Nan’ Sandbox ปลูกจิตสำนึกรักษ์ป่า

แสงสะท้อนภาพตึกกสิกรไทยสำนักงานใหญ่บนผืนน้ำเจ้าพระยาในขณะนี้ งดงามไปด้วยโทนสีเขียวของผืนป่าและโทนสีต่างๆ ของสัตว์ป่ารายล้อมอยู่รอบตึก อาทิ ช้างและเสือดำ โดยในช่วงเวลากลางคืนจะส่องสว่างเต็มทั้งพื้นที่ ซึ่งสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์และเป้าหมายในการสร้างผืนป่าที่จังหวัดน่านให้กลับมามีลมหายใจอีกครั้ง ทั้งผืนป่าและหัวใจของชาวบ้านทุกคน

หลายปีที่ผ่านมาในจังหวัดน่าน จะเห็นภาพภูเขาหัวโล้น พื้นที่ป่าไม้ที่ถูกตัดทำลายและแทนที่ด้วยภาคการเกษตร กลายเป็นปัญหาระดับชาติที่ทุกภาคส่วนหันมาร่วมกันบูรณาการ หล่อหลอมจนก่อเกิดเป็นโครงการ “Nan Sandbox” โดยมีวัตถุประสงค์ในการขับเคลื่อน 3 มิติ ได้แก่  1. แก้ไขปัญหาด้านที่ดิน-ป่าไม้ เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยได้ถูกต้องตามกฎหมายและปรับคืนพื้นที่มาเป็นสภาพป่า 2. จัดหาเงินทุนสนับสนุนการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตทางการเกษตรและการเลี้ยงชีพในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน 3.ปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรเชิงเดี่ยวไปสู่การผลิตหรืออาชีพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีรายได้เพียงพอ และยกระดับคุณภาพชีวิต

เพื่อเป็นการสื่อสารให้ประชาชนทุกคนร่วมกันอนุรักษ์ป่าไม้ของไทยรวมทั้งตระหนักถึงป่าต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีจุดกำเนิดมาจากจังหวัดน่าน ทางธนาคารกสิกรไทย จึงได้ Wrap กระจกบริเวณอาคารทั้งหลังของสำนักงานใหญ่ โดยแนวคิดการตกแต่งอาคาร ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ ด้วยภาพป่าไม้นี้ โดยมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการร่วมฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าของชาติ โดยเชื่อว่าทรัพยากรป่าเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณค่ายิ่งของประเทศไทยที่พวกเราทุกคนต้องหวงแหนร่วมมือ ร่วมใจ และร่วมแสดงพลัง เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญนี้ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังสืบไป การตกแต่งอาคารด้วยภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์และสัตว์ป่านานาชนิดที่สำคัญสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อคนไทยทุกคนตระหนัก เข้าใจ และร่วมมือกันอย่างจริงจัง อย่างยั่งยืนแล้ว เราจะมีทรัพยากรธรรมชาติป่าที่สมบูรณ์และอุดมด้วยสัตว์ป่านานาพันธุ์คงอยู่ในระบบนิเวศของประเทศไทยสืบไป ดังนั้น โครงการ “รักษ์ป่าน่าน” ทำมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 และต่อยอดเป็นโครงการ “Nan Sandbox”

‘Nan’ Sandbox ปลูกจิตสำนึกรักษ์ป่า

Nan Sandbox คือ? เป็นโครงการที่ภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน ร่วมมือกันแก้ปัญหาทรัพยากรป่าไม้ในจังหวัดน่านและสร้างอาชีพการเกษตรอย่างยั่งยืนให้ราษฎร โดยรัฐบาลมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 48/2561 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 เรื่อง การบริหารพื้นที่รูปแบบพิเศษ เพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน : พื้นที่จังหวัดน่าน

จากรายงานธนาคารแห่งความยั่งยืนของกสิกรไทยแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2560 ระบุถึงความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมไว้ว่า “ธนาคารมีการดำเนินงานโดยประสานแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อหาแนวทางในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้และแก้ไขปัญหาสภาพป่าเสื่อมโทรมจากการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกพืช โดยหวังว่าจะพลิกฟื้นผืนป่าในจังหวัดน่านให้กลับมามีชีวิตที่งดงาม โดยสอดคล้องตามเจตนารมณ์ของประเทศในการมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำและมีความต้านทานต่อสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน”

จังหวัดน่านนี้ มีพื้นที่กว่า 7 ล้านไร่ โดยกว่า 85% หรือประมาณ 6 ล้านไร่เป็นป่าสงวนตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่ป่าสงวนลดลงอย่างน่าใจหายโดยเหลือเพียง 4.5 ล้านไร่ หรือถูกชาวบ้านรุกเข้าไปทำการเกษตรแล้วกว่า 1.8 ล้านไร่ ของพื้นที่ป่าสงวนทั้งหมด ไม่เพียงเท่านั้นการสูญเสียพื้นที่ป่าอย่างหนักของน่านยังส่งผลกระทบต่อแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าต้นน้ำสายสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นดั่งสายเลือดหลักของประเทศไทย ฉะนั้นการเร่งฟื้นฟูถือเป็นกระบวนการที่ต้องปฏิบัติอย่างเร่งด่วน

‘Nan’ Sandbox ปลูกจิตสำนึกรักษ์ป่า

โดยสูตรที่นำมาใช้ในการพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดน่าน คือ 72-18-10 โดย 72% คือ พื้นที่ป่าสงวนที่สมบูรณ์ที่เหลือในปัจจุบัน ซึ่งทุกคนจะช่วยกันรักษาป่าต้นน้ำให้คงอยู่ตลอดไป 18% คือ พื้นที่ทำกินในเขตป่าที่เกษตรกรน่านยินดีฟื้นฟูกลับมาเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ โดยรัฐจะอนุญาตให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจใต้ต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ส่วนนี้ได้ และ 10% คือ พื้นที่ที่จัดสรรให้ปลูกพืชเศรษฐกิจได้เต็มที่ (แต่ยังคงเป็นป่าสงวนโดยกฎหมาย) สำหรับแผนงานของ Nan Sandbox ต่อจากนี้ คือ การนำองค์ความรู้ทุกศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อเปลี่ยนวิถีทำกินให้เกษตรกร แม้ปัจจุบันมีพืชทางเลือกที่สามารถสร้างรายได้และเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมอาหารและแปรรูป อาทิ กาแฟ โกโก้ หรือเห็ด แต่หัวใจสำคัญคือการศึกษาปัจจัยแวดล้อมว่าเหมาะสมกับการปลูกพืชชนิดใด รวมทั้งมองถึงการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านการเกษตรมาปรับใช้ ตลอดจนตั้งคำถามที่ทางคุณบัณฑูร เคยกล่าวไว้ คือ “สร้างยี่ห้ออย่างไร ขายใคร ขายเท่าไหร่” เพื่อทำให้ชาวบ้านมีรายได้ องค์ความรู้และร่วมกันดูแลรักษา ฟื้นฟูผืนป่า โดยมีนัยสำคัญคือ สามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างมีมิตรสัมพันธ์

‘Nan’ Sandbox ปลูกจิตสำนึกรักษ์ป่า

การสื่อสารเพื่อประชาสัมพันธ์ในโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการรณรงค์และสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในไทย ได้ดำเนินการออกมาหลากหลายรูปแบบ เช่น บทเพลง ชีวิตสัมพันธ์ โดยเป็นซิงเกิลการกุศลในปี 2530 ส่วนการ Wrap ตึกในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งมิติของการร่วมกันปลูกฝังการรักษ์ผืนป่าให้กับทุกคนได้อย่างเหมาะสมเช่นกัน โดยเฉพาะป่าต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ทอดยาวและหล่อเลี้ยงประชาชนไทยมาตราบนานเท่านาน

 

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,451 วันที่  10 - 13 มีนาคม พ.ศ. 2562

‘Nan’ Sandbox ปลูกจิตสำนึกรักษ์ป่า