ถอดสูตรคุย : แบงก์พัน... ปลิวว่อนเลือกตั้ง

09 มี.ค. 2562 | 03:20 น.

นับถอยหลังอีกไม่กี่วันก็จะถึงวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของไทยเป็น การทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ช่วงนี้จึงถือเป็นโค้งสุดท้ายในการหาเสียงของพรรคการเมือง โดยประเมินกันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีการแข่งขันที่เข้มข้น ทั้งในเรื่องการเสนอชื่อตัวบุคคล นโยบาย รวมทั้งเงิน กระสุนทางการเมืองชิ้นสำคัญ เพื่อช่วงชิงคะแนนนิยมจากประชาชน

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยพบประเด็นที่น่าสนใจคือ ปริมาณธนบัตรหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปลายปี 2561 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 1.26 แสนล้านบาท จาก 1.611 ล้านล้านบาท ในเดือน ตุลาคม 2561 เป็น 1.737 ล้านล้านบาทในเดือนมกราคม 2562

เมื่อเจาะลึกในรายละเอียดของปริมาณธนบัตรที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ในเดือนตุลาคม 2561 เปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2562 พบว่าธนบัตรชนิด 1,000 บาท เพิ่มขึ้นกว่า 2 หมื่นล้านบาท จาก 1.43 ล้านล้านบาท เป็น 1.45 ล้านล้านบาท ขณะที่ธนบัตรชนิด 500 บาท ลดลงจาก 1.52 แสนล้านบาท เป็น 1.45 แสนล้านบาท หรือลดลงราว 7 พันล้านบาท ด้านธนบัตรชนิด 100 บาท เพิ่มจาก 1.52 แสนล้านบาท เป็น 1.65 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.3 หมื่นล้านบาท

แม้ว่าหลายคนอาจมีข้อสังเกตว่าเงินที่สะพัดในช่วงปลายปี 2561 ถึงมกราคมปีนี้ เป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น และเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ที่มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ถ้าดูจากธนบัตรหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ในเดือนมกราคม 2562 จำนวน 1.737 ล้านล้านบาทเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2561 ที่มีจำนวน 1.64 ล้านล้านบาท จะพบว่าเพิ่มขึ้นเกือบ 1 แสนล้านบาท หรือเกือบ 10%

ถอดสูตรคุย : แบงก์พัน... ปลิวว่อนเลือกตั้ง

ที่สำคัญหากย้อนกลับไปดูปริมาณธนบัตรหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในช่วงที่มีการเลือกตั้งส.ส.เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 1.237 ล้านล้านบาทในเดือนตุลาคม 2556 เป็น 1.415 ล้านล้านบาทในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 หรือเพิ่มขึ้น 1.78 แสนล้านบาท

ปริมาณธนบัตรที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ในเดือนตุลาคม 2556 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ชนิด 1,000 บาท เพิ่มขึ้นจาก 1.103 ล้านล้านบาท เป็น 1.219 ล้านล้านบาท ชนิด 500 บาท ลดลงจาก 1.28 แสนล้านบาท เหลือ 1.14 แสนล้านบาท และธนบัตรฉบับละ 100 บาท เพิ่มจาก 1.19 แสนล้านบาท เป็น 1.31 แสนล้านบาท

ถึงตรงนี้คงพอจะเห็นภาพกันแล้วว่าปริมาณเม็ดเงินในระบบที่เพิ่มขึ้น มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเลือกตั้ง และธนบัตรที่นิยมใช้กันมากที่สุดในช่วงเลือกตั้งคือ ชนิด 1,000 บาท กับ 100 บาท  

ภาวะเศรษฐกิจ รายได้ และค่าครองชีพเพิ่มขึ้น จึงไม่แปลกที่ธนบัตร ที่ถูกใช้เป็นกระสุนดินดำทางการเมืองช่วงเลือกตั้งจะแปรเปลี่ยนไป จากธนบัตรชนิด 20 บาท และ 100 บาท ที่่เคยเป็นเรื่องอื้อฉาว “ยี้ห้อย ร้อยยี่สิบ” มาแล้วในการเลือกตั้งส.ส.ปี 2537 กลายมาเป็นธนบัตรชนิด 100 บาท และ 1,000 บาท ในการเลือกตั้งปี 2562


|คอลัมน์ : ถอดสูตรคุย
|โดย : ณัฐพล หวังทรัพย์
|หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3451 ระหว่างวันที่ 10 - 13 มีนาคม 2562

ถอดสูตรคุย : แบงก์พัน... ปลิวว่อนเลือกตั้ง