กบร.ไฟเขียว 3 ประเด็นส่งเสริมการขยายตัวคมนาคมทางอากาศ

07 มี.ค. 2562 | 04:40 น.

กบร.ไฟเขียว 3 ประเด็นส่งเสริมการขยายตัวคมนาคมทางอากาศ ผลักดันการใช้งานสนามบินภูมิภาคสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง เห็นชอบร่างพ.ร.บ.เดินอากาศฉบับใหม่ และอนุมัติแผนนิรภัยในการบินพลเรือนแห่งชาติ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยว่าในการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ที่ประชุมไฟเขียวใน 3 ประเด็น ที่เกี่ยวเนื่องกับการคมนาคมทางอากาศ ได้แก่  1.การพิจารณากำหนดมาตรการส่งเสริมให้มีการใช้ท่าอากาศยานภูมิภาคให้เต็มขีดความสามารถเพื่อสนับสนุนนโยบายการท่องเที่ยวเมืองรอง ปัจจุบันมีท่าอากาศยานในเมืองรองที่ให้บริการ รวมทั้งสิ้น 23 แห่ง เมื่อปี 2561 มีปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการท่าอากาศยานในเมืองรอง จำนวนประมาณ 15 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด มีจำนวนเที่ยวบิน 126,381 เที่ยวบิน ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย มีจำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินสูงที่สุด

นอกจากนี้สายการบินที่ทำการบินจากอินโดนีเซีย และมาเลเซียสามารถบินมาที่ท่าอากาศยานในจังหวัดเมืองรองทางภาคใต้ได้โดยตรง ได้แก่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ปัตตานี นราธิวาส ตรัง นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการภายใต้กรอบความร่วมมือการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 ฝ่าย (IMT-GT) เพื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขยายเส้นทางบิน (ฉบับล่าสุด) ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยสร้างความเจริญให้กับกลุ่มเมืองรองของทั้ง 3 ประเทศ และเพิ่มพูนการค้า การลงทุน การพาณิชย์ การท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกัน

 

2. ความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 2 ฉบับ ดังนี้ 2.1 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการเดินอากาศฯ (หลักเกณฑ์เรื่องทุนและอำนาจการบริการกิจการ) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นการแก้ไขสัดส่วนผู้ถือหุ้นของบริษัทที่จะเป็นผู้ผลิตอากาศยาน หรือชิ้นส่วนอากาศยาน โดยจะต้องออกพระราชกฤษฏีกากำหนดรายละเอียดเพิ่มเติม 2.2 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการเดินอากาศฯ แล้วเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2562 (ร่างฉบับใหญ่) โดยจะเป็นการกำหนดหน้าที่ กบร. เป็นกรรมการนโยบายด้านการบิน และกำกับดูแลด้านเศรษฐกิจ อาทิ พิจารณาการออกใบอนุญาตประกอบกิจการการค้าขายการเดินอากาศ (AOL) การกำหนดอัตราค่าโดยสาร การคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น

3. การอนุมัติแผนนิรภัยในการบินพลเรือนแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นกรอบในการกำกับความปลอดภัยในการบิน ซึ่งองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) กำหนดให้ทุกประเทศต้องมีแผนให้ชัดเจนว่าภาครัฐ และผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการเพื่อให้มีความปลอดภัยด้านการบิน

090861-1927-9-335x503-8-335x503-13-335x503