เจาะ 62 เขตเลือกตั้งภาคเหนือ "ฐานแดง" ยังแน่นปึ๊ก 36 ที่นั่ง - "พปชร." สอยได้ 13 ที่นั่ง

06 มี.ค. 2562 | 08:17 น.

เจาะ 62 เขตเลือกตั้งภาคเหนือ "ฐานแดง" ยังแน่นปึ๊ก 36 ที่นั่ง - "พปชร." สอยได้ 13 ที่นั่ง

... "เลือกตั้ง" ปี 2554 พื้นที่ภาคเหนือ 16 จังหวัด ประกอบด้วย กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ น่าน พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย และอุตรดิตถ์ มี ส.ส. ได้ 67 ที่นั่ง โดยพรรคเพื่อไทยได้ 49 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ 13 ที่นั่ง ชาติไทยพัฒนา 2 ที่นั่ง ชาติไทยพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 2 ที่นั่ง และภูมิใจไทย 1 ที่นั่ง

ในการเลือกตั้ง ปี 2562 พื้นที่ภาคเหนือถูกลดเหลือ 62 ที่นั่ง โดย จ.เชียงใหม่ แพร่ เพชรบูรณ์ สุโขทัย และอุตรดิตถ์ ถูกลดจังหวัดละ 1 เขต คอการเมืองเชื่อว่า แม้พรรคเพื่อไทยและพรรคในเครือข่ายจะได้ที่นั่ง ส.ส. ลดลง จากปัจจัยอดีต ส.ส. ถูกพลังดูด แต่ยังได้ที่นั่ง ส.ส. เป็นกอบเป็นกำ ด้วยฐานเสียงของกลุ่มคนเสื้อแดงและคนที่ไม่เอาทหารยังให้การสนับสนุนอย่างเหนียวแน่น


"เนชั่น" ได้สำรวจสอบถามความเห็นประชาชนผู้มีสิทธิ์และฐานคะแนนเสียงเดิม จำนวน 62 ที่นั่ง ดังนี้ เพื่อไทย 36 ที่นั่ง พลังประชารัฐ 13 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ 7 ที่นั่ง ภูมิใจไทย 2 ที่นั่ง ไทยรักษาชาติ 3 ที่นั่ง ชาติพัฒนา 1 ที่นั่ง

เริ่มจาก จ.กำแพงเพชร

กลุ่มพรรคเพื่อไทยยกก๊วนซบพรรคพลังประชารัฐ และฝันว่าจะชนะยกจังหวัด แต่คงต้องฝ่าด่านแม่พระธรณีบีบมวยผม โดยเขต 1 นายไผ่ ลิกค์ อดีต ส.ส.กำแพงเพชร พรรคเพื่อไทย ที่หันมาสวมเสื้อพลังประชารัฐ อาศัยลูกขยันพบปะฐานเสียงเดิมของผู้เป็นพ่อ "เรืองวิทย์ ลิกค์" ที่ยังแน่นปึ๊ก ต้องไปแข่งกับเด็กในคาถาของ นพ.ปรีชา มุสิกุล คือ นายธิติ มหบุญพาชัย ลูกชายเจ้าของวิทยาลัยอาชีวศึกษาภักดีพาณิชยการและเทคโนโลยี จากพรรคประชาธิปัตย์, นายเกียรติชัย ติรณศักดิ์กุล อดีตนายกเทศมนตรีเมืองกำแพงเพชร พรรคภูมิใจไทย และ ด.ต.วีระศักดิ์ สุนิสา พรรคเพื่อไทย ยกนี้นายไผ่ยังเป็นต่อ

เขต 2 นพ.ปรีชา มุสิกุล อดีต ส.ส. เจ้าของพื้นที่จากพรรคประชาธิปัตย์ หลบไปลงปาร์ตี้ลิสต์ ส่งลูกชาย นายสุขวิชาญ มุสิกุล ที่พ่ายแพ้ให้กับ นายไผ่ ลิกค์ ในเขต 1 ลงป้องกันแชมป์แทนในเขต 2 ชนกับ "แดงตัวพ่อ" พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ที่ย้ายจากเพื่อไทยมาซบพลังประชารัฐ งานนี้ถือว่าเป็นด่านหิน เพราะ นายสุรสิทธิ์ วงศ์วิทยานันท์ ที่ถูกดันไปลงปาร์ตี้ลิสต์ระดับต้น ๆ และเคยแพ้ให้กับ นพ.ปรีชา เมื่อการเลือกตั้งล่าสุดเพียง 1,800 คะแนน ลงพื้นที่หาฐานเสียงเดิม ช่วย พ.ต.ท.ไวพจน์ ทำให้เขตคู่คี่กันมาก ขึ้นอยู่ใครยิงกระสุนเข้าเป้ากว่ากัน

เขต 3 นายอนันต์ ผลอำนวย อดีตแชมป์เก่าจากพรรคเพื่อไทย ปันใจให้พรรคพลังประชารัฐ ทำพลพรรคคนเสื้อแดงเกิดอาการงอน จะหันไปเทคะแนนให้กับ นายจรัญ อิสระบัณฑิตกุล ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย และต้องเจอกระดูกชิ้นโต อย่าง นายสำราญ ศรีแปงวงค์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งครั้งหนึ่งพลิกเอาชนะ ทำนายอนันต์น้ำตาร่วงมาแล้ว เมื่อเลือกตั้งปี 2550 เขตนี้ถือวาเป็นการแย่งชิงกัน 3 คน ขึ้นอยู่กับปัจจัยว่า นายอนันต์จะกล่อมให้คนเสื้อแดงกลับมาช่วยได้หรือไม่ ถ้าสำเร็จน่าจะเข้าวินไปอย่างสะบักสะบอม
 

เจาะ 62 เขตเลือกตั้งภาคเหนือ "ฐานแดง" ยังแน่นปึ๊ก 36 ที่นั่ง - "พปชร." สอยได้ 13 ที่นั่ง


เขต 4 นายปริญญา ฤกษ์หร่าย อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ย้ายค่ายมาซบพลังประชารัฐ ที่ผ่านมาได้รับแรงหนุนจากคนเสื้อแดง หลังจากย้ายพรรค "เสื้อแดงพันธุ์แท้" จึงหันไปสนับสนุนผู้สมัครพรรคเพื่อไทยคนใหม่ อย่าง นายปรีชา เพ็งภู่ อดีต ส.อบจ. ส่วนผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ นายพลเดช ศรีแปงวงค์ ก็ข้ามเขตมาลงในพื้นที่ฐานเสียงของนายปริญญา

เช่นเดียวกับ นายธานันท์ หล่าวเจริญ อดีตผู้สมัครของค่ายพรรคประชาธิปัตย์ ที่หันมาลงพรรคไทยรักษาชาติ ทำให้พรรคไทยรักษาชาติ-พรรคประชาธิปัตย์ ต้องแย่งคะแนนกันเอง ส่วนนายปริญญาปรับกลยุทธ์ไปโกยคะแนนรอบนอก เมื่อหักลบกลบหนี้กับกลุ่มเสื้อแดงที่ไม่ยอมกลับมาแล้ว ยังเชื่อว่า นายปริญญาจะเข้าวินแบบไม่ยากเย็น


⁍ จ.เชียงราย

ยังอบอวลไปด้วยกระแสคนเสื้อแดงและพลพรรครัก "ทักษิณ" มีโอกาสที่เพื่่อไทยจะชนะยกจังหวัดเหมือนกัน โดยเขต 1 ถือเป็นเขตช้างชนช้าง ระหว่างนายสามารถ แก้วมีชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎรและ ส.ส.เชียงราย จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเคยชนะ นายวันชัย จงสุทธนามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย เมื่อปี 2554 และเป็นสามีคู่แข่งอย่าง นางรัตนา จงสุทธานามณี อดีตนายก อบจ.เชียงราย จากพรรคประชารัฐ เขตนี้เป็นการชิงไหวชิงพริบ ฝ่ายแรกมีมวลชนคนเสื้อแดง ฝ่ายหลังมีอำนาจรัฐและฐานเสียงในพื้นที่เขต อ.เมือง ทำให้ต้องวัดกันในช่วงโค้งสุดท้าย

เขต 2 นายวิสิษฐ์ เตชะธีราวัฒน์ จากพรรคเพื่อไทย แม้จะเพิ่งชิมรางลง ส.ส. ครั้งแรก แต่มีดีกรีเป็นอดีต ส.ว.เชียงราย และเป็นน้องชาย นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ อดีต รมช.มหาดไทย ประกบคู่แข่ง อย่าง พ.ต.อ.รัฐพล น้อยช่างคิด อดีต ผกก.สส.1 บก.สส.ภ.5 ถือว่าใหม่ถอดด้าม เขตนี้น่าจะตีตราจองตั้งแต่ไก่โห่

เขต 3 นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ อดีต รมช.มหาดไทย และอดีตกรรมการบริหารพรรค 111 ที่ถูดตัดสิทธิ์ทางการเมือง กระโดดลงสมัครเองแทนลูกสาว น.ส.วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ อดีต ส.ส.เชียงราย ในนามพรรคเพื่อไทย ถือว่าได้เปรียบคู่แข่งหลายช่วงตัว ทั้งฐานเสียงและกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งคู่แข่งอย่าง นายบุญถิ่น นวลใหม่ นักการเมืองท้องถิ่นจากพรรคพลังประชารัฐ หรือ นายจิรายุ เผ่ากา สมาชิก อบจ.เชียงราย จากพรรคเพื่อชาติ ยังห่างชั้น

เขต 4 นายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ อดีต ส.ส. 2 สมัย ซึ่งล่าสุด ชนะนายสุธีระพงษ์ วันไชยธนวงศ์ ลูกชายนายสมบูรณ์ วันไชยธนวงศ์ อดีต ส.ส. และมีศักดิ์เป็นอา ที่ย้ายไปพรรคภูมิใจไทย หากดูจากชื่อชั้นของผู้สมัครรายอื่น ยังไม่ปรากฎว่า มีคู่แข่งที่สามารถจะต่อกรได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ คาดว่าจะเข้าวินไปแบบไม่ต้องลุ้น

เขต 5 นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน อดีต ส.ส. 3 สมัย จากพรรคเพื่อไทย ต้องมาแข่งกับเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด อย่าง นายบัวสอน ประชามอญ อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคไทยรักไทย ที่หันมาซบพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเจ้าตัวมีเครือข่ายและฐานเสียงไม่น้อย แต่ถ้าวัดด้วยกระแส-กระสุน ต้องให้ฝ่ายแรกเป็นต่อ

เขต 6 นายอิทธิเดช แก้วหลวง อดีต ส.ส.เชียงราย 4 สมัย พรรคเพื่อไทย ต้องมาชนกับ นายศักดิ์ชัย จงสุทธนามณี จากพรรคพลังประชารัฐ น้องชายนายวันชัย จงสุทธนามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย ซึ่งคงต้องทุ่มหมดหน้าตัก แต่หากวัดกันแล้ว ต้องให้ฝ่ายแรกเป็นต่ออยู่มาก ทั้งฐานเสียงกลุ่มคนเสื้อแดงและคุ้นเคยกับชาวบ้น

เขต 7 น.ส.ละออง ติยะไพรัช อดีต ส.ส.เชียงราย 3 สมัย จากพรรคเพื่อไทย แค่ดีกรีเป็นน้องสาวของ "ยุทธ ตู้เย็น" ยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรและ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็แทบจะนอนมา ยิ่งคู่แข่งอย่าง นายผจญ ใจกล้า อดีตสาธารณสุข อ.แม่จัน ยังห่างชั้นกันหลายขุม


⁍ จ.เชียงใหม่

ถูกลดจาก 10 เขต เหลือ 9 เขต ว่ากันว่า เลือกตั้ง ส.ส. แพ้ที่ไหนก็แพ้ได้ แต่ต้องไม่แพ้ที่ "เชียงใหม่" บ้านเกิดของ 2 นายใหญ่ ที่ลี้ภัยอยู่ต่างแดน "ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี และคอการเมืองยังเชื่อเช่นนั้น บวกกับเป็น "แดนแดง" คู่แข่งต้องใช้พละกำลังอย่างมหาศาล จึงฝ่าด่านได้

เขต 1 น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีต ส.ส. 1 สมัย เป็นหลานสาวของ นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายก อบจ.เชียงใหม่ และพี่สาวของ นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เรื่องฐานเสียงไม่ต้องพูดถึง "แข็งโป๊ก" ยากที่ใครจะเจาะ แถมมีมวลชนเสื้อแดงสนับสนุน ชนะก่อนลงสมัครด้วยซ้ำ แต่ประมาทคู่แข่งไม่ได้อย่าง นายพรชัย จิตรนวเสถียร อดีตนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ครั้งที่แล้วลงในเขต 2 เชียงใหม่ ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2 กว่า 25,982 คะแนน

เขต 2 นายนพคุณ รัฐผไท อดีต ส.ส. 4 สมัยรุ่นลายคราม ที่ไม่เคยสอบตก เดิมเคยลงในเขต 8 เลือกตั้งครั้งนี้ หันมาลงเขต 2 แต่โอกาสชนะก็มีสูงเหมือนเดิม กระแส-กระสุน เต็มอัตราศึก บวกชาวบ้านเบื่อทหาร คำว่าพ่ายแพ้น่าจะสะกดไม่เป็น ยิ่งคู่แข่ง อย่าง นางศรีพรรณ เขียวทอง อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลดอนแก้ว อ.สารภี จากพรรคพลังประชารัฐ เพิ่งจะชิมรางเวทีระดับชาติ ถือว่าห่างชั้นกันมาก

เขต 3 นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม จากพรรคเพื่อไทย ทายาทเจ้าของตลาดสดต้นพยอมและโรงแรมพิงค์พยอม แม้จะเป็นหน้าใหม่ถอดด้าม แต่ขายความเป็นคนรุ่นใหม่และการได้รับฉันทามติให้ลงเขตนี้ ประกอบด้วย อ.สันกำแพง อ.แม่ออน และ อ.ดอยสะเก็ด โดยเฉพาะ อ.สันกำแพง เป็นพื้นที่บ้านเกิดของตระกูลชินวัตร สามารถเชื่อขนมกินได้เลยว่า นายจักรพลชนะแบบไม่ต้องออกแรงมาก แม้ว่าคู่แข่งอย่าง นายพรชัย อรรถปรียางกูร จากพรรคพลังประชารัฐ จะมีดีกรีเป็นอดีต ส.ส.เชียงใหม่ จากพรรคไทยรักไทย ปี 2544 แต่ก็ร้างเวทีไปนาน

เขต 4 นายวิทยา ทรงคำ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ 4 สมัย และเลขานุการนายก อบจ.เชียงใหม่ ยังเป็นต่อคู่แข่งอย่างมาก โดยเฉพาะ "แม่แดง" กิ่งกาญจน์ ณ เชียงใหม่ จากพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นอดีต ส.ส.เชียงใหม่ 2 สมัย สังกัดพรรคความหวังใหม่ ที่ครั้งหนึ่งฝ่ายแรกเคยต่อกรและเอาชนะมาได้ ครั้งนี้ก็เช่นกัน คงจะย้ำแค้นอีกรอบได้ไม่ยากเย็น

เขต 5 น่าจะเป็นเขตช้างชนช้างก็ว่าได้ เมื่อพรรคเพื่อไทยเข็น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีตรองนายกฯ และอดีต ส.ส. รุ่นลายครามลงจากหิ้ง ยอมลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อธรรม มาลง ส.ส.เขต แทน นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ที่ถูกจองจำเรื่องจำนำข้าว มารักษาฐานที่มั่น ชนกับ "ดร.แป้ง" ร.อ.เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ อดีตที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. และอดีตนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ที่ทิ้งพรรคประชาธิปัตย์มาซบพรรคพลังประชารัฐ และขยันลงพื้นที่ขอคะแนนกับบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ตุนคะแนนเข้ากระเป๋า แต่ ณ เวลานี้ นายสมพงษ์ยังมีภาษีดีกว่า

เขต 6 พรรคพลังประชารัฐส่ง นายสันติ ตันสุหัช อดีต ส.ส.เชียงใหม่ 3 สมัย จากพรรคความหวังใหม่และไทยรักไทย ก่อนจะย้ายมาสวมเสื้อพรรคมัชฌิมาธิปไตย และพ่ายแพ้ให้กับ นายประสิทธิ์ วุฒินันชัย จากพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นคู่แข่งที่เคยแพ้ให้กับนายสันติหลายสมัยติดต่อกัน เลือกตั้งหนนี้มาแข่งกับ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ อดีต ส.ส. ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ แม้ชื่อชั้นนายสันติจะเป็นอดีต ส.ส. แต่ก็ยากที่จะต่อกรกับนายจุลพันธ์

เขต 7 เป็นการต่อสู้กับคู่ปรับเก่าในเขต 5 ระหว่าง นายประสิทธิ์ วุฒินันชัย แชมป์เก่าจากพรรคเพื่อไทย กับ นายแพทย์ไกร ดาบธรรม อดีต ส.ว.เชียงใหม่ และอดีต ส.ส.เชียงใหม่ เขต 3 พรรครวมใจไทยชาติพัฒนาที่สวมเสื้อภูมิใจไทย เขตนี้แม้นายประสิทธิ์ดูจะเป็นต่อ และเคยชนะด้วยคะแนนที่ห่างกันกว่า 1 หมื่นคะแนน ก็ประมาทไม่ได้ ด้วยเคยเป็น ผอ.โรงพยาบาลแม่อาย และเจ้าของรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ชาวบ้านรัก หากปลุกกระแสคนแดนไกลไม่ขึ้น อาจจะมีพลิกล็อกก็เป็นได้

เขต 8 นายสุรพล เกียรติไชยากร อดีต ส.ส. 7 สมัย ที่ย้ายมาหลายพรรค ก่อนจะมาปักหลักอยู่กับระบอบทักษิณ ซึ่งก่อนหน้านี้ีมีกระแสประเคนเงิน 30-50 ล้านบาท จูงใจให้ย้ายพรรค แต่ออกมาปฎิเสธ ด้วยฐานเสียง-คนเสื้อแดง เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้มีภาษีดีกว่าคู่แข่ง แม้ว่า นายนเรศ ธํารงค์ทิพยคุณ อดีตเลขาฯ พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย หรือ เสธ.ม่อย จากพรรคประชารัฐ จะได้น้ำเลี้ยงดี โดยเฉพาะในวันเปิดตัวผู้สมัคร นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายก อบจ.เชียงใหม่ ไปร่วมแสดงความยินดีและแนะนำตัวกับชาวบ้าน ก็ยังห่างชั้นกันอยู่

เขต 9 ประกอบด้วย อ.แม่แจ่ม, อ.ฮอด, อ.ดอยเต่า และ อ.อมก๋อย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยยกคณะเดินทางมาพบปะชาวแม่แจ่มและใกล้เคียง ถือเป็นนายกฯ คนแรกที่มาเยือนพื้นที่ พร้อมขายฝัน "แม่แจ่มโมเดล" เพื่่อเพิ่มพื้นที่ป่า

ว่ากันว่า ภารกิจดังกล่าวอาจจะมีส่วนดึงคะแนนช่วย นายนรพล ตันติมนตรี อดีต ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดิน และเป็นหลานชายของ "หนุ่มดอยเต่า" นายอำนวย ยศสุข อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง และอดีต ส.ว. ที่มาสวมเสื้อพลังประชารัฐ แต่ต้องมาเจอกระดูกชิ้นโต อย่าง กำนันศรีเรศ โกฏคำลือ แชมป์เก่าจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งฐานเสียง-กระสุนดินดำ มีเหลือเฟือ แต่ดู "กำนันศรีเรศ" ยังเป็นต่อ
 

เจาะ 62 เขตเลือกตั้งภาคเหนือ "ฐานแดง" ยังแน่นปึ๊ก 36 ที่นั่ง - "พปชร." สอยได้ 13 ที่นั่ง


⁍ จ.ตาก

ทั้ง 3 เขต ยังให้ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์แชมป์เก่ามีโอกาสรักษาตำแหน่งไว้ได้
แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะคู่แข่งคะแนนหายใจรดต้นคอ

เขต 1 นายเธียรชัย สุวรรณเพ็ญ เป็นอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กระแสยังมีดีต่อเนื่อง แต่ประมาท นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ จากพรรคพลังประชารัฐ เป็นอดีต ส.ส.ตาก พรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2548 ที่สำคัญเป็นลูกชาย นายณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ นายก อบจ.ตาก โอกาสตีไข่แตกได้

เขต 2 นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ อดีต รมว.อุตสาหกรรม และอดีต ส.ส. หลายสมัย เขตนี้ยากที่คู่แข่งจะเจาะ ที่สำคัญไม่เคยทิ้งพื้นที่ แม้ว่าจะมี นายวราฑิต ไชยนันท์ ผู้สมัครจากพรรคไทยรักษาชาติ ลูกชายของ นายเทอดพงษ์ ไชยนันท์ อดีต รมว.สาธารณสุข และ รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี จากพรรคประชาธิปัตย์ แต่กระดูกคนละเบอร์

เขต 3 นายธนิตพล ไชยนันท์ แชมป์เก่าจากประชาธิปัตย์ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ นายเทอดพงษ์ ไชยนันท์ ยังเป็นตัวยืน ทั้งพ่อและนายชัยวุฒิให้การสนับสนุนเต็มอัตราศึก แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะคู่แข่งอย่าง นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ เคยเป็นขุนศึกของพรรคประชาธิปัตย์ ในพื้นที่เขต 3 มาทุกสมัย และนางสาวสุกัลยา โชคบำรุง หรือ หมอนกน้อย จากพรรคภูมิใจไทย ที่ขยันลงพื้นที่และฐานเสียงจากกลุ่มชาติพันธุ์


⁍ จ.นครสวรรค์

เขตเลือกตั้งที่ 1 ศึกครั้งนี้ต้องยกให้ตัวเต็ง อย่าง นายภิญโญ นิโรจน์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่หันมาสวมเสื้อพรรคพลังประชารัฐของบิ๊กตู่ จะเอาชนะคู่แข่งแชมป์เก่าอย่าง นายสงกรานต์ จิตสุทธิภากร จากพรรค ปชป. ได้แบบม้วนเดียวจบ เพราะการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. เอื้อให้ผู้สมัครมาก เพราะว่าเขตเทศบาลนครนครสวรรค์เป็นฐานเสียงสำคัญของตระกูล และยังมีกลุ่มคนเสื้อเหลืองหนาแน่น เวลานี้จึงเดินเคาะประตูบ้านเก็บคะแนนอย่างเดียว

เขตเลือกตั้งที่ 2 ต้องบอกว่า น่าจะบิ๊กเซอร์ไพร์แน่นอน เพราะว่า นายวรภัทร์ ตั้งภากร หรือ บอส จากพรรคเพื่อไทย ทายาท พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากร อดีตรัฐมนตรีฯ ชนกับ นายวีระกร คำประกอบ จากพรรคพลังประชารัฐ ความสดปะทะความเก๋า ต่างคนต่างมีฐานเสียงจากทหารและคนเสื้อแดงเต็มพื้นที่ทุกอำเภอ ฟันธงทดเวลาเจ็บ นายวรภัทร์ ตั้งภากร จะอาศัยความสดจากคนเสื้อแดงบดขยี้เอาชนะนายวีระกรได้แบบหืดจับ

เขตเลือกตั้งที่ 3 ขอบอกว่า เขตเลือกตั้งนี้กลุ่มคนเสื้อแดงเหนียวแน่นมากที่สุด นายสัญชัย วงศ์สุนทร จากพรรคเพื่อไทย อดีต ส.ส. แชมป์เก่า จะสามารถรักษาแชมป์ไว้ได้อย่างแน่นอน แม้ว่าจะต้องแข่งกับ นายสัญญา นิลสุพรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ ทนายหนุ่มดาวรุ่งมาแรงก็ตาม

เขตเลือกตั้งที่ 4 ฐานที่มั่นของคนเสื้อแดงที่ผูกขาด ส.ส. มายาวนาน เลือกตั้งครั้งนี้ พ.ต.ท.นุกูล แสงศิริ จากพรรคเพื่อไทย เด็กสร้าง พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากร ทำการบ้านมายาวนานจะสามารถรักษาเก้าอี้ ส.ส. ไว้ได้ค่อนข้างแน่นอน แม้ว่าจะต้องเจอคู่แข่งจากพรรคภูมิใจไทย อย่าง นายเมธี ฉัตรจินดารัตน์ อดีต ส.ส.เพื่อไทย ก็ตาม

เขตเลือกตั้งที่ 5 นายทายาท เกียรติชูศักดิ์ หรือ กำนันต้น อดีตแชมป์เก่าจากพรรคเพื่อไทย จะรักษาเก้าอี้ไว้ได้อย่างแน่นอน เพราะว่าลงพื้นที่สร้างฐานคะแนนมายาวนาน เวลานี้ก็ขี่รถจักรยานยนต์ เดินเคาะประตูขอคะแนนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าคู่แข่งอย่าง นายพีรเดช ศิริวัณสาณฑ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ จะขอคะแนนตีตื้นขึ้นมามากก็ตาม แต่เวลาที่เหลือคงไม่ทัน

เขตเลือกตั้งที่ 6 ฐานที่มั่นสุดท้ายของ นายประสาท ตันประเสริฐ อดีต ส.ส.เก่าจากพรรคชาติพัฒนา ของเสี่ยสุวัฒน์ ลิปตพัลลภ จะยังครองใจชาวบ้านชายขอบไว้ได้อย่างแน่นอน เพราะว่าที่ผ่านมา นายประสาทนั่งหัวโต๊ะจับมือผู้นำท้องถิ่นทุกเทศบาล, อบต. จัดสรรงบประมาณลงตัวมากที่สุด และเป็นอดีต ส.ส. ที่ลงพื้นที่ขอคะแนนเสียงมายาวนาน ส่วนคู่แข่งที่สูสีที่สุดอย่างอดีต สจ.อภิสิทธิ์ อินทสิทธิ์ จากพรรคเพื่อไทย คงทำได้เพียงสร้างสีสันในพื้นที่เท่านั้น


⁍ จ.น่าน

เขต 1 นางสิรินทร รามสูต อดีต ส.ส.น่าน 3 สมัย คะแนนเสียงยังดีอยู่จะต้องแข่งกับคนกันเองอย่าง นายอานนท์ ตันตระกูล จากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งอดีตเคยเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยและเพื่อไทย ก่อนจะมาซบพรรคพลังประชารัฐ โดยในอดีตเคยสมัคร ส.ว. และได้รับการเลือกตั้ง แต่ไม่ทันจะได้ทำหน้าที่ก็ถูก คสช. ยึดอำนาจเสียก่อน แต่ ณ เวลานี้ ด้วยฐานเสียงบวกกระแสคนเสื้อแดงและไม่เอาทหาร ทำให้นางสิรินทรยังเป็นต่ออยู่หลายช่วงตัว

เขต 2 ตัวยืนยังเป็น นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว อดีต ส.ส. และ รมช.สาธารณสุข จากพรรคเพื่อไทย ชนกับคู่ปรับเก่า นายชัยวุฒิ คูอริยกุล จากพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งเคยสมัคร ส.ส.น่าน พรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะได้เป็น ส.ว. ชุดปฎิวัติ และนายเสริฐ เจริญดี อดีตนายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน จ.น่าน จากพรรคประชารัฐ ด้วยชื่อชั้นแล้วนายแพทย์ชลน่าน โอกาสชนะมีสูง

เขต 3 นายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ อดีต ส.ส. 1 สมัย จากพรรคเพื่อไทย ปี 2554 ที่ลงแทน นายวัลลภ สุปริยศิลป์ บิดา ที่ไปลงปาร์ตี้ลิสต์ เจอคู่ปรับคนเดิม นายคุณดร งามธุระ จากพรรคพลังประชารัฐ เลือกตั้งเที่ยวนี้ฝ่ายแรกก็ยังเป็นต่อหลายช่วงตัว มีดีทั้งกระแสและกระสุน
 

เจาะ 62 เขตเลือกตั้งภาคเหนือ "ฐานแดง" ยังแน่นปึ๊ก 36 ที่นั่ง - "พปชร." สอยได้ 13 ที่นั่ง


⁍ จ.พิจิตร

เขต 1 นายวินัย ภัทรประสิทธิ์ อดีต ส.ส. และ ส.ว. จากพรรคไทยรักษาชาติ มีีโอกาสชนะสูง เนื่องจากมีฐานเสียงเก่าที่แน่นหนา ที่สืบทอดจาก นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีต รมช.คลัง และมีผู้นำการเมืองท้องถิ่นจำนวนมากให้การสนับสนุน โดยหากพรรคไทยรักษาชาติถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองจริง เชื่อว่าจะทำให้ นายอาดิษฐ์ กัลยาณมิตร จากพรรคภูมิใจไทย ขึ้นมาแทนที่ เพราะว่ามีฐานเสียงกลุ่มเดียวกัน คือ กลุ่มผู้นำท้องถิ่นคอยหนุนหลัง

เขต 2 นายนราพัฒน์ แก้วทอง อดีต ส.ส. และลูกชายไพฑูรย์ แก้วทอง ลงบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ วางตัว นายบุญชอบ สากูด อดีตเกษตรอำเภอทับคล้อ และดงเจริญ ลง ส.ส.เขตแทน เหนือกว่า นายไพโรจน์ เนตรแสง จากพรรคภูมิใจไทย และนางณริยา บุญเสรฐ จากพรรคชาติไทยพัฒนา ลูกสะใภ้ พ.ต.ท.อดุลย์ บุญเสรฐ ผู้ล่วงลับ

เขต 3 เก้าอี้ของเขตนี้น่าจะตกเป็นของ นายวิชัย ด่านรุ่งโรจน์ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นถึงอดีตประธานสภา อบจ.พิจิตร และอดีต ส.ว.พิจิตร แถมยังมีฐานเสียงจากผู้นำท้องถิ่น อย่าง นายก อบจ.พิจิตร ช่วยหนุน ทำให้ดูเหมือนจะลอยลำทิ้งห่างคู่แข่งอยู่มาก แต่หากพลาดพลั้งไปก็จะมี นางมิ่งขวัญ พุกเปี่ยม พรรคไทยรักษาชาติ ที่เป็นถึงประธานชมรมโรงสีและผู้นำกลุ่มสตรีคอยเสียบแทน


⁍ จ.พิษณุโลก

เขต 1 เจ้าของเก้าอี้เดิม นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม จากประชาธิปัตย์ ที่น่าจะเข้าวิน ด้วยฐานเสียงที่เหนียวแน่นและมีแฟนพันธุ์แท้ประชาธิปัตย์ในเขตตัวเมืองที่ให้การสนับสนุนทุกยุคทุกสมัย มีความเก๋าทางการเมืองมากกว่า ชื่อเสียงในระดับจังหวัดและระดับประเทศสูงกว่าคู่แข่งมาก เลือกตั้ง 2562 มีคู่แข่งที่สำคัญ คือ สจ.ใหญ่ นายเศรษฐา กิตติจารุรักษ์ สังกัดพรรคพลังประชารัฐ เจ้าตัวเป็น ส.อบจ. เขต อ.เมืองพิษณุโลก มาแล้ว 3 สมัย

เลือกตั้งปี 2562 นายสมศักดิ เทพสุทิน ถึงกับมาพิษณุโลกหลายรอบ น่าจะมีกำลังสนับสนุนจากพลังประชารัฐมาสู้ศึกครั้งนี้พอสมควร แต่เมื่อเทียบกับฐานเสียงแล้ว นายเศรษฐาน่าจะเข้าวินด้วยอันดับ 2 ขณะที่ ผู้สมัครหน้าใหม่จากพรรคไทยรักษาชาติ นายบวรเดช หล้าแหล่ง นักธุรกิจรุ่นใหม่ แม้ว่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยเดิมในเขตเทศบาลนครพิษณุโลก แต่ประสบการทางการเมือง การเข้าถึงหัวคะแนนที่น้อยกว่า น่าจะเข้าวินมาได้อันดับ 3

เขต 2 เขตนี้ นายนพพล เหลืองทองนารา จากพรรคเพื่อไทย เป็นแชมป์เก่า ที่เลือกตั้งปี 2554 พลิกชนะ นายมนต์ชัย วิวัฒนธนาฒย์ อดีต ส.ส. มาได้ เจ้าตัวมีฐานเสียงในเขต อ.พรหมพิราม มาก น่าจะเข้ามาเป็นอันดับ 1 มีคู่แข่งคนสำคัญ คือ นายธวัชชัย กันนะพันธุ์ อดีตนายก อบจ.พิษณุโลก ที่มาลงสมัคร ส.ส. ในพรรคชาติพัฒนา มีฐานเสียงจากพันธมิตรอดีต สจ.พิษณุโลก หลายคนในพื้นที่

เขต 3 ในการเลือกตั้งปี 2554 นายจุติ ไกรฤกษ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแชมป์เก่า แต่เลือกตั้งปี 2562 เจ้าตัวขยับขึ้นไปสมัครใน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคประชาธิปัตย์ จึงส่ง นายพงษ์มนู ทองหนัก ลูกหม้อเก่าแก่ของประชาธิปัตย์ลงในเขตเลือกตั้งที่ 3 นี้ และจะแข่งกันอย่างสูสีกับ นายหัสนัยน์ สอนสิทธิ์ อดีต ส.ส.จากไทยรักไทย ที่ครั้งนี้มาลงในพรรคไทยรักษาชาติ ทั้งคู่เคยประลองกำลังกันมารอบหนึ่งแล้วในการเลือกตั้งปี 2557 ที่ครั้งนั้นประชาธิปัตย์บอยคอต ไม่ส่งผู้สมัครลง เลือกตั้ง 2557 นายพงษ์มนู ทองหนัก ลงแข่งในนามพรรคชาติพัฒนา เอาชนะ นายหัสนัยน์ สอนสิทธิ์ จากพรรคเพื่อไทย มาได้ฉิวเฉียด 1,000 กว่าคะแนน เลือกตั้ง 2562 เขตนี้นายจุติคงจะสนับสนุนอย่างเต็มที่นายพงษ์มนูน่าจะเข้าวินมาอันดับ 1

เขต 4 นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย เป็น ส.ส. มาแล้ว 4 สมัย เป็นนักการเมืองที่ไต่เต้ามาจาก ส.อบจ. ขึ้นมาเป็น ส.ส. ที่มีความขยันลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เลือกตั้ง 2554 แข่งกับผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ชนะมาได้ไม่ยาก เลือกตั้งปี 2562 ประชาธิปัตย์ส่งหน้าใหม่ลงแข่ง ซึ่งยังห่างชั้นอยู่ เขตนี้คู่แข่งคนสำคัญของนิยม คือ อดีต ส.อบจ. ใน อ.บางระกำ นายอัศวิน นิลเต่า ลงในนามพรรคพลังประชารัฐ ที่น่าจะทำคะแนนเป็นกอบเป็นกำได้ แต่โดยรวมทั้ง อ.บางระกำ และบางกระทุ่มแล้ว นายนิยม ช่างพินิจ จากพรรคเพื่อไทย น่าจะเป็นผู้เข้าวิน

เขต 5 เขตนี้ นายนคร มาฉิม อดีต ส.ส. หลายสมัย ยังคงเป็นตัวเต็งอันดับ 1 ด้วยประสบการณ์ทางการเมืองและการวางฐานเสียงในเขต อ.นครไทย และ อ.ชาติตระการ มาอย่างต่อเนื่อง เลือกตั้งปี 2557 ที่ประชาธิปัตย์ไม่ส่ง ส.ส. นายนคร มาฉิม จึงมาลงในนามพรรคชาติพัฒนา และมีคะแนนเหนือคู่แข่งจากพรรคเพื่อไทยมาก กระทั่ง คสช. ยึดอำนาจ นายนคร มาฉิม แสดงบทบาทต่อต้านรัฐบาลทหารมาอย่างต่อเนื่อง ในที่สุด เลือกตั้ง 2562 จึงพลิกขั้วมาลงนามพรรคเพื่อไทย

ครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ดึง อดีตนายก อบต.หนองกะท้าว อ.นครไทย นายคณิศร มาดี ลงสมัคร น่าจะทำคะแนนได้ในระดับหนึ่ง ส่วนพรรคพลังประชารัฐก็ดึงอดีต อบจ. และอดีตเลขานายก อบจ.พิษณุโลก นายมานัส อ่อนอ้าย ลงแข่ง แต่ภาพรวมแล้ว นายนคร มาฉิม ชื่อชั้น ภาษี ฐานเสียง ดูดีกว่าน่าจะเข้าวินเป็นอันดับ 1


⁍ จ. เพชรบูรณ์

เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีการขับเคี่ยวกันระหว่างนักการเมืองเก่าด้วยกันเอง ซึ่งหลายคนย้ายพรรคไปสวมเสื้อพรรคใหม่ นั่นคือ พลังประชารัฐ ก่อนหน้านี้ เพชรบูรณ์มี 6 เขตเลือกตั้ง แต่ปีนี้เหลือเพียง 5 เขตเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งเดิมนั้น ประชาธิปัตย์เคยได้เก้าอี้ในจังหวัดนี้ด้วย แต่การเลือกตั้งคราวนี้เห็นทีประชาธิปัตย์อาจจะสูญพันธุ์

เขตเลือกตั้งที่ 1 เขตนี้ เคยเป็นของ นายสุทัศน์ จันทร์แสงศรี จากพรรคเพื่อไทย และการเลือกตั้งครังนี้ก็ยังคงใส่เสื้อพรรคเพื่อไทยเช่นเดิม และมีคู่แข่งน่ากลัวอย่างพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งส่ง นางพิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ ซึ่งเป็นหลานสาวของ นายวิจิตร พรพฤฒิพันธุ์ ผู้ลงสมัครในนามพรรคชาติไทยพัฒนา ในเขตนี้เช่นกัน เรียกว่า เขตนี้อาหลานแข่งเดือดกันเอง ไม่รู้หวังตัดคะแนนคู่แข่งหรือไม่ แต่ก็คาดว่า ส.ส.คนเดิม จะยังได้เก้าอี้เช่นเดิม

เขตเลือกตั้งที่ 2 เขตนี้เดิมคนที่ได้เก้าอี้ คือ นายจักรัตน์ พั้วช่วย แต่ล่าสุด ได้ย้ายจากพรรคเพื่อไทยมาอยู่พลังประชารัฐ และมี นายยุพราช บัวอินทร์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เขต 3 สมัยที่ผ่านมา ที่ย้ายมาชิงชัยกันในเขตนี้และยังมีสีสันการเมือง อย่าง นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา หรือ ปอย ตรีชฎา (ผู้ประกาศข่าวและพิธีกรช่องพีชทีวี) จากพรรคไทยรักษาชาติ ที่มาเป็นตัวเต็งในเขตนี้ แต่ด้วยฐานเสียงเก่า จักรัตน์ พั้วช่วย น่าจะเข้าวิน ชนิดหายใจลดต้นคอ

เขตเลือกตั้งที่ 3 เป็นการสู้กันของ 2 พรรคใหญ่ คือ นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ ภรรยาของ นายสันติ พร้อมพัฒน์ ที่ส่งลงแข่งขันในนามพรรคพลังประชารัฐ และคู่ต่อสู้ คือ นายทวีศักดิ์ พยัคฆพันธุ์ ที่สวมเสื้อเพื่อไทยลงแข่งขันกันในเขตนี้ ซึ่งคาดว่า ส.ส.เดิม คือ นางวันเพ็ญน่าจะเข้าวิน

เขตเลือกตั้งที่ 4 เขตนี้จะมีคนที่ลงแข่งขัน คือ พ.อ.ท.กิตติคุณ นาคบุตร พรรคเพื่อไทย ส่วน สุรศักดิ์ อนรรฆพันธ์ เจ้าของพื้นที่เดิม มาลงพรรคพลังประชารัฐในพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 4 นี้เช่นกัน ส่วนน้องชายของ นายสุรศักดิ์ อรรฆพันธุ์ มาลงสมัครพรรคเพื่อไทย คือ นายทวีศักดิ์ อนรรฆพนธ์ ซึ่งพี่น้องต้องแข่งกันเอง แต่คาดว่า พ.อ.ท.กิตติคุณ นาคบุตร น่าจะเข้าวินเช่นเคย

เขตเลือกตั้งที่ 5 เขตนี้ ส.ส.คนเดิม คือ นายเอี่ยม ทองใจสด แม้จะมีพรรคอื่นมาแข่งก็คงแข่งกับเขาไมได้ เพราะเป็น ส.ส. มาตลอดกาล ซึ่งปีนี้ย้ายพรรคจากเพื่อไทยมาอยู่พลังประชารัฐ ทำให้อย่างไรพื้นที่นี้ พลังประชารัฐอาจจะมาวิน ส่วนเพื่อไทยเขตเลือกตั้งนี้ไม่ส่งใครเลย ซึ่งอาจจะกลัว เอี่ยม ทองใจสด เลยไม่ส่งใครลงให้เสียของ รับรองงานนี้ นายเอี่ยม ทองใสสด นอนมาแน่นอน
 

  เจาะ 62 เขตเลือกตั้งภาคเหนือ "ฐานแดง" ยังแน่นปึ๊ก 36 ที่นั่ง - "พปชร." สอยได้ 13 ที่นั่ง


⁍ จ.แพร่

ถูกลดจาก 3 เขต เหลือ 2 เขต หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง กรณีการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตระกูล "เอื้ออภิญญกุล" คงสามารถนำทีมยึดทั้งจังหวัด

เขต 1 นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีต ส.ส.แพร่ และอดีตโฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรี ที่กลับมาลงแทนภรรยา คือ นางปานหทัย เสรีรักษ์ อดีต ส.ส.แพร่ และเป็นพี่สาวของ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ในสีเสื้อพรรคไทยรักษาชาติ ยังเป็นต่อคู่แข่งหลายช่วงตัว ไม่ว่าจะเป็น นางธนินจิตรา หรือ พรพิไล ศุภศิริ หรือ สจ.ต้อย อดีต ส.อบจ.แพร่ เขต อ.หนองม่วงไข่ เป็นน้องสะใภ้ของ นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ ด.ต.บุหลัน ราษฎร์คำพรรณ์ อดีตเลขานุการนายก อบจ.แพร่ และ อดีต ส.ว. 22 วัน จากพรรคพลังประชารัฐ

เขต 2 นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีต ส.ส.แพร่ หลายสมัย และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง เป็นต่อคู่แข่งหลายช่วงตัว ทั้งกระสุนและกระแส ไม่ว่าจะเป็น นายวิตติ แสงสุพรรณ อดีต ส.อบจ.แพร่ เขต อ.สูงเม่น จากพรรคพลังประชารัฐ นายคณาธิป มุดเจริญ อดีตสาธารณสุขอำเภอลอง จ.แพร่ จากพรรคประชาธิปัตย์


⁍ จ.พะเยา

ทั้ง 3 เขต โอกาสแชมป์เก่าจากพรรคเพื่อไทยจะเข้าป้ายมีความเป็นไปได้สูง แม้ว่า พรรคพลังประชารัฐที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นขุนพลจะรุกหนัก คะแนนดีวันดีคืน แต่คำตอบสุดท้ายอยู่ที่ นายทักษิณ ชินวัตร จะออกกลยุทธ์ เรียกกระแสศรัทธาในช่วงโค้งสุดท้ายอย่างไร

เขต 1 วินาทีนี้ น.ส.อรุณี ชำนาญยา จากเพื่อไทย มาแรงด้วยอานิสงส์ พ.ร.บ.ข้าว ที่ถูกชาวนาต้านและกลุ่มคนเสื้อแดงให้การสนับสนุน ทำให้กระแส ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จากพรรคพลังประชารัฐ ตกฮวบ เนื่องจากติดภาพ คสช. แต่ก็ประมาทไม่ได้ ด้วย "ใจถึง พึ่งได้" ต้องดูกันยาว ๆ

เขต 2 นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีต ส.ส.พะเยา นอนมา ในขณะที่ นายธวัช สุทธวงค์ อดีต ส.อบจ.พะเยา จากพรรคพลังประชารัฐ ยังห่างเรื่องชื่อชั้นกระดูกทางการเมือง ทางเดียวที่จะได้เป็น ส.ส. คือ "กรรมเก่า" ของนายวิสุทธิ์ ที่มีชื่อไปพัวพันในธุรกิจแชร์น้ำมัน อาจจะตกสวรรค์ได้

เขต 3 ดร.ไพโรจน์ ตันบรรจง ส.ส.ข้าวนอกนา จากพรรคเพื่อไทย จะพ่ายความขยันของ นายจีรเดช ศรีวิราช อดีตนายกเทศมนตรีเมืองดอกคำใต้ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา น้าแท้ ๆ ของคนใกล้ตัวของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า


⁍ จ.แม่ฮ่องสอน

มีเขตเดียว นายสมบัติ ยะสินธุ์ แชมป์เก่าพรรคประชาธิปัตย์ วัดฝีมือกับ นายปัญญา จีนาคำ อดีต ส.ส.ลายคราม จากพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้แรงสนับสนุนจาก นายอัครเดช วันชัยธนวงศ์ นายก อบจ.ฮ่องสอน งานนี้ปัญญาจะเข้าป้าย


⁍ จ.ลำปาง

ผูกขาด 2 ตระกูล "จันทรสุรินทร์-โล่ห์สุนทร" โดยเขต 1 นายกิตติกร โล่ห์สุนทร อดีต ส.ส.ลำปาง 2 สมัย ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ นายไพโรจน์ โล่ห์สุนทร อดีต รมช.มหาดไทย แห่ง "ค่ายบ้านสวน" ถือว่าเป็นตัวเต็ง ด้วยบารมีของผู้เป็นพ่อ ซึ่งเป็นผู้กว้างขวาง มีหัวคะแนนเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น ใน จ.ลำปาง อยู่ในมือ ที่ผ่านมาผูกขาดคะแนนเสียงในพื้นที่มาโดยตลอด ส่วนคู่แข่ง นายจินณ์ ถาคำฟู อดีต ส.อบจ.ลำปาง จากพรรคพลังประชารัฐ ด้วยการชูนโยบายสานต่อรัฐบาลลุงตู่ และนางขนิษฐา นิภาเกษม นายกสมาคมนักเรียนเก่าโรงเรียนลำปางกัลยาณี อดีต ผอ.พรรคประชาธิปัตย์ สาขาลำปาง ชื่อชั้นยังห่าง

เขต 2 นายไพโรจน์ โล่ห์สุนทร อดีต รมช.มหาดไทย อดีต ส.ส.ลำปาง 7 สมัย หวนคืนสนามอีกครั้ง ต้องมาปะมือกับนักการเมืองรุ่นลูก อย่าง นายดาชัย เอกปฐพี หรือ "ดาชัย อุชุโกศลการ" ประธานกลุ่มคนเสื้อแดงพลังลำปาง, รองประธานสมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย ที่มาสวมเสื้อพรรคพลังประชารัฐ ที่หาญกล้ามาต่อกร เมื่อเจ้าของค่ายบ้านสวน อาสามาลงแทน นายวาสิต พยัคฆค์บุตร อดีต ส.ส.ลำปาง เจ้าของพื้นที่ ก็ยากที่จะพลาดได้

เขต 3 นายจรัสฤทธิ์ จันทรสุรินทร์ แชมป์เก่าจากพรรคเพื่อไทย ลูกชายนายพินิจ จันทรสุรินทร์ อดีต ส.ส.ลำปาง 7 สมัย แห่งซุ้มบ้านดอยเงิน มีฐานเสียงสายใต้เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่นอยู่ในมือ และผูกขาดคะแนนเสียงมานานหลายสมัย แต่ก็มี นายนิคม เชาว์กิตติโสภณ อดีต ส.ว. เจ้าของกาซะลองเซรามิค จากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นคู่แข่งคนสำคัญที่ลงพื้นที่มานานและต่อเนื่อง แต่บารมีของตระกูลจันทรสุรินทร์จะสอบผ่านได้ไม่ยากเย็น

เขต 4 ดุเดือดมาก แม้ว่า นายอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ จากพรรคเพื่อไทย ลูกชายอีกรายของ นายพินิจ จันทรสุรินทร์ ยังเป็นตัวเต็งเหมือนเดิม แต่ก็ประมาทไม่ได้ เมื่อนางสุนี สมมี อดีตนายก อบจ.ลำปาง สวมเสื้อพรรคภูมิใจไทย กระโดดลงมาเล่นเกมนี้ ทำให้สนามนี้เผ็ดร้อนขึ้นมาทันที เพราะแม่เลี้ยงสุนีเคยได้รับแรงหนุนจากซุ้มบ้านสวนของ นายไพโรจน์ โล่ห์สุนทร จนได้นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ลำปาง มาถึง 2 สมัย บวกกับฐานเสียงของแฟนบอลที่เจ้าตัวเป็นประธานกิตติมศักดิ์สโมสรฟุตบอลลำปางเอฟซี อาจจะทำให้แชมป์เก่าน้ำตาตกได้


⁍ จ.ลำพูน

เป็นการแข่งขันระหว่าง 3 พรรคใหญ่ อย่างเช่น เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ

เขต 1 นายสงวน พงษ์มณี จากพรรคเพื่อไทย มวยจอมเก๋า วัย 75 ปี แชมป์เก่า 4 สมัย ตั้งแต่ ปี 2544 ที่สวมเสื้อพรรคไทยรักไทย มีกลุ่มคนเสื้อแดง เป็นขุมกำลังหลักครั้งนี้ยังแรงต่อเนื่อง เชื่อว่าคะแนนผ่านฉลุย

เขต 2 ผู้สมัครพรรคเพื่อไทยคนหนุ่มไฟแรง อย่าง นายรังสรรค์ มณีรัตน์ เป็น ส.ส.ครั้งแรก เมื่อปี 2555 ซึ่งลงสมัครซ่อมแทน นายสถาพร มณีรัตน์ อดีต ส.ส.ลำพูน พี่ชายที่เสียชีวิตด้วยโรคไตวาย ชั่วโมงนี้แน่ยิ่งกว่าแน่ แม้จะเอาเสาไฟฟ้ามาลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทยก็ตาม เก้าอี้ ส.ส.เพื่อไทย ไม่มีหลุด แม้ว่าคู่แข่งอย่าง นายทรงชัย วงศ์สวัสดิ์ จากพรรคพลัประชารัฐ ซึ่งมีดีกรีอดีตนายก อบจ.ลำพูน อดีต ส.ส. และอดีต ส.ว. ก็ตาม แต่กระแสยังห่างอยู่หลายขุม


⁍ จ.สุโขทัย

เป็นพื้นที่ซึ่ง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ บ้านใหญ่ของคนเมืองสุโขทัยที่เรียกขาน หมายมั่นปั้นมือจะยกจังหวัดทั้ง 3 เขต

เขต 1 ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ อดีตนายก อบจ.สุโขทัย น้องสาวของนายสมศักดิ์ มีโอกาสเข้าวินสูง เพราะนับตั้งแต่ลาออกได้ลงพื้นที่หาเสียงอย่างต่อเนื่อง และได้รับเสียงตอบรับดีประกอบกับงานในหน้าที่ นายก อบจ.สุโขทัย ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา สร้างผลงานไว้มากมาย รวมทั้งยังสามารถครองใจกลุ่มสตรีและกลุ่ม อสม. ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น พร้อมกับครองใจท้องถิ่นได้กว้างขวาง ส่วนแชมป์เก่าอย่าง นายวิรัตน์ วิริยะพงศ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ณ นาทีนี้ น่าจะความพร้อมน้อยสำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้ ขณะที่ นายประศาสตร์ ทองปากน้ำ อดีต ส.ส. จากพรรคเพื่อไทย ก็ร้างเวทีไปนาน

เขต 2 แชมป์เก่า นายสัมพันธ์ ตั้งเบญจผล จากผลงานที่สร้างสมมาตลอดระยะเวลาการเป็นอดีต ส.ส. 2 สมัย ในนามพรรคประชาธิปัตย์ นาทีนี้ยังคงครองใจชาวบ้านในเขต 2 แม้ว่าจะโดนแบ่งเขตแบบพิสดาร ที่เคยโวยวายออกมาก่อนหน้านี้ แต่จากลูกขยันบพปะชาวบ้าน งานบุญงานบวชไม่เคยเว้น ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทำให้สะสมคะแนนความนิยมมาก่อนหน้านี้อย่างเหนียวแน่น นาทีนี้น่าจะยังนำอยู่อย่างสบายใจ ส่วนคู่แข่งพรรคพลังประชารัฐส่ง นายชูศักดิ์ คีรีมาศทอง อดีต ส.อบจ.เขต อ.คีรีมาศ หลายสมัยและอดีตผู้สมัคร ส.ส. ครั้งที่ผ่านมา เข้าประกวด ต้องดูว่าคะแนนจัดตั้งจะมากพอที่จะทำให้ชนะได้เหรือไม่

เขต 3 นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล อดีต ส.ส.ภูมิใจไทย ที่หันมาสวมเสื้อพลังประชารัฐ ยังคงมีคะแนนนิยมนำอยู่ น่าจะมีโอกาสเข้าวินสูง เนื่องจากเป็นอดีต ส.ส. ในสมัยที่ผ่านมา และทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับช่วงว่างเว้นทางการเมืองระดับชาติ ได้ทำงานในหน้าที่ รองนายก อบจ.สุโขทัย และสามารถทำได้ดี สานสัมพันธ์กับท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง มีผลงานตลอด แถมพกด้วยคะแนนจัดตั้งจากบ้านใหญ่ยังเหนียวแน่นไม่น่าพลาด

ขณะที่ คู่แข่งสำคัญ คือ นายสมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ อดีต ส.ส.พรรคชาติพัฒนา ที่ร้างเวทีพอสมควร แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ มาในสีเสื้อพรรคภูมิใจไทย ได้ลงพื้นที่ทำคะแนนอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านชื่นชอบ ต้องมาดูกันว่า ในโค้งสุดท้ายจะเบียดกลับมาเข้าวินได้หรือไม่ แต่นาทีนี้ย่อมเป็นรองอยู่เล็กน้อย


⁍ จ.อุตรดิตถ์

ถูกลดจาก 3 เขต เหลือ 2 เขต กระแสตอบรับผู้สมัครจากพรรคเพื่่อไทยยังดี โดยเขต 1นายกนก ลิ้าตระกูล อดีต ส.ส. 5 สมัย ถือว่าเป็นต่อคู่แข่ง ฐานคะแนนเสียงใน อ.เมืองอุตรดิตถ์ ยังเหนียวแน่น ส่วน อ.ลับแล อ.ตรอน มีนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย อดีต ส.ส. 5 สมัย และผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่ออันดับที่ 16 พรรคเพื่อไทย คอยเป็นแบ็คอัพ ประกอบกับผู้สมัครจากพรรคการเมืองอื่น ๆ เป็นน้องใหม่ ยังไม่เป็นที่รู้จักของประชาชนมากนัก แม้ว่า พ.ต.อ.ดิษยเดช พัชรภูวดล อดีต ผกก.สภ.เมืองอุตรดิตถ์ จากพรรคพลังประชารัฐ จะขยันลงพื้นที่ ความนิยมเริ่มดีวันดีคืนก็ตาม

เขต 2 ณ วันนี้ นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ อดีต ส.ส.ฉายา เข้าใจ เข้าถึง พึ่งได้ จากพรรคเพื่อไทย ยังได้รับการตอบรับดีเช่นเดิม เนื่องจากผลงานที่ผ่านมายังประจักษ์และชาวบ้านยังจดจำ แม้ต้องขับเคี้ยวกับคู่ปรับเก่าอย่าง นายวารุจ ศิริวัฒน์ อดีต ส.ส.อุตรดิตถ์ จากพรรคพลังประชารัฐ แต่นายศรัณย์วุฒิยังเดินเกมส์ได้เก๋ากว่า และฝีปากเมื่อลงพื้นที่หาเสียงชัดเจน


ศึกเลือกตั้ง 2562 ในพื้นที่ภาคเหนือ คอการเมืองวิเคราะห์ว่า พรรคในเครือข่ายของระบอบทักษิณ จะได้ ส.ส.เขต ลดลง แต่ก็เป็นกอบเป็นกำ คงต้องจับตาในช่วงโค้งสุดท้ายว่า "คนแดนไกล" จะส่งสัญญานอะไรออกมา เพื่อจุดกระแสศรัทธาให้มวลชนออกจากบ้านเข้าคูหาเลือกพรรคตนเอง

เจาะ 62 เขตเลือกตั้งภาคเหนือ "ฐานแดง" ยังแน่นปึ๊ก 36 ที่นั่ง - "พปชร." สอยได้ 13 ที่นั่ง