อุบลฯบูมไร่มันออร์แกนิก

07 มี.ค. 2562 | 04:00 น.

อุบลฯบูมไร่มันออร์แกนิก  รัฐ-เอกชนผนึกเกษตรกรยกระดับผลิต‘อาหารแห่งอนาคต’

 

3 ประสานอุบลราชธานีปูพรม 15 อำเภอ ขยาย “ไร่มันสำปะหลังอินทรีย์” ชี้ส่งผล 4 ดียกระดับคุณภาพชีวิต โรงงานอุบลฯยํ้าแป้งมันออร์แกนิกคืออาหารแห่งอนาคตที่ทั่วโลกยอมรับ หวังบรรลุเป้าหมายอุบลฯเมืองเกษตรอินทรีย์ 1,000,000 ไร่ ภายในปี 2564 นี้

อุบลฯบูมไร่มันออร์แกนิก

กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และอำนาจเจริญ) กำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาสู่การเป็น “ศูนย์ กลางของนวัตกรรมเกษตรแปรรูปและเกษตรอินทรีย์” เพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความยั่งยืนของอาชีพเกษตรในระยะยาว

นายอนันต์ ปรีชาวุฒิวงศ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จังหวัดอุบลราชธานีมุ่งเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ ตั้งเป้าให้ได้ 1,000,000 ไร่ ในทุกพืช ภายในปี 2564 โดยเฉพาะมันสำปะหลังอินทรีย์ ที่มีตลาดรองรับแน่นอน พร้อมตอบโจทย์ 4 ดี คือ สุขภาพดี ผลผลิตดี ระบบนิเวศดี รายได้ดี โดยมีเกษตรกรต้นแบบในพื้นที่ ผ่านประสบการณ์จริงในการปรับเปลี่ยนไปทำเกษตรอินทรีย์ จนได้ข้อสรุป “4 ดี” ข้างต้น

การยกระดับเป็นเกษตรอินทรีย์ไม่เพียงแค่งดใช้สารเคมี แต่เกษตรกรต้องทำความเข้าใจคำว่า “อินทรีย์” อย่างลึกซึ้ง ว่ามิใช่แค่ดูแลรักษาความสะอาด ไม่ใช้สารเคมี หรือใช้กระบวนการจากธรรมชาติเท่านั้น แต่ต้องสามารถเข้าสู่มาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับของสากล ทำให้ขายผล ผลิตได้ราคา ซึ่งทุกมาตรฐานผ่านได้ถ้าเกษตรกรมีความตั้งใจ ซื่อ สัตย์ ทางการตลาดก็พร้อมที่จะพาเกษตรกรไปสู่มาตรฐานสากล

อุบลฯบูมไร่มันออร์แกนิก

เดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์

 

ด้านนายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัท อุบลไบโอเอทานอลฯ กล่าวว่า ปัจจุบันแป้งมันออร์แกนิกเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประ เทศเป็นอย่างมาก เพราะแป้งมันออร์แกนิกสามารถแปรรูปให้เป็นอาหารแห่งอนาคต (Future Food) และอาหารเพื่อสุขภาพได้หลากหลาย สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในการเป็นส่วนผสมอาหารพรีเมียมในแต่ละเมนูได้ เราควบคุมคุณภาพตั้งแต่ต้นนํ้าคือแปลงเกษตรกร ดูแลทุกขั้นตอนการผลิต ไปจนถึงขนส่งถึงลูกค้า มีการประกันราคาที่สูงกว่าตลาด ในปีนี้ในเกษตรกรที่มาส่งที่โรงงานถ้าผ่านมาตรฐานอินทรีย์จะรับซื้อที่กิโลกรัมละ 4 บาท 30% แป้ง

แม้กิจกรรมสาธิตการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ “4 ดี” โดยการร่วมแรงร่วมใจของทั้งภาครัฐ เอกชน ทีมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนเกษตรกรต้นแบบ ร่วมกันติวเข้มตัวแทนเกษตรกรกว่า 400 คน จาก 15 อำเภอของจังหวัดอุบลราชธานี ครั้งแรกจัดที่สนามกีฬาอ.นาเยีย ของกลุ่มบริษัทอุบลไบไอเอทานอลฯ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนถึงจุดรับซื้อและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ และจะหมุนเวียนในพื้นที่เป้าหมายอีก 9 ครั้ง เพื่อให้เกษตรกรมั่นใจในการปรับเปลี่ยนสู่การทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งสุดท้ายแล้วความยั่งยืนอยู่ที่การทำอย่างจริงจังในพื้นที่ ปลูกแล้วมีคนรับซื้อ นำไปทำผลิตภัณฑ์ก็ขายสู่ตลาดได้

ขณะนี้การปรับสู่เกษตรอินทรีย์อยู่ระหว่างขยายพื้นที่ แสดงถึงผลการทำได้จริงในพื้นที่ต้นแบบนำร่องตั้งแต่ปี 2558 ใน 4 อำเภอ คือ นาเยีย สว่างวีระวงศ์ วารินชำราบ และพิบูลมังสาหาร จนถึงวันนี้เพิ่มเป็น 15 อำเภอ ที่เพิ่มเติมมาคือ โขงเจียม ศรีเมืองใหม่ สิรินธร ตระการพืชผล ดอนมดแดง ตาลสุม โพธิ์ไทร เขมราฐ กุดข้าวปุ้น นาตาล และเหล่าเสือโก๊ก โดยมีเป้าหมายเฉพาะพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ ให้ได้ 50,000 ไร่ภายในปี 2565 นี้ 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,450 วันที่ 7 - 9 มีนาคม 2562

อุบลฯบูมไร่มันออร์แกนิก