บิ๊กทุนกระหึ่มหัวเมือง  ‘ชาญอิสสระ-ฤทธา’ ตุนที่รับรถไฟรางเบาภูเก็ต

07 มี.ค. 2562 | 00:30 น.

จากการขยับลงทุนโครงข่ายระบบราง ตามหัวเมืองใหญ่ และหัวเมืองท่องเที่ยว ส่งผลให้ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้น นักลงทุนทั้งในพื้นที่และต่างถิ่นเข้าปักหมุดโครงการทั้งที่อยู่อาศัย โรงแรม รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน

ล่าสุด จังหวัดภูเก็ต มีความก้าวหน้าการก่อสร้าง โครงการ รถไฟฟ้ารางเบา เส้นผ่าเมืองเชื่อมสนามบิน สร้างความคึกคักไม่น้อยในพื้นที่ ตามด้วย รางเบา เชียงใหม่

และกลุ่มทุนที่น่าจับตาได้แก่ กลุ่มเรืองณรงค์ หลังจากชนะประมูล ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover: APM) ภายในสนามบินสุวรรณภูมิพร้อมรับบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าดังกล่าวมูลค่าการลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาทที่จะเร่งให้บริการในปี 2563 รูปแบบรถไฟฟ้าใต้ดินแบบไร้คนขับวิ่งให้บริการระหว่างอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบันกับอาคารเทียบเครื่องบินรองที่กำลังก่อสร้างในขณะนี้

ล่าสุดได้ลงนามสัญญาร่วมกับบริษัท อินชอน ทรานซิทโคเปอเรชั่น จำกัด จากสาธารณรัฐเกาหลี และบริษัทเคทีทีซี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ในการบริการด้านต่างๆ ภายในสนามบินและภายในสถานีรถไฟตลอดจนการขนส่งรูปแบบต่างๆจากสาธารณรัฐเกาหลีเข้ามารุกตลาดในประเทศไทย เพื่อเป็นที่ปรึกษาเดินรถและบริการซ่อมบำรุงรักษาโครงการรถไฟฟ้า APM สุวรรณภูมิ

ขณะเดียวกัน ยังประกาศรุกต่อเนื่องประมูลรถไฟฟ้ารางเบาภูเก็ต และเชียงใหม่มูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาทที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) จะเปิดร่วมทุนปลายปีนี้ บิ๊กทุนกระหึ่มหัวเมือง  ‘ชาญอิสสระ-ฤทธา’ ตุนที่รับรถไฟรางเบาภูเก็ต

แหล่งข่าวระดับสูงจากกลุ่มเรืองณรงค์ กล่าวว่าอย่างไรก็ตามจากการประเมินราคาที่ดินตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้ารางเบาช่วงสนามบินภูเก็ต-ท่านุ่น นั้นพบว่าปัจจุบันมีราคาอยู่ที่ 8 ล้านบาทต่อไร่ ดังนั้นเมื่อโครงการดังกล่าวเกิดจะทำให้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นไปแตะเกือบ 10 ล้านบาทได้ไม่ยากนัก ล่าสุดพบกลุ่มทุนชาญอิสสระและกลุ่มทุนฤทธาบริษัทรับเหมาก่อสร้างจากกรุงเทพฯซื้อที่ดินตุนและรับงานก่อสร้างในหลายแปลง

ส่วนด้านการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี (TOD) นั้นพบว่าพื้นที่ศักยภาพนั้นอยู่ในอำเภอท่านุ่น เป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งขนาดใหญ่ซึ่งในอนาคตบริเวณดังกล่าวจะมีสถานีรถไฟฟ้ารางเบา สถานีรถไฟและสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 พื้นที่กว่า 4,000-5,000 ไร่ เป็นการเปิดพื้นที่แห่งใหม่จากอานิสงส์การพัฒนาโครงการรถไฟฟ้ารางเบาของรัฐบาลในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตนั่นเอง

“นอกจากจะสนใจโครงการรถไฟฟ้ารางเบาจ.ภูเก็ตแล้วกลุ่มเรืองณรงค์ยังสนใจโครงการรถไฟฟ้าในพื้นที่หัวเมืองหลักต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ มูลค่าสูงถึง 2.8 หมื่นล้านบาทโดยอยู่ระหว่างการเร่งศึกษาข้อมูลในเชิงลึกเพื่อเตรียมความพร้อมสู้ประมูลต่อไป”

นายสงกรานต์ อิสสระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดอสังหา ริมทรัพย์ในภูเก็ตและพังงา ยังมีความต้องการสูง หากมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มโดยเฉพาะระบบรางจะคึกคักมากขึ้น แม้ปัจจุบันมีความคึกคักจากนักลงทุนและนักท่องเที่ยว ทั้งไทยและต่างชาติก็ตาม

ขณะนายก้าน ประชุมพรรณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เค.ดับบลิว.พลาซ่า จำกัด หนึ่งในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า

เตรียมลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในพื้นที่หาดกะตะ จังหวัดภูเก็ต รูปแบบโครงการก่อสร้างอาคารโรงแรมสำหรับขายให้นักลงทุนผู้สนใจรับไปบริหารจัดการ จำนวน 11 โรงแรม บนพื้นที่ 15 ไร่ให้นักลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศนำไปต่อยอดการพัฒนาด้านบริหารจัดการได้ทันที  ซึ่งปัจจุบันเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของหาดกะตะที่เหมาะสำหรับเป็นพื้นที่การพัฒนาโรงแรม

ด้านแหล่งข่าวจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า บริษัท เรืองณรงค์ จำกัด และกลุ่มทุนจากประเทศเกาหลีใต้ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover: APM) ภายในสนามบินสุวรรณภูมินั้นให้ความสนใจเข้าลงทุนในโครงการรถไฟฟ้ารางเบา(แทรม) จ.ภูเก็ต ช่วงท่านุ่น-สนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง วงเงิน 3.48 หมื่นล้านบาทอีกด้วย

 

อัพเดตรางเบา

หัวเมืองใหญ่

 

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาและออกแบบโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นทางรถไฟสายใหม่เพื่อการท่องเที่ยวเส้นทางสุราษฎร์ธานี-พังงา-ภูเก็ต เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา หรือ Tramway มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากบริเวณสถานีรถไฟท่านุ่นจังหวัดพังงา ผ่านท่าอากาศยานภูเก็ตและสิ้นสุดที่บริเวณห้าแยกฉลอง  ระยะทาง 58.5 กิโลเมตรงบประมาณลงทุนเกือบ 4 หมื่นล้านบาท โดยรัฐร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (พีพีพี)

สำหรับเส้นทาง ส่วนใหญ่เป็นทางวิ่งระดับดิน ยกเว้นบริเวณสนามบินภูเก็ตจะเป็นสถานียกระดับ มีทั้งหมด 24 สถานี ยกระดับ 1 สถานีที่สนามบินภูเก็ต และใต้ดิน 1 สถานีที่สถานีถลาง มีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่งตั้งอยู่บริเวณ อำเภอถลาง เช่นเดียวกับรถไฟฟ้ารางเบา จังหวัดเชียงใหม่ มูลค่าลงทุน 2.8 หมื่นล้านบาท ระยะทาง 34.93 กิโลเมตร ใช้รูปแบบพีพีพีเช่นเดียวกัน แบ่งเป็นสายสีแดง ระยะทาง 12.54 กิโลเมตร

ส่วนสายสีนํ้าเงิน 12 กิโลเมตร รวม 13 สถานี วงเงินลงทุน 3 หมื่นล้านบาท และสุดท้ายสายสีเขียว ระยะทาง 10.47 กิโลเมตร รวม 10 สถานี วงเงินลงทุน 2.5 หมื่นล้านบาท

สำหรับความคืบหน้ารถไฟรางเบาภูเก็ตจะเริ่มดำเนินการก่อน ส่วนจังหวัดขอนแก่น ล่าสุดภาคเอกชน ในพื้นที่เร่งขับเคลื่อนตามมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,450 วันที่ 7-9 มีนาคม 2562

บิ๊กทุนกระหึ่มหัวเมือง  ‘ชาญอิสสระ-ฤทธา’ ตุนที่รับรถไฟรางเบาภูเก็ต