ชูธง "แอร์พอร์ต ซิตี-คาร์โกฮับ" ปั๊มสัดส่วนรายได้ Non-Aero ทอท. โต 50%

08 มี.ค. 2562 | 06:05 น.

... ในอดีต เราจะเห็นว่า รายได้ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ต่อปีกว่า 6 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นรายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน ตามมาด้วยรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน (Non Aero) แต่นับจากนี้ สถานการณ์กำลังจะเปลี่ยนไป


⁍ ดันรายได้โต 2 ดิจิต

"ปัจจุบัน ทอท. มีรายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน คิดเป็นสัดส่วน 55% และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบินอยู่ที่ 45% แต่นับจากนี้ ทอท. มีเป้าหมายขับเคลื่อนรายได้ไม่เกี่ยวกับกิจการการบินให้เพิ่มขึ้น เนื่องจาก ทอท. ไม่ต้องการมานั่งลุ้น ว่า ในแต่ละปีมีผู้โดยสารมากน้อยแค่ไหน จึงมองการเพิ่มรายได้จาก Non Aero จากส่วนอื่น ๆ เพิ่มขึ้น นอกจากกระจายความเสี่ยงแล้ว ยังสร้างรากฐานความมั่นคงทางรายได้ให้ ทอท. ได้เป็นอย่างดี"
 

ชูธง "แอร์พอร์ต ซิตี-คาร์โกฮับ" ปั๊มสัดส่วนรายได้ Non-Aero ทอท. โต 50%


"ผมวางเป้าหมายเพิ่มรายได้จาก Non Aero มาอยู่ในสัดส่วน 50% และจะเพิ่มขึ้นโดยไม่มีขีดจำกัดในอนาคต ขณะที่ เป้าหมายการดำเนินธุรกิจในปีนี้ คาดว่า ผู้โดยสารจะเติบโตราว 6-7% แต่การเติบโตของรายได้จะเป็นระดับ 2 ดิจิต หรือมากกว่า 10%" นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าว
 

ชูธง "แอร์พอร์ต ซิตี-คาร์โกฮับ" ปั๊มสัดส่วนรายได้ Non-Aero ทอท. โต 50%


⁍ รุกคาร์โก-ดิจิทัล

การที่ ทอท. มั่นใจถึงการขับเคลื่อนรายได้จาก Non Aero ที่จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญและจะกลายเป็นรายได้ส่วนใหญ่ในอนาคต เป็นเพราะกว่า 40 ปีที่ผ่านมา การหารายได้ของ ทอท. ทำเพียง 1 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นเรื่องของการขนส่งผู้โดยสาร จาก 4 ส่วน ที่ ทอท. มองว่า สามารถแสวงหารายได้ให้เกิดขึ้นได้

ดังนั้น ยังมีอีก 3 ส่วน ที่จะสร้างรายได้ใหม่ที่จะเกิดขึ้น คือ 1) รายได้จากการขนส่งสินค้า (คาร์โก), 2) โลกเสมือนจริง หรือ ดิจิทัล แพลตฟอร์ม ด้านการขนส่งผู้โดยสาร และ 3) โลกเสมือนจริง หรือ ดิจิทัล แพลตฟอร์ม ด้านการขนส่งสินค้า


การเพิ่มรายได้จากธุรกิจคาร์โก หลังจาก ทอท. เข้ามาดำเนินการเองตั้งแต่กลางปี 2559 ปัจจุบัน มีการขนส่งสินค้าทางอากาศขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 15 ของโลก สิ่งที่จะดำเนินการต่อไป คือ การพัฒนาให้เกิด "เทรดดิ้ง ฮับ" และ Certify Hub (ศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก) ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ

ทอท. มีแผนจะตั้งบริษัทลูก 2 บริษัท โดยจะร่วมลงทุนกับการบินไทยและบริษัทเทรดดิ้งไทยหรือยุโรปจัดตั้งบริษัทลูก ภายในเดือน เม.ย. หรือ พ.ค. นี้ เพื่อให้บริการ Certify Hub ที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปีนี้ และกำลังอยู่ระหว่างหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในการร่วมหารือถึงการตั้งบริษัทลูกทำเรื่องเทรดดิ้งฮับ

ส่วนการหารายได้จาก "ดิจิทัล แพลตฟอร์ม" ทอท. วางแผนจะเปิดตัวระบบได้ภายในเดือน พ.ค. นี้ ซึ่งจะเป็นธุรกิจไร้พรมแดน เน้นการให้บริการครบวงจรด้านการเดินทางท่องเที่ยว ทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งผู้โดยสาร เช่น การจองตั๋ว จองบริการต่าง ๆ ทั่วโลก และบริการที่เกี่ยวกับคาร์โก
 

ชูธง "แอร์พอร์ต ซิตี-คาร์โกฮับ" ปั๊มสัดส่วนรายได้ Non-Aero ทอท. โต 50%


⁍ เดินหน้าแอร์พอร์ตซิตี

นอกจากนี้ ทอท. ยังอยู่ระหว่างการผลักดันเรื่องของ "แอร์พอร์ตซิตี" ให้เกิดขึ้นในทั้ง 6 สนามบิน โดยในส่วนของการพัฒนาแอร์พอร์ตซิตีที่สนามบินสุวรรณภูมิ พื้นที่ราว 1.92 พันไร่ และสนามบินภูเก็ต, เชียงใหม่, หาดใหญ่, แม่ฟ้าหลวง : เชียงราย เนื้อที่รวมราว 8.18 พันไร่ ในขณะนี้ หลังการปรับปรุงข้อตกลงการใช้ประโยชน์ในที่รายพัสดุ สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินภูมิภาค กับกรมธนารักษ์ ที่กำหนดกิจกรรมชัดเจนให้ ทอท. ดำเนินการ 10 กิจกรรมเชิงพาณิชย์ ได้แก่ โรงแรม, การขนส่งและโลจิสติกส์, สำนักงานและศูนย์ธุรกิจ, ร้านค้าและศูนย์การค้า, การท่องเที่ยวและนันทนาการ, การประชุมสัมมนาและนิทรรศการ, ที่พักอาศัย, การกีฬา, การรักษาพยาบาล และกิจกรรมอื่น ๆ ที่จะตกลงกัน

ทำให้ในปีงบประมาณนี้ ทอท. ก็จะคัดเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมเข้ามาพัฒนาในพื้นที่ดังกล่าวได้ ซึ่งเอกชนสามารถเสนอโครงการเข้ามาเพิ่มเติมได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีผู้ประกอบการหลาย 10 ราย แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนพัฒนาในที่ดินแปลง 37 และที่ดิน 723 ไร่ พื้นที่รวมราว 1,100 ไร่ ในสนามบินสุวรรณภูมิ อยู่บ้าง เช่น ธีมพาร์ก โลจิสติกส์ หรือ กิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ ระหว่างเป็นกิจกรรมให้ผู้โดยสารระหว่างการรอเวลาเที่ยวบิน แต่วันนี้ เมื่อมีความชัดเจนแล้วว่า ทอท. จะใช้ประโยชน์ในการพัฒนากิจกรรมอะไรได้บ้าง ก็จึงเดินหน้าในส่วนนี้ได้ต่อไป

หากเอกชนจะพัฒนาในพื้นที่แปลง 37 ปัจจุบัน เหลือเวลาที่ ทอท. ทำสัญญาไว้กับกรมธนารักษ์ราวกว่า 10 ปี แต่ข้อดี คือ สาธารณูปโภคมีความพร้อม แต่โครงการลงทุนก็อาจจะไม่ใหญ่มาก ยกเว้นว่า กรมธนารักษ์จะพิจารณาข้อเสนอของ ทอท. ที่อยู่ระหว่างขอต่อสัญญาการเช่าพื้นที่ของสนามบินสุวรรณภูมิ ที่จะหมดสัญญาในปี 2575 ออกไปอีก 30+10+10 ปี เนื่องจาก ทอท. อยู่ระหว่างการลงทุนขยายสนามบินสุวรรณภูมิ ดังนั้น สัญญาที่เหลืออีกราว 13 ปี จึงทำให้ ทอท. ลงทุนไม่คุ้ม เพราะการขยายสนามบินของ ทอท. กว่าจะถึงจุดคุ้มทุนต้องใช้เวลากว่า 20 ปีขึ้นไป

ขณะที่ การพัฒนาในส่วนที่ดิน 723 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินของ ทอท. เอง ข้อดี คือ ไม่มีเวลามาเป็นอุปสรรค แต่ข้อเสีย คือ ระบบสาธารณูปโภคที่ยังไม่พร้อม แต่ปัจจุบัน ทอท. ได้ยกที่ดินกว่าครึ่งให้ อบต.หนองปรือ ไว้เป็นสาธารณประโยชน์ ก็คงจะมีการตัดถนนเข้ามาเป็น 4 เลน และขณะนี้ อยู่ระหว่างการขอเปลี่ยนผังสีเป็นสีนํ้าเงิน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ค. นี้ ดังนั้น การพัฒนาในพื้นที่นี้จึงน่าจะเป็นการลงทุนขนาดใหญ่กว่าแปลง 37
 

ชูธง "แอร์พอร์ต ซิตี-คาร์โกฮับ" ปั๊มสัดส่วนรายได้ Non-Aero ทอท. โต 50%


นอกจากนี้ ทอท. หารือกับกองทัพอากาศ (ทอ.) เพื่อปรับปรุงการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่สนามบินดอนเมือง ในลักษณะเหมือนกับกรมธนารักษ์ เพื่อผลักดันโครงการแอร์พอร์ตซิตีที่พูดกันมานานให้เป็นจริง


⁍ บริหาร 4 สนามบินต้นปี 63

อีกจุดสำคัญในการเพิ่มรายได้ของ ทอท. คือ การรับบริหาร 4 สนามบินของกรมท่าอากาศยาน คือ สนามบินอุดรธานี, สกลนคร, ตาก และชุมพร คาดว่าจะเริ่มโอนสนามบินให้ ทอท. มาบริหารได้ในราวต้นปีงบประมาณ 2563 และ ทอท. ตั้งงบไว้ 3,500 ล้านบาท สำหรับลงทุนด้านเครื่องมือและขยายสนามบิน ซึ่งหลังการรับบริหารก็จะทำให้ ทอท. สามารถกระจายทราฟฟิกและเพิ่มรายได้จากสนามบินที่เพิ่มขึ้นได้


ทั้งหมดล้วนเป็นกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนการสร้างรายได้ของ ทอท. ที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้


| รายงาน โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3450 ระหว่างวันที่ 7 - 9 มีนาคม 2562

ชูธง "แอร์พอร์ต ซิตี-คาร์โกฮับ" ปั๊มสัดส่วนรายได้ Non-Aero ทอท. โต 50%