"คอร์น เฟอร์รี่" ชี้! "ผู้นำองค์กรไทย" วิตกภาวะขาดแคลนแรงงานทักษะสูง

04 มี.ค. 2562 | 11:16 น.

"คอร์น เฟอร์รี่" บริษัทคอนเซาท์ระดับโลก รายงานผลการศึกษาครั้งล่าสุด พบ ผู้นำองค์กรธุรกิจไทยกว่า 46% กังวลภาวะแรงงานทักษะสูงลด ส่งผลกระทบการเติบโตทางธุรกิจในอนาคตระยะกลาง พร้อมยอมรับการขาดแคลนแรงงานทักษะ ส่งผลให้มีการปรับขึ้นเงินเดือนพนักงาน

ผู้นำองค์กรธุรกิจในเมืองไทยต่างมีแผนการที่สร้างการเติบโตทางรายได้ของบริษัทในอนาคต ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยผู้นำ 84% ระบุว่า มีแผนสร้างการเติบโตเฉลี่ย 36% ภายในปี 2020 และเพิ่มถึง 47% ภายในปี 2030 อีกทั้งองค์กรต่าง ๆ ยังมีแผนเพิ่มจำนวนพนักงานอย่างจริงจังในช่วงเวลาดังกล่าว โดยองค์กรธุรกิจ 80% ตั้งใจจะเพิ่มจำนวนพนักงานเฉลี่ย 37% ภายในปี 2020 และเพิ่มถึง 48% ภายในปี  2030

ผลจากงานวิจัย ยังระบุว่า ผู้นำองค์กรธุรกิจในไทยมีความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนแรงงานทักษะสูง มากกว่าผู้นำในประเทศอื่น ๆ โดยผู้บริหารระดับสูงเพียง 30% ที่คิดว่ามีแรงงานทักษะสูงเพียงพอ หรือ มากเกินความต้องการในปี 2030 ซึ่งตรงกันข้ามกับผู้บริหารกว่า 48% ทั่วโลก ผู้นำองค์กรธุรกิจในไทย มองว่า เทคโนโลยีจะมีความสำคัญมากกว่าแรงงานทักษะสูงในอนาคตการทำงาน นั่นคือ กว่า 82% เชื่อว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่พนักงานในฐานะการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุดในช่วงเวลาดังกล่าว และกว่า 70% ยกให้เทคโนโลยีเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดของการพัฒนาและขับเคลื่อนกลยุทธ์ขององค์กร

สำหรับผู้นำองค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ในเมืองไทยไม่ได้มองว่าจะเกิดแข่งขันระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรในอนาคต โดย 88% กล่าวว่า บริษัทของตนจำเป็นจะต้องมีแรงงานทักษะสูงจำนวนมากขึ้น เมื่อเทียบสัดส่วนกับแรงงานทั้งหมดในอนาคต ซึ่งผู้บริหารจำนวนมากเท่า ๆ กัน ก็เห็นพ้องว่า เทคโนโลยีก็จะก่อให้เกิดงานที่ต้องอาศัยทักษะสูงเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ในการดำเนินงานตามกลยุทธ์ของบริษัท ผู้นำไทยกว่า 86% ยังคงวางแผนความต้องการแรงงานทักษะสูงในลักษณะเดิม ๆ และมีเพียง 9% ที่มีแผนพัฒนาทักษะแรงงานต่อเนื่องจนถึงปี 2030 ผู้นำเหล่านี้เชื่อมั่นว่า บทบาทหน้าที่และตำแหน่งงานมีความสำคัญ แต่กว่า 82% ของผู้นำ ระบุว่า การสรรหาบุคลากรที่มีทักษะสูงยากกว่าการวางแผนดำเนินงานให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีและสินทรัพย์ที่จับต้องได้ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากผู้ถือหุ้นให้สร้างผลตอบแทนที่รวดเร็ว

นายไมเคิล ดิสเตฟาโน ประธานกรรมการ คอร์น เฟอร์รี่ เอเชีย แปซิฟิก บริษัทผู้ให้คำปรึกษาแก่องค์กรชั้นนำ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในการทำธุรกิจ ทำให้การพัฒนาธุรกิจมีอัตราเร่งเร็วมากยิ่งขึ้น การคาดการณ์แบบยืดหยุ่นและการสร้างแบบจำลองธุรกิจ เริ่มมีความสำคัญมากกว่าการใช้รูปแบบธุรกิจดั้งเดิม อาทิ แผนการระยะ 5 ปี เป็นต้น แม้การวางแผนภาพรวมเศรษฐกิจจะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการเติบโตของธุรกิจ แต่แผนงานเหล่านี้ไม่ครอบคลุมถึงแผนด้านบุคลากร เนื่องจากแรงงานทักษะสูงถือเป็นตัวส่งเสริมการเติบโตในเขตเศรษฐกิจใหม่ องค์กรต่าง ๆ จึงต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดให้มีความฉับไวยิ่งขึ้นและหันมาใช้แนวทางระยะยาว เมื่อต้องพิจารณาทบทวนกลยุทธ์เกี่ยวกับแรงงานทักษะสูง

โลกกำลังจะเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะในอนาคตอันใกล้ โดยจะเกิดขึ้นทั้งกับเขตเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วและเขตเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนา


สำหรับประเทศไทย ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะสูงอาจส่งผลกระทบถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสูงถึง 6.4% ในปี 2030 และเมื่อพิจารณาในระดับโลก งานศึกษาของ "คอร์น เฟอร์รี่" คาดการณ์ว่า จะเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานทักษะสูงถึง 85.2 ล้านคน ภายในปี 2030 ซึ่งจะส่งผลทำให้มีอัตรารายรับที่จะไม่เกิดขึ้นมากถึง 8.452 ล้านล้านดอลลาร์ ในเขตเศรษฐกิจหลักกว่า 20 แห่งทั่วโลก โดยในช่วงต้น 2020 การขาดดุลแรงงานอาจขึ้นไปแตะที่ 20.3 ล้านคน

การศึกษาเรื่องการโยกย้ายของแรงงานที่มีทักษะ เผยให้เห็นว่า องค์กรทั่วโลกยังมองโลกในแง่ดีจนเข้าใจผิดพลาดเกี่ยวกับความสามารถขององค์กร ในการจัดหาแรงงานทักษะสูงเพื่อการทำงานในอนาคต ผู้นำองค์กรธุรกิจเกือบทั้งหมด (95%) มั่นใจว่า องค์กรของตนสามารถจัดหาแรงงานทักษะสูงเพื่อการทำงานในอนาคตได้ แม้มีแนวโน้มจะเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานทักษะสูงถึง 85.2 ล้านคน ภายในปี 2030 โดยผู้นำน้อยกว่า 1 ใน 10 (9%) มีการวางแผนอย่างจริงจังถึงจำนวนแรงงานที่มีทักษะจำเป็นในการดำเนินงานตามกลยุทธ์ที่ครอบคลุมไปถึงปี 2030

ผู้บริหารองค์กรส่วนใหญ่ (84%) เชื่อว่า พวกเขาจำเป็นจะต้องมีแรงงานทักษะสูงจำนวนมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบเปอร์เซ็นกับแรงงานทั้งหมดและมีเพียงครึ่งเดียว (52%) ที่เชื่อว่าจะเกิดภาวะขาดดุลแรงงานที่ขาดแคลนมากที่สุดในปี 2030 และ 1 ใน 3 (33%) ไม่เชื่อว่า ภาวะขาดแคลนแรงงานจะลดอัตราการเติบโตหรือจำกัดผลกำไรขององค์กร

ทั้งนี้ ผู้บริหารระดับสูงทั่วโลกต่างรับรู้ถึงความท้าทายที่จะเกิดจากการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ โดยผู้นำองค์กรธุรกิจ 84% กล่าวว่า หากต้องการอยู่รอดในอนาคตการทำงาน บริษัทจำเป็นจะต้องมีแรงงานทักษะสูงจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนแรงงานทั้งหมดขององค์กร กระนั้นสาระสำคัญที่แท้จริงของปัญหานี้ก็ยังคลุมเครือ แม้มีผู้นำหลายคนรายงานว่า การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ เริ่มส่งผลกระทบต่อธุรกิจแล้วในขณะนี้ แต่พวกเขากลับ บอกว่า นี่เป็นปัญหาแบบวัฏจักรที่มีขึ้นมีลง มากกว่าที่จะเป็นปัญหาถาวร โดยผู้บริหารราว 66% คาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานทักษะสูง ภายในปี 2020 และมีเพียง 25% ที่เชื่อว่าจะเกิดในปี 2030 และเกิดภาวะขาดแคลนทั่วโลกเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น

"คอร์น เฟอร์รี่" ชี้! "ผู้นำองค์กรไทย" วิตกภาวะขาดแคลนแรงงานทักษะสูง