"ยูเออี-กาตาร์" ขุมทองใหม่ "สินค้าเกษตรไทย"

03 มีนาคม 2562

| รายงานพิเศษ

| โดย รศ. ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

……………….


ช่วงเดือน ม.ค. 2562 ผมได้ร่วมเดินทางไปกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อไปศึกษาศักยภาพ โอกาส และอุปสรรคของสินค้าเกษตรไทยในตลาดดูไบ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ยูเออี) และโดฮา (กาตาร์) เพราะทั้ง 2 เมือง ถือได้ว่าเป็น "ตลาดใหม่สำหรับสินค้าเกษตรและแปรรูปไทย" และเป็นตลาดที่มีความต้องการสินค้าไทยอีกจำนวนมาก

ทั้งดูไบและโดฮามีทั้งความเหมือนและแตกต่างกัน ปัจจุบัน สินค้าไทยยังเข้าไปขายในทั้ง 2 ประเทศน้อยมาก ด้วยทั้ง 2 ประเทศ ไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอ จึงมีความจำเป็นของนำเข้าสินค้ามาจากทุกประเทศทั่วโลก หลัก ๆ จะนำเข้ามาเพื่อตอบสนองคนต่างชาติของประเทศนั้น ๆ ที่เข้ามาทำงาน โดยเฉพาะประเทศในเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา และบังกลาเทศ ผมประเมินว่า สัดส่วนของสินค้าเกษตรและแปรรูปของไทยมีสัดส่วนเพียง 5% ของสินค้าต่างชาติที่เข้ามาขายสินค้าเกษตร ของอินเดียมีสัดส่วนมากถึง 40%

สำหรับรูปแบบการนำสินค้าเกษตรไปขายใน 2 ตลาดนี้ ต้องผ่านทาง 3 ช่องทาง คือ ผ่านทางกลุ่มผู้นำเข้าสินค้าโดยตรง ผ่านกลุ่มห้างสรรพสินค้า และกลุ่มขายส่งและปลีกของตลาดผักและผลไม้สด ส่วนใหญ่แล้วธุรกิจกลุ่มนี้มีนักธุรกิจอินเดียเป็นเจ้าของ บางบริษัทมีการตั้งตัวแทนหาสินค้าในประเทศ เช่น ห้าง Lu Lu Hypermarket ซึ่งมีสาขาทั้งให้ยูเออีและกาตาร์ และบริษัท Mega Mart ของกาตาร์ ก็มีตัวแทนในประเทศไทยเช่นกัน ห้างสรรพสินค้าในดูไบจะแยกเป็นห้างสำหรับคนต่างชาติ เช่น ห้าง Lu Lu ขายให้กับคนอินเดีย หรือ ห้าง Filipino Supermarket ที่ขายสินค้าให้กับคนฟิลิปปินส์เป็นหลัก

 

"ยูเออี-กาตาร์" ขุมทองใหม่ "สินค้าเกษตรไทย"


ทั้ง 2 ตลาด เน้นสินค้าใน 3 เรื่อง คือ คุณภาพ ราคา และแพ็กเกจจิ้ง รสนิยมการซื้อสินค้าของทั้ง 2 ประเทศ นิยมเดินซื้อสินค้าในห้างมากกว่าเดินตลาดข้างนอก (ตลาดสดขายสินค้าเกษตรหาได้น้อยมาก) สำหรับกาตาร์ หลังจากมีประเด็นความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศ GCC โดฮาจึงนำเข้าสินค้ามาขายเอง และกำลังเกิด "Qatar – Turkey - Iran Economic Corridor : QTEC" ซึ่งจะเป็นโอกาสของสินค้าเกษตรของไทยที่ขายทั้งในกาตาร์และกระจายไปยัง QTEC อีกด้วย การนำสินค้าไปขายที่ทั้ง 2 ประเทศนี้ มีคำถามที่สำคัญ คือ "ขายให้ใคร" เพราะจากจำนวนประชากรเป็นชาวต่างชาติที่อาศัย (Expat) เพื่อมาขายแรงงานและทำงานด้านบริการ คิดเป็น 90% (กรณียูเออี) และ 60% (กรณีกาตาร์) ต่างชาติ ได้แก่ อินเดียเป็นสัดส่วนสูง ตามด้วยปากีสถาน ฟิลิปปิส์ กลุ่มประเทศแอฟริกา และบังกลาเทศ ตามลำดับ ที่เหลือเป็นคนดั้งเดิม เรียกว่า "Emiratis" รายได้และรสนิยมของกลุ่มคนทั้งสองจึงมีแตกต่างกัน


อย่างไรก็ตาม ผมมีข้อเสนอแนะในการทำตลาดทั้งสอง ดังนี้ 1) นำอัตลักษณ์เด่นของผลไม้แปรรูปไทยออกประชาสัมพันธ์ให้คนดูไบรู้จักสินค้าไทยให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน อาจถึงขึ้นต้องติดฉลากว่ามาจากประเทศไทย 2) ทำสัญญาโดยตรงกับห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ที่มีจำนวนมาก เพื่อนำสินค้ามาขาย 3) ร่วมกับร้านอาหารไทย เพื่อนำสินค้าไทยไปขาย 4) ร่วมงานแสดงสินค้าในดูไบ เช่น Gulfood ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าใหญ่ของดูไบ 5) ต้องทำการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคและช่องทางการจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง และ 6) แพกเกจจิ้งต้องมี QR code เพื่อสามารถสแกนให้เห็นข้อมูลของผลิตภัณฑ์ไทย 7) ต้องหาช่องทางในการติดต่อซื้อขายผ่านโซเชียลมีเดีย เพราะดูไบไม่สามารถใช้ไลน์ในการโทรติดต่อสื่อสาร 8) ปี 2022 กาตาร์จะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวและชมฟุตบอลโลกเบื้องต้น 8 แสนคน เงินจะสะพัด 2-3 หมื่นล้านบาท ความต้องการสินค้าอาหารและเกษตรจะเพิ่มขึ้นอีกมากใน 1 เดือนของการแข่งขัน

 

"ยูเออี-กาตาร์" ขุมทองใหม่ "สินค้าเกษตรไทย"


9) ตั้งหอการค้าร่วมไทยกับกาตาร์ ที่เน้นในเรื่องเกษตรและแปรรูป และ Medical Tourism 10) ทำความร่วมมือกับสายการบินของประเทศทั้งสอง หรือ สายการบินของไทย เพื่อขนส่งผลไม้สดของไทยทางอากาศ (ใช้เวลา 7 ชม.) ไปยัง 2 เมืองนี้ เพราะหากขนส่งทางเรือ แม้ว่าค่าขนส่งจะถูกกว่าทางอากาศ แต่ต้องใช้เวลาถึง 21 วัน จะทำให้ความสดผลไม้สดของไทยลดลง 11) จัดงานแสดงสินค้าผลไม้และแปรรูปของไทยใหญ่ ๆ ปีละ 2-3 ครั้ง โดยร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าโดยตรง ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคทั้ง 2 ประเทศ ได้มีโอกาสชิมและรู้จักผลไม้ไทยให้มากขึ้น ตัวอย่าง เช่น สับปะรดและกล้วย เป็นการนำเข้าจากฟิลิปฟินส์ 100% ไม่มีของไทยวางขายเลย แตงโมจากอินเดีย เป็นต้น ลำไย มังคุค ฝรั่ง มะขามหวาน และเงาะ เป็นสินค้าที่วางขาย โดยในบางรายการเป็นของเวียดนามและอินโดนีเซียเข้ามาขายเช่นกัน 12) กลุ่มสินค้าออร์แกนิคทั้งสดและแปรรูปกำลังโตวันโตคืน รวมถึงอาหารแช่เย็นแช่แข็งมีความต้องการอีกมาก เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจ 13) ไทยน่าจะถือโอกาสนี้ทำเขตการค้าเสรี (FTA) กับกาตาร์ เพื่อเปิดตลาดของทั้งประเทศ เขาอาจจะไม่มีสินค้า แต่มีเงินที่จะมาลงทุนในประเทศไทยครับ


⁍ เปรียบเทียบศักยภาพตลาดดูไบกับโดฮา
 

 

ยูเออี

กาตาร์

GDP (พันล้านดอลลาร์) ปี 2562

411.8

366.8

ประชากร (ล้านคน) ปี 2562

10.7

2.7

โครงสร้างประชากร (%)

ดั้งเดิม (Emiratis) 10%

ต่างชาติ (Expat) 90%

ดั้งเดิม (Emiratis) 40 %

ต่างชาติ (Expat) 60%

รายได้ต่อหัว (เหรียญต่อคนต่อปี)

39,484

124,000

จำนวนห้างสรรพสินค้า (แห่ง)

75

20

เป้าหมายการพัฒนา

สิงคโปร์แห่งตะวันออกกลาง

ดูไบแห่งที่2

โอกาสสินค้าเกษตร

ทุกชนิด

ทุกชนิด + ออแกนิค

คู่แข่งสินค้าเกษตรไทย

อินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซีย ปากีสถาน ฟิลิปฟินส์ และจากตะวันออกกลาง

อินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซีย ปากีสถาน ฟิลิปฟินส์ และจากตะวันออกกลาง


ที่มา : รวบรวมโดยผู้เขียนจากหลายแหล่งข้อมูล

"ยูเออี-กาตาร์" ขุมทองใหม่ "สินค้าเกษตรไทย"