'คลัง' ยัน! คงหุ้นใหญ่ หลังรวม "ธนชาต-TMB"

02 มี.ค. 2562 | 23:50 น.

กระทรวงการคลัง ยัน! คงสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่แบงก์ใหม่ หลังโอนกิจการ "ธนชาต-ทีเอ็มบี" ขณะที่ 2 โบรก "เอเซียพลัส-ดีบีเอส 
วิคเคอร์ส" ประเมินสัดส่วนเพิ่มทุนที่ 5 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ คาดคลังลดสัดส่วนเหลือ 14.25%

หลังจาก 2 ธนาคาร คือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB และธนาคารธนชาต ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างคู่สัญญา 5 ฝ่าย (MOU) ได้แก่ Bank of Nova Scotia (BNS), ING Group N.V. (ING), ธนาคารธนชาต (TBANK), บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) และ TMB โดยเป้าหมายเพื่อยกระดับเป็นธนาคารชั้นนำของไทย ภายใต้เครื่องหมายทางการค้าใหม่ ซึ่งจะเป็นธนาคารอันดับ 6 ด้วยขนาดสินทรัพย์ 1.9 ล้านล้านบาท ทำให้ฐานสินเชื่อที่อยู่อาศัยขึ้นมาอยู่อันดับ 4 สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อยู่อันดับ 5 มีฐานลูกค้ากว่า 10 ล้านราย จำนวน 912 สาขา และช่องทางโมบายแบงกิ้งอีก 2.5 ล้านเลขหมาย จำนวนพนักงาน 2 หมื่นคน

 

'คลัง' ยัน! คงหุ้นใหญ่ หลังรวม "ธนชาต-TMB"
  

สำหรับการเข้าทำธุรกรรมครั้งนี้ ผ่านการระดมทุนทั้งออกตราสารหนี้และออกหุ้นเพิ่มทุน โดยจะเป็นเงินจากการออกหุ้นเพิ่มทุนประมาณ 70% ของมูลค่าธุรกรรม 1.3-1.4 แสนล้านบาท โดยแบ่ง 2 ส่วน คือ หุ้นเพิ่มทุนประมาณ 50,000-55,000 ล้านบาท จะออกหุ้นให้กับทุนธนชาต (TCAP) ในสัดส่วนมากกว่า 20% และธนาคารแห่งโนวาสโกเทีย (BNS) บางส่วน โดยคิดมูลค่าหุ้นเพิ่มทุนของธนาคารเท่ากับ 1.1 เท่าของมูลค่าทางบัญชีล่าสุดของธนาคาร ที่เหลืออีก 45,000 ล้านบาท จะให้กับผู้ถือหุ้นหลัก คือ กระทรวงการคลังและไอเอ็นจี (ING) รวมทั้งอาจจะมีการออกหุ้นเพิ่มทุน เพื่อเสนอขายให้กับประชาชน และ/หรือบุคคลในวงจำกัดกับนักลงทุนรายใหม่ หรือ นักลงทุนรายเดิม

ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาอีก 2-3 เดือน ทั้ง 2 ธนาคาร จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบสถานะการเงิน (Due Diligence) ควบคู่กับการเจรจาร่วมกันเกี่ยวกับสัญญาหลัก (Definitive Agreement) ระหว่างคู่สัญญา เมื่อผลสรุปออกมาสอดคล้องกับ MOU ทาง TMB จะเรียกประชุมพิเศษ EGM เพื่อเสนอการเพิ่มทุน โดยกระทรวงการคลังและ ING จะใส่เงินเข้ามา

ขณะเดียวกัน ธนาคารธนชาตต้องปรับโครงสร้างธุรกิจและลดขนาดกิจการให้มีขนาดใกล้เคียงทหารไทย โดยจะเสนอขายเงินลงทุนในบริษัทย่อยและเงินลงทุนอื่นให้กับผู้ถือหุ้นของธนชาตทุกรายตามสัดส่วนการถือหุ้น ซึ่งบริษัทย่อยและเงินลงทุน รวมถึง บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน), บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัทบริหารสินทรัพย์ ทีเอส จำกัด, บริษัท ราชธานี ลิสซิ่งฯ และเงินลงทุนในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ บริษัท เอ็มบีเค จำกัด (มหาชน), บริษัท ปทุมไรซมิล แกรนารี จำกัด (มหาชน) และเงินลงทุนนอกตลาดหลักทรัพย์

สำหรับเงินเพิ่มทุน นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จะมาจากเงินลงทุนและเงินปันผลของกองทุนวายุภักษ์ ซึ่งคาดว่าเพียงพอที่จะใช้ในการเพิ่มทุนครั้งนี้

 

'คลัง' ยัน! คงหุ้นใหญ่ หลังรวม "ธนชาต-TMB"


นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดของกระบวนการใช้เงินจากกองทุนวายุภักษ์แต่อย่างใด ซึ่งในส่วนของกองทุนวายุภักษ์จะมีหุ้นของหน่วยงานต่าง ๆ ที่กระทรวงการคลังถือ อย่าง ปตท., ไทยพาณิชย์ ที่ขายให้กับกองทุน โดยแปลมาเป็นกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหน่วยหลักในกองทุนวายุภักษ์และมีผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่น ๆ ด้วย และยังมีเงินสดบางส่วนด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการจ่ายปันผลมาโดยตลอด ขึ้นกับผลการดำเนินงานที่ผ่านมา

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า กระทรวงการคลังมีแหล่งเงินที่พร้อมจะใส่เงินเพิ่มทุน เพื่อรักษาสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารใหม่ จากปัจจุบันที่ถือ 26% โดยกระบวนการศึกษาการเพิ่มทุนดังกล่าวได้มอบหมายให้กรรมการบริหารของธนาคารทหารไทยดำเนินการ ซึ่งเข้าใจว่า ยังไม่เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคาร และยืนยันว่า กระทรวงการ
คลังจะยังคงสัดส่วนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ภายหลังการควบรวมกิจการแล้ว

อย่างไรก็ตาม บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัสฯ (APS) คาดว่า จำนวนหุ้นเพิ่มทุนของทีเอ็มบีครั้งนี้ จะเท่ากับ 4.03 หมื่นล้านหุ้น คิดเป็น Dilution Effect ราว 48% ของทุนเดิม เบื้องต้น คาดว่า สัดส่วนการเพิ่มทุนที่ 5 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาเสนอขายเท่ากับ PP ซึ่งหลังเพิ่มทุนทุกขั้นตอนแล้ว สัดส่วนการถือหุ้นของ TCAP และ ING จะใกล้เคียงกันคือรายละ 20% ตามด้วยกระทรวงการคลัง 16% และ BNS เหลือ 13% ตามด้วยรายย่อยอื่น ๆ

ขณะที่ บล.ดีบีเอสฯ (DBSVTH) ระบุว่า หลังควบรวมธนาคารใหม่จะมีหุ้นประมาณ 80,000-84,000 ล้านหุ้น ทำให้มี Dilution Effect 45-48% โดย TCAP และ BNS จะถือหุ้นในธนาคารใหม่รายละไม่น้อยกว่า 20% อย่างสมมติธนาคารใหม่มีหุ้น 8 หมื่นล้านหุ้น  TCAP และ BNS จะถือไม่น้อยกว่า 1.6 หมื่นล้านหุ้น หมายถึง TCAP ต้องซื้อหุ้นเพิ่มทุนอีก 5-6 พันล้านหุ้น ใช้เงินลงทุนราว 12,500-15,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน ING ถือหุ้นในทีเอ็มบี 25% ต้องซื้อหุ้นเพิ่มทุนอีก 6 พันล้านหุ้น ใช้เงินราว 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อรักษาสัดส่วนถือหุ้น 20% กระทรวงการคลังจะถูกลดสัดส่วนการถือหุ้นจาก 26% เหลือ 14.25%


หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,449 วันที่  3 - 6 มีนาคม พ.ศ. 2562
 

'คลัง' ยัน! คงหุ้นใหญ่ หลังรวม "ธนชาต-TMB"