พาณิชย์ ชี้การค้าไทย-อาเซียน ในปี 2561 เติบโตจากปีก่อนหน้ากว่า 13%

01 มี.ค. 2562 | 07:51 น.

พาณิชย์ ชี้การค้าไทย-อาเซียน ในปี 2561 เติบโตจากปีก่อนหน้ากว่า 13%  อาเซียนยังครองตำแหน่งคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย แนะผู้ประกอบการไทยเร่งใช้ประโยชน์จาก FTA อย่างเต็มที่

 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในปี 2561 เติบโตจากปีก่อนหน้ากว่า 13 % โดยมีมูลค่า 113 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งออกเป็นการส่งออกจากไทยไปอาเซียน 68พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน 45พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกล เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าหลักของไทย เช่น น้ำมันดิบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

จากการติดตามสถิติการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟต้า ของปี 2561 พบว่า ไทยใช้สิทธิประโยชน์จากอาฟต้าส่งออกไปอาเซียน 26.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ39.3% ของการส่งออกไปอาเซียน และนำเข้าโดยใช้สิทธิประโยชน์จากอาฟต้า 9.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 20.5 % ของการนำเข้าจากอาเซียน โดยสินค้าส่งออกที่ใช้สิทธิประโยชน์จากอาฟต้ามากที่สุด เช่น รถบรรทุกขนาดไม่เกิน 5 ตัน น้ำมันปิโตรเลียม น้ำตาล รถยนต์ส่วนบุคคล เครื่องปรับอากาศแบบติดผนัง/เพดาน เป็นต้น และสินค้านำเข้าที่ใช้สิทธิประโยชน์จากอาฟต้ามากที่สุด เช่น ส่วนประกอบยานยนต์ รถยนต์ขนส่งบุคคล มอนิเตอร์ โปรเจ็คเตอร์ ลวด เคเบิล มันสำปะหลัง เป็นต้น ซึ่งอาเซียนยังคงเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยด้วยสัดส่วนการค้ามากถึง 22.7%

พาณิชย์ ชี้การค้าไทย-อาเซียน ในปี 2561 เติบโตจากปีก่อนหน้ากว่า 13%

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

นอกจากนี้ ในปี 2561 ที่ผ่านมา สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้ร่วมกันผลักดันประเด็นต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบธุรกิจ ที่ต้องการจะขยายการค้าการลงทุนจนเป็นผลสำเร็จ เช่น การส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ผ่านการจัดทำความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน  การปรับปรุงการอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น การแก้ไขความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน เพื่อรองรับการใช้งานระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน 3) การจัดทำความตกลงการค้าบริการอาเซียนและปรับปรุงความตกลงการลงทุนของอาเซียน และ 4) การสร้างสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่เอื้ออำนวย เช่น การจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบของอาเซียน

โดยในปี 2562 ไทยในฐานะประธานอาเซียน ได้มีการนำเสนอประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในอาเซียน ภายใต้แนวคิด ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย 3 ด้าน 13 ประเด็น ได้แก่  การเตรียมอาเซียนรับมืออนาคต เช่น การจัดทำแผนการทำงานด้านดิจิทัลและด้านนวัตกรรมของอาเซียน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 การส่งเสริมการดิจิทัลในผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการประกอบธุรกิจ รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ต่อผู้ประกอบวิชาชีพในสาขาต่างๆ ให้สามารถปรับตัวรับมือกับเทคโนโลยี  ความเชื่อมโยง เช่น การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) ให้ครบทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร การสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ เช่น การส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน การจัดตั้งศูนย์เครือข่ายวิจัย และการพัฒนาพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพและพลังงานชีวภาพในอาเซียน เป็นต้น โดยประเด็นเหล่านี้จะสอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และสอดรับกับความต้องการของอาเซียนและภาคเอกชนผู้ประกอบธุรกิจ

พาณิชย์ ชี้การค้าไทย-อาเซียน ในปี 2561 เติบโตจากปีก่อนหน้ากว่า 13%