จับตา 3 แนวทาง กรธ.รับข้อเสนอ คสช. ก่อนเปิดร่างฉบับสมบูรณ์ 29 มีนา นี้

24 มี.ค. 2559 | 01:00 น.
การทำงานของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นหัวเรือใหญ่ เดินทางมาถึงช่วงสุดท้ายแล้ว โดยกำหนดให้วันที่ 29 มีนาคมนี้ สังคมไทยจะได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ฉบับสมบูรณ์ ก่อนถึงวันนั้นในจังหวะนี้ห้ามกะพริบตา เมื่อ กรธ.นัดหารือใน 3 ประเด็น เผือกร้อนในมือ กรธ.ที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยิงตรงถึง กรธ.ให้เขียนไว้ในบทเฉพาะกาล ซึ่งถูกถล่มยับทั้งจากกลุ่มนักการเมือง และกลุ่มนักวิชาการ

[caption id="attachment_39991" align="aligncenter" width="700"] ปฏิทินทำงาน โค้งสุดท้ายของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปฏิทินทำงาน โค้งสุดท้ายของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ[/caption]

1.การให้มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จากการสรรหา 250 คน วาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี โดยทำงานร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาล คสช.ไปสู่รัฐบาลจากการเลือกตั้ง โดย ส.ว.สรรหา 250 คนนี้ มี 6 ราย ที่เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง คือ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

2.ให้ยกเลิกรูปแบบการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ที่กรธ.กำหนดให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เลือกทั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบเหมือนเดิม รวมทั้งให้แบ่งเขตเลือกตั้งแบบเขตใหญ่ มี ส.ส.ได้ไม่เกิน 3 คน และ3.ให้ยกเลิกข้อกำหนดที่ให้พรรคการเมืองเสนอบัญชีรายชื่อว่าที่ "นายกรัฐมนตรี" 3 รายชื่อก่อนหาเสียงเลือกตั้ง

ขณะที่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้เผยแพร่ผลสำรวจความเห็นประชาชนเรื่อง "สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหาในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี" โดยสำรวจระหว่างวันที่ 17-18 มีนาคม จาก 801 หน่วยตัวอย่าง ในประเด็นเรื่องการแต่งตั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพ เข้ามาเป็น ส.ว.สรรหาโดยตำแหน่งในช่วงเปลี่ยนผ่านประมาณ 5 ปี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 49.31 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะทำให้ ส.ว.สรรหาที่เข้ามามีความหลากหลายทางอาชีพ ซึ่งผู้บัญชาการเหล่าทัพ เป็นผู้ที่มากด้วยความรู้ความสามารถและประสบการณ์ จะได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาประเทศ สร้างพื้นฐานที่มั่นคงในการปรับเปลี่ยนระบบการบริหารงาน น่าจะมีระบบการทำงานที่ดีขึ้น

อีก 42.07% ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของทหาร อาศัยระบบพวกพ้อง และเป็นการใช้อำนาจทางทหารมากเกินไป อาจเกิดความขัดแย้งภายหลัง ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง ส.ว.จะดีกว่า หรือควรมาจากลุ่มอาชีพอื่นๆ เช่น กลุ่มนักวิชาการ และกลุ่มเกษตรกร เป็นต้น 1.50% ระบุอื่นๆ ได้แก่ เป็นใครก็ได้ขอให้มีความจริงใจในการแก้ไขประเทศ และ 7.12% ไม่ระบุ

อย่างไรก็ดี ก่อนจะได้ข้อสรุปในเรื่องนี้ นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย สะท้อนความเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ" โดยคาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะออกมาใน 3 ลักษณะ แนวทางแรก คือ กรธ.ไม่ยอมรับข้อเสนอใดๆ เลย ให้ไปวัดกันที่ผลการทำประชามติว่า ประชาชนจะรับ หรือ ไม่รับ ร่างรธน.ฉบับนี้

[caption id="attachment_39990" align="aligncenter" width="431"] มีชัย ฤชุพันธุ์ มีชัย ฤชุพันธุ์[/caption]

แนวทางที่ 2. กรธ.โดยนายมีชัย (ฤชุพันธุ์) ยอมรับข้อเสนอของ คสช. บางส่วนแบบมีเงื่อนไข ยื่นหมูยื่นแมวกัน โดย กรธ.รับข้อเสนอในส่วนของ ส.ว.สรรหา แต่ขอเพิ่มหมวดปฏิรูปเข้าไปด้วย แนวทางสุดท้าย ซึ่งเชื่อว่า มีความเป็นไปได้มากที่สุด คือ การประนีประนอมกัน โดยเชื่อว่า คสช.คงไม่ถอยเรื่อง 250 ส.ว. สรรหา เพื่อใช้เป็นกลไกช่วงเปลี่ยนผ่านนี้

พร้อมกันนี้นายสุริยะใสได้กล่าวตั้งข้อสังเกตไว้หลายประการ อาทิ จำนวนของ 250 ส.ว.มีนัยยะสำคัญอะไรหรือไม่ เหตุใดต้อง 250 คน ส่วน 6 รายชื่อ ส.ว.ที่มาโดยตำแหน่งจากเหล่าทัพ ซึ่งเริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อต้านตั้งแต่เริ่ม จะเป็นปัญหาตามมาหรือไม่ รวมถึงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งเหตุใดต้องเป็น 5 ปี และเมื่อครบกำหนดวาระแล้ว หากเกิดวิกฤติ จะต้องต่ออายุหรือขยายเวลาออกไปอีกหรือไม่ จะมีหลักประกันอะไรในเรื่องนี้ให้กับสังคมหรือไม่

"เชื่อว่า จะมีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะส.ว.มีอำนาจในการอภิปราย ครม. ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขณะที่ในจำนวน ส.ว.ชุดนี้ มาจากผู้บัญชาการเหล่าทัพ ซึ่งเป็นตำแหน่งโควตาจะได้รับตำแหน่งเป็น ประธานวุฒิสภาด้วยใช่หรือไม่ และผู้ใดจะเป็นคนตรวจสอบถ่วงดุล ส.ว.ชุดนี้ได้บ้าง" นายสุริยะใส ระบุและว่า โดยส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับแนวทางของ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่เสนอให้มาจากการสรรหา จากหลากหลายสาขาอาชีพ"ประเด็นที่ต้องคิดถึงไม่ใช่จำนวนคะแนนเสียงแต่เป็นเรื่องของความชอบธรรม" นายสุริยะใส กล่าวตั้งข้อสังเกต

นอกจากนี้ยังต้องจับตาช่วง 1 ถึง 2 สัปดาห์นี้ ที่ กรธ.กำหนดจะพิจารณาภาพรวมของร่าง รธน.ให้แล้วเสร็จ โดยเตรียมยกทัพนำไปทบทวนกันนอกสถานที่ ระหว่างวันที่ 23-26 มีนาคม ณ โรงแรมอิมพีเรียล หัวหิน บีช รีสอร์ท ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อปรับแก้ไขถ้อยคำที่ยังไม่สมบูรณ์ให้กระชับ สละสลวย และสอดคล้องเชื่อมโยงกันในแต่ละมาตรา ก่อนพร้อมส่งร่างฉบับสมบูรณ์ให้กับรัฐบาลในวันที่ 29 มีนาคม 2559 จากนั้นในวันที่ 30 มีนาคม กรธ.จะชี้แจงสาระสำคัญของร่างรธน.ต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.)

จับตาลุ้นกันอีกยกว่า บทสรุปสุดท้ายบนเส้นทางประชาธิปไตยของไทยจะมีหน้าตาออกมาอย่างไร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,142 วันที่ 24 - 26 มีนาคม พ.ศ. 2559