"ธนชาต-ทีเอ็มบี" ประกาศขึ้นธนาคารชั้นนำของไทย

27 ก.พ. 2562 | 07:19 น.
2 แบงก์ ยัน! 3 เดือน เคาะใส่เงินเพิ่มทุน-สัดส่วนผู้ถือหุ้น หลังตรวจสอบสถานะการเงินเป็นไปตามเอ็มโอยู ด้าน 'จุมพล' ยัน! แหล่งเงินพร้อม ย้ำ! ดีลครั้งนี้ไม่มีใครแพ้ใครชนะ แจ้งลูกค้าทั้ง "ธนชาต-ทีเอ็มบี" ใช้บริการเป็นปกติ ส่วน "แบรนด์ดิ้ง-ซีอีโอ" คาดใช้เวลาเป็นปีก่อนสรุปชื่อใหม่

ตามที่ 2 ธนาคาร คือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารธนชาต ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2562 เรื่อง "การบรรลุข้อตกลงเบื้องต้น" โดยเป็นการลงนามในบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างคู่สัญญา 5 ฝ่าย ได้แก่ Bank of Nova Scotia (BNS), ING Group N.V. (ING), ธนาคารธนชาต (TBANK), บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) และธนาคารทหารไทย (TMB) โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการคลังและผู้ถือหุ้นเกี่ยวข้องตามวัตถุประสงค์ของการควบรวมกิจการครั้งนี้ เพื่อยกระดับ 2 ธนาคาร เป็น "ธนาคารแห่งใหม่" ที่มีศักยภาพแข็งแกร่งสู่การเป็นธนาคารชั้นนำของไทย




2

ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2562 ผู้บริหาร 2 ธนาคาร 7 ท่าน ร่วมแถลงข่าว "Synergy for Growth" ประกอบด้วย 1.ประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญธนาคารธนชาต 2.สมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) 3.ศุภเดช พูนพิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) 4.จุมพล ริมสาคร รองปลัดกระทรวงการคลัง 5.Mark Newman Head of Challenge และ Growth Markets, of ING 6.Philippe G. J. E.O. Damas, ตำแหน่ง-ประธานกรรมการบริหารทีเอ็มบี 7.ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทีเอ็มบี

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 เดือนหลังจากนี้ ทั้ง 2 ธนาคาร จะตรวจสอบสถานะการเงิน (Due Diligence) หากผลสรุปออกมาเป็นไปตามที่ระบุใน MOU ทาง TMB จะมีการประชุมพิเศษ EGM เพื่อเสนอการเพิ่มทุน โดยที่กระทรวงการคลังและไอเอ็นจีจะใส่เงินเข้ามา ดังนั้น สัดส่วนผู้ถือหุ้นจะชัดเจนภายหลังจากผลสรุปทำ Due Diligence เรียบร้อยก่อน

ทั้งนี้ ภายหลังจากการควบรวม ธนาคารเชื่อว่า ทั้ง 2 ธนาคาร มีจุดแข็งในคนละด้าน จะเห็นได้จากการดำเนินธุรกิจในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งในด้านนวัตกรรม เงินฝาก และธุรกิจเช่าซื้อที่เป็นอันดับ 1 ในตลาดของธนาคารธนชาต แต่การแข่งขันในอนาคตภายใต้โจทย์ที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่องของขนาดเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น การควบรวมจะทำให้มีความแข็งแกร่งขึ้น และสามารถส่งมอบบริการไปยังลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ฐานลูกค้าของทีเอ็มบี จำนวน 3 ล้านราย มีประมาณ 1.5 ล้านรายที่แอคทีฟบนดิจิตอล หากลูกค้าเหล่านี้ต้องการบริการสินเช่าซื้อธนาคารก็สามารถบริการได้ ซึ่งจากเดิมทีเอ็มบีไม่มีบริการสินเชื่อเช่าซื้อ หรือ ลูกค้าธนาคารธนชาตที่ต้องการลงทุน ก็สามารถส่งมอบบริการทางด้านการลงทุน เนื่องจากทีเอ็มบีมีความชำนาญและมีผลิตภัณฑ์การลงทุนหลากหลาย


3

ส่วนสาขาที่มีความทับซ้อนและพนักงานนั้น จะมีการปรับเปลี่ยนโยกย้าย (Relocate) เนื่องจากมีจำนวนฐานลูกค้ากระจายทั่วประเทศ อย่างไรก็ดี หากดูจำนวนตัวเลขสาขารวมกันทั้ง 2 ธนาคาร ถือว่ายังไม่มาก ขณะที่ พนักงานที่ทับซ้อนก็จะมีการเสริมทักษะ (Re-Skill) เช่น จากเดิมพนักงานจะอยู่ในส่วนของธุรกรรม (Transaction) อาจจะเสริมทักษะและย้ายเข้าไปอยู่ในส่วนของดิจิทัลแทน ปัจจุบัน จำนวนฐานลูกค้าของทีเอ็มบีและธนชาตรวมกันจะอยู่ที่ 10 ล้านราย โดยทีเอ็มบีมีจำนวนสาขาราว 400 สาขา จำนวนพนักงานกว่า 8,000 คน มีลูกค้าโมบายแบงกิ้ง 1.5 ล้านราย ขณะที่ ธนชาตมีจำนวนสาขา 512 สาขา พนักงาน 1.2 หมื่นคน ฐานลูกค้าโมบายแบงกิ้ง 1 ล้านราย และจากการรวมกันจะทำให้ฐานสินเชื่อที่อยู่อาศัยขึ้นมาอยู่อันดับ 4 และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อยู่อันดับ 5

สำหรับเงินเพิ่มทุนจำนวน 1.3-1.4 แสนล้านบาท เนื่องจากทีเอ็มบีมีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่บ้างส่วนแล้ว โดยจะมีการเพิ่มทุนใหม่จำนวน 70% จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ซึ่งส่วนแรกวงเงิน 5-5.5 หมื่นล้านบาท จะเป็นเสนอขายให้กับทุนธนชาต คาดว่าจะมีสัดส่วนมากกว่า 20% และสโกเทียอีกบ้างส่วน และที่เหลืออีก 4.5 หมื่นล้านบาท จะมาจากผู้ถือหุ้นหลักกระทรวงการคลังและไอเอ็นจี หรือ อาจจะมีการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนที่เป็น Private Investment

"เป้าหมายการควบรมครั้งนี้ ธนาคารต้องการเป็น 1 ในใจของลูกค้า ตอนนี้อยากให้ลูกค้าเชื่อมั่น โดยไม่ว่าจะเป็นลูกค้าของธนาคารไหนก็ใช้บริการธนาคารต่อไป เพราะหลังจากนี้จะต้องทำ Due Diligence และพัฒนาแพลตฟอร์มหลังบ้านก่อนจะปรับหน้าให้เป็นแบงก์แห่งใหม่"

นายจุมพล ริมสาคร รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะตัวแทนประธานกรรมการ ธนาคาร TMB กล่าวว่า สำหรับการใช้แบรนด์ดิ้งนั้น ในระหว่างนี้ทั้ง 2 ธนาคาร จะยังคงทำงานและดำเนินธุรกิจภายใต้แบรนด์เดิมก่อน แต่หลังจากขั้นตอนกระบวนการควบรวมที่อาจจะต้องใช้เวลาหลักปีนั้นถึงจะมีการเปลี่ยนชื่อแบรนด์ดิ้ง ส่วนทีมงานผู้บริหารและพนักงานก็จะใช้หลักการเดียวกันยังคงทำงานปกติ และยังไม่มีการตัดสินใจว่าจะให้ใครดำรงตำแหน่งซีอีโอ ซึ่งการควบรวมครั้งนี้ "ไม่มีใครเป็นผู้แพ้ผู้ชนะ"

เป้าหมายการควบรวมต้องการเพิ่มศักยภาพและเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินไทยให้มีความพร้อมในการแข่งขันและจะต้องมีประโยชน์เกิดขึ้นแน่นอน เนื่องจากปัจจัยที่ให้กระทรวงการคลังถือหุ้น คือ ความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ต่อภาพรวมอย่างไร และการควบรวมครั้งนี้จะเกิดมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกระทรวงการคลังมีความพร้อมที่จะใส่เงินเพิ่มทุน ซึ่งแหล่งเงินทุนได้เตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว


20190227140734

นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหารทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) ระบุว่า แม้ว่าทุนธนชาตจะถือหุ้นในสัดส่วนรองจากไอเอ็นจี แต่เป็นสัดส่วนที่มากกว่า 20% ด้วยมูลค่าขนาดที่ใหญ่ขึ้น จึงมีโอกาสที่จะทำกำไรให้กับผู้ถือหุ้นได้ เพราะการรวมกันที่จะทำให้ราคาหุ้นและเงินปันผลสูงขึ้นในทุกปี และเชื่อว่า ในส่วนของ ROE จะมีสัดส่วนที่สูงขึ้นและในส่วนของพนักงานที่เหมาะสมกับธนาคารแห่งใหม่น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.5 หมื่นคน เนื่องจากโดยธรรมชาติจะมีพนักงานเกษียณอายุปีละ 2,000 คน

ขณะที่ บริษัทลูกอื่น ๆ ของทุนธนชาต เช่น บริษัทประกันภัย ประกันชีวิต บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่ 2-3 แห่ง รวมถึงบริษัทเช่าซื้อและโบรกเกอร์ จะยังคงอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ตัวแทนไอเอ็นจี กล่าวว่า จากการเข้ามาถือหุ้นในทีเอ็มบีกว่า 10 ปี ก็ยังมีความเชื่อมั่นและในระยะข้างหน้าก็ยังเป็นผู้ถือหุ้นหลัก โดยมีธนชาตเข้ามาร่วมถือหุ้นเพิ่มในดีลนี้ โดยยังคงเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมธนาคารไทยยังมีโอกาสเติบโต โดยเฉพาะทางด้านดิจิทัล เนื่องจากไอเอ็นจีเป็นผู้นำนวัตกรรมทางด้านดิจิทัลและดาต้าที่จะมาช่วยสนับสนุนในการบริการและการแข่งขันในอนาคต

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-8