'เกาหลีเหนือ' ส่อง 'เวียดนาม' "ต้นแบบ" เรียนรู้การปฏิรูป

25 ก.พ. 2562 | 10:43 น.
การประชุมครั้งที่ 2 ระหว่างผู้นำสหรัฐอเมริกาและเกาหลีเหนือ ที่กรุงฮานอย เมืองหลวงของประเทศเวียดนาม กำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-28 ก.พ. ที่จะถึงนี้ หลังจากที่ครั้งแรก ซึ่งเป็นครั้งประวัติศาสตร์ มีขึ้นบนเกาะเซนโตซา ประเทศสิงคโปร์ เมื่อเดือน มิ.ย. 2561 โดยการพบปะในครั้งนั้นเป็นไปด้วยความราบรื่น และความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ก็พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ

800
สำหรับการประชุมซัมมิตครั้งที่ 2 นี้ หลายคนไม่แปลกใจว่า เหตุใดจึงเป็นเวียดนาม ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะเวียดนามเป็นประเทศในระบอบสังคมนิยมที่เปิดประเทศและมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจก้าวหน้าไปมาก กระทั่งกลายเป็นดาวรุ่งทางเศรษฐกิจแห่งภูมิภาคอาเซียน ทำให้เกาหลีเหนือที่การปกครองยังไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นกัน แต่มีความสนใจจะพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวหน้า หันมองเวียดนามเป็นต้นแบบที่ไม่ไกลตัวนัก มีการศึกษาดูงานเกี่ยวกับการปฏิรูปเศรษฐกิจของเวียดนามเป็นเวลานานหลายปี

นายเลอ ดัง โดห์น ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติฮานอย อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเวียดนาม ให้ความเห็นกับผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า เกาหลีเหนือได้ส่งคณะเจ้าหน้าที่มาศึกษาดูงานในประเทศเวียดนามหลายครั้งด้วยกันในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษกับขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจแบบปิดมาสู่การเปิดเสรีในปัจจุบัน ไม่เพียงเท่านั้น เกาหลีเหนือยังสนใจศึกษาว่า เวียดนามพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองกับสหรัฐอเมริกา จากเดิมที่เคยเป็นปฏิปักษ์สู่ความเป็นมิตรได้อย่างไร "พวกเขาอยากรู้วิธีการที่รัฐบาลเวียดนามใช้เตรียมความพร้อมและดำเนินการปฏิรูปประเทศ นอกจากนี้ ยังสนใจเป็นพิเศษว่า การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมีผลต่อการเมืองเวียดนามอย่างไรบ้าง ... การปฏิรูปเป็นกระบวนการที่ยากลำบาก บางกลุ่มอาจจะได้ประโยชน์ ขณะที่ อีกกลุ่มต้องสูญเสียอำนาจ" แต่แม้ท่ามกลางการปฏิรูป รัฐบาลเวียดนามก็ยังสามารถควบคุมทั้งประชาชนและเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

ในการพบปะครั้งที่ 2 ระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ ที่กำลังจะมีขึ้นกลางสัปดาห์นี้ ประเด็นหลักในการเจรจายังคงเป็นเรื่องของการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ เพื่อความสงบสุขในคาบสมุทรเกาหลี และแน่นอนว่า ฝั่งเกาหลีเหนือต้องการพูดถึงเรื่องที่สหรัฐฯ และสหประชาชาติมีต่อเกาหลีเหนือ ทั้งนี้ ในระยะหลายปีที่ผ่านมา เกาหลีเหนือได้เปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) หลายแห่งภายในประเทศ เพื่อดึงดูดการลงทุนและส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมบางประเภท ขณะเดียวกันก็พยายามปรับปรุงการทำงานของโรงงานผลิต ให้สามารถผลิตสินค้าที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค

595959859