แอร์ ‘มิตซูบิชิ’ที่1ในเอเซีย ฐานผลิตไทยจ่อพุ่ง 7 ล้านเครื่อง

22 มี.ค. 2559 | 09:00 น.
เครื่องปรับอากาศแบรนด์ "มิตซูบิชิ" ปีนี้ครบ 26 ปีเต็ม ที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย มีดีกรีถึงเครื่องปรับอากาศคุณภาพดี เกาะกลุ่มสินค้าตลาดบนมาอย่างเหนียวแน่น โดยให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับวิศวกรคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง จนวันนี้กลายเป็นฐานผลิตเครื่องปรับอากาศที่มีคุณภาพแถวหน้า วัดจากเสียงตอบรับของผู้บริโภคทั่วโลก ทำให้เครื่องปรับอากาศแบรนด์ "มิตซูบิชิ" ยึดฐานผลิตไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกด้วยสัดส่วนสูงถึง 80% ของกำลังผลิตทั้งหมดที่ผลิตได้ กระจายไปทั่วโลกมากกว่า 140 ประเทศ

นายโซ ซูซูกิ ประธานบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ MCP ให้สัมภาษณ์พิเศษ"ฐานเศรษฐกิจ" ก่อนอำลาเก้าอี้ประธานบริษัท MCP ในประเทศไทย เพื่อไปรับตำแหน่งใหม่ที่ญี่ปุ่น 1 เมษายนนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งผู้บริหารญี่ปุ่นที่เข้ามาพัฒนาฐานผลิตไทยให้แข็งแรงยิ่งขึ้นตลอด 3 ปีที่ผ่านมา จน MCP เป็นหนุ่มเต็มตัว เขามองทิศทางจากนี้ไปและการเตรียมพร้อมรับมือตลาดเครื่องปรับอากาศโลกที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดตามสภาพภูมิอากาศที่แปรปวน โดยเฉพาะแผนขยายกำลังผลิตเพื่อรองรับตลาดเอเชียและสหภาพยุโรป โดยไทยเป็นแหล่งผลิต เครื่องปรับอากาศ "มิตซูบิชิ" ที่สำคัญ

 แผนธุรกิจเครื่องปรับอากาศในไทย

ประธาน MCP กล่าวถึงแผนธุรกิจในไทยว่า บริษัทแม่ (บ.มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น)มีเป้าหมายให้ฐานการผลิตเครื่องปรับอากาศในประเทศไทยเป็นฐานผลิตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย ดูจากการลงทุนครั้งล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว ที่เปิดโรงงานสาขาแห่งที่ 2 ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครเฟสที่10 ตั้งเป็นศูนย์โลจิสติกส์ ขนาด 330 คูณ 160 เมตร เป็นอาคาร 2 ชั้น จากที่โรงงานผลิตแห่งแรกอยู่ในพื้นที่เฟส 4 ในนิคมอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยศูนย์โลจิสติกส์แห่งนี้จะเก็บวัตถุดิบ และสินค้าที่ผลิตออกมาจากโรงงานแห่งแรก

ในปลายปีนี้มีโครงการปรับปรุงศูนย์โลจิสติกส์ เป็นฐานการผลิตอีกแห่งโดยนำส่วนขยายทั้งหมดมาผลิตที่นี่ ก็จะทำให้ในปี 2559 จะมีเครื่องปรับอากาศที่ผลิตได้จากโรงงานในเฟส4 อยู่แล้วจำนวน 4.3 ล้านเครื่องต่อปีจะเพิ่มเป็นมากกว่า 5 ล้านเครื่องต่อปี เปรียบเทียบกับปี2557 ที่มีกำลังผลิตเครื่องปรับอากาศอยู่ที่4.1ล้านเครื่องต่อปี มียอดขายราว 3.94 หมื่นล้านบาท ปี2558 ที่กำลังจะปิดงบปลายเดือนมีนาคมนี้ มีกำลังผลิตเครื่องปรับอากาศเกิน 4.3 ล้านเครื่องต่อปี และคาดการณ์ว่าจะมียอดขายรวมอยู่ที่ 4.20 หมื่นล้านบาท เป็นปีที่มีกำไรและรายได้ดีที่สุดในรอบ 26 ปีนับจากที่ตั้งโรงงานในประเทศไทยมา

นอกจากนี้ยังคาดการณ์อีกว่าในปี2559 บริษัทจะมีกำลังการผลิตเครื่องปรับอากาศเกิน 5 ล้านเครื่องต่อปี และในปี2561 ตั้งเป้าว่ายอดการผลิตเครื่องปรับอากาศ"มิตซูบิชิ"ในประเทศไทยจะขยายตัวสูงถึง 7 ล้านเครื่องต่อปี

"ส่วนขยายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในปี2559 เป็นต้นไปจะใช้โรงงานสาขาแห่งที่ 2 ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครเฟสที่10 เป็นฐานการผลิต เพราะมีเนื้อที่รองรับมากถึง 140 ไร่ ใหญ่กว่าแห่งแรกในเฟส 4 ที่มีพื้นที่รองรับ 110 ไร่"

 ตลาดยุโรป/เอเชียขยายแรง

การขยายกำลังผลิตเครื่องปรับอากาศในประเทศไทยที่เติบต่อต่อเนื่องทุกปี เกิดจากที่ตลาดเครื่องปรับอากาศในสหภาพยุโรปขยายตัวแรงมาก หลังจากปีที่ผ่านมาต้องเผชิญกับภาวะอากาศร้อนจัด โดยในสัดส่วนส่งออก80%ของกำลังผลิตจะผลิตป้อนในโซนสหภาพยุโรป20% สะท้อนให้เห็นว่าการขยายตัวดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับเศรษฐกิจยุโรปที่ซบเซา แต่ขยายตัวเพราะสภาพอากาศที่ร้อนจัด นอกจากนี้ในตลาดยุโรปก็มีสต๊อกสินค้าลดลง จึงต้องเร่งออร์เดอร์ใหม่เข้าไปทดแทนมากขึ้น และมั่นใจว่าในปี2559 นี้ ออร์เดอร์เครื่องปรับอากาศจากยุโรปจะมากขึ้นจากปีที่ผ่านมาอีก

"เราเห็นจากประสบการณ์เมื่อครึ่งปีแรกปีที่แล้ว ที่มีออร์เดอร์น้อยมาก แต่พอเดือนกรกฎาคมออร์เดอร์กลับพุ่งกระฉูด แสดงว่ายุโรปยังต้องการเครื่องปรับอากาศอีกมากในช่วงสั้นๆ"

นอกจากนี้ในตลาดเอเชียจะเป็นตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงมาก ซึ่งขณะนี้เครื่องปรับอากาศมิตซูบิชิที่ผลิตในไทยจะส่งออกไปตลาดเอเชียในสัดส่วน 50% ของปริมาณส่งออกทั้งหมด 80% โดยตลาดเอเชียในที่นี้จะประกอบด้วย 10 ประเทศในอาเซียน อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ที่มีการเติบโตต่อเนื่อง เมื่อ10ปีก่อนเราส่งออกไปตลาดยุโรสัดส่วน 50% ของการส่งออกทั้งหมด ตอนนี้ลดสัดส่วนลงมาเหลือ 20% หลังจากที่เงินยูโรอ่อนค่าลง และหันมารุกในตลาดเอเชียมากขึ้น เพราะเชื่อว่าในระยะยาวเศรษฐกิจเอเชียจะดีขึ้นแน่นอน แม้อัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นปัจจัยเสี่ยง แต่เรามีตลาดส่งออก 142 ประเทศ ที่ทดแทนกันได้ระหว่างบางตลาดที่มีปัญหา ขณะที่บางตลาดก็ไม่มีปัจจัยเสี่ยง

ทั้งนี้จากที่ก่อนหน้านี้ไปตั้งบริษัทขายในอินโดนีเซียและเวียดนาม รวมถึงอินเดียพบว่าตลาดขานรับดีมาก ขณะที่การไปตั้งฐานการผลิตที่เม็กซิโกก็กำลังขยับตัวได้ดี โดยมีเป้าหมายส่งไปขายในอเมริกา มีขนาดกำลังผลิต3 แสนเครื่องต่อปี อย่างไรก็ตามหากตลาดเอเชียรวม 10 ประเทศในอาเซียน มีการขยายตัวเร็วขึ้น อาจต้องมาปรับสัดส่วนการขายใหม่ จากที่ผลิตเพื่อส่งออก 80% และ20% ขายในประเทศ สัดส่วนขายในประเทศอาจจะปรับลดลงอีก

ปัจจุบัน บริษัทจะผลิตเครื่องปรับอากาศตั้งแต่ ขนาด 9,000 บีทียู(1แรงม้าหรือ1HPถึง 491,300 บีทียู(54แรงม้าหรือ54HP) แบ่งเป็นผลิตเครื่องปรับอากาศในครัวเรือน 80% ที่ครองตลาดเป็นอันดับ 1 อยู่ในขณะนี้ ส่วน 20% จะผลิตเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม ห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้าขนาดใหญ่ โรงภาพยนตร์ เป็นต้น กลุ่มหลังนี้ก็มีการเติบโตอย่างน่าสนใจ เพราะใช้เทคโนโลยีระดับสูง โดยบริษัทสร้างศูนย์อบรมเองโดยวิศวกรญี่ปุ่นเข้ามาถ่ายทอดและอบรมให้
-ฉลอง 100 ปีที่ยอดขาย 1.55 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตามขณะนี้บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอร์ปอเรชั่นฯ ประเทศญี่ปุ่นและบริษัทในเครือที่ลงทุนทั่วโลกในธุรกิจ ลิฟต์ เครื่องปรับอากาศ ดาวเทียม ชิ้นส่วนรถยนต์ ฯลฯ มียอดขายรวม 4 ล้านล้านเยน หรือ 1.24 ล้านล้านบาท (คำนวนจาก100เยนเท่ากับ31.06บาท) และในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่มีอายุครบ 100 ปีที่ก่อตั้งบริษัทแม่มา จะมียอดขายเติบโตรวมทั้งเครือทั่วโลกถึง 5 ล้านล้านเยน หรือ 1.55 ล้านล้านบาท โดยรายได้หลักมาจากกลุ่มเครื่องปรับอากาศ และฐานการผลิตในไทยจะมีขนาดกำลังผลิตมากที่สุดเมื่อเทียบกับฐานอื่น แต่ถ้ามองในแง่ยอดขายต่อปีฐานผลิตที่ญี่ปุ่นจะมีมูลค่าสูงสุด เพราะเน้นที่สินค้ากลุ่มไฮเอนด์ทั้งหมด

จากความสำเร็จเหล่านี้ล้วนมาจากที่เครื่องปรับอากาศ "มิตซูบิชิ" มีการคิดค้น ปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเดือนมกราคม ที่ผ่านมาเพิ่งเปิดตัวเครื่องปรับอากาศ มิตซูบิชิ อีเล็คทริค มิสเตอร์สลิม คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด "Dual Barrier Coating" ช่วยให้เครื่องปรับอากาศทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วยการเคลือบของสารพิเศษที่ชิ้นส่วนหลักภายในเครื่องปรับอากาศ เพื่อลดการเกาะติดของฝุ่น ละอองน้ำมัน ลดการสะสมของสิ่งสกปรกซึ่งเป็นต้นเหตุของกลิ่นอับชื้น และช่วยลดภาระการล้างเครื่องปรับอากาศบ่อยครั้ง พร้อมสารทำความเย็นใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,141 วันที่ 20 - 23 มีนาคม พ.ศ. 2559