นักวิชาการเตือน วิธีการรับมือกับโลกยุค4.0

23 ก.พ. 2562 | 04:30 น.
เมื่อวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สมาคมนักเรียนไทยในสหราชอาณาจักรในพระบรมราชูปถัมภ์ และนักเรียนไทยในภาคพื้นยุโรปร่วมกันจัดงานประชุมทางวิชาการ (Academic Conference) ครั้งที่ 11 ขึ้น ณ กรุงลอนดอน ซึ่งงานนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินการประกวดงานวิจัยและมีโอกาสได้ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ซึ่งมีนักวิชาการจากหลายหน่วยงานเข้าร่วม ทำให้ได้มีโอกาสรับฟังงานวิชาการรวมถึงแนวคิดและวิธีการรับมือกับโลกในยุค 4.0 ด้วย จึงอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟังดังนี้

มาร์ค1

ในส่วนของการประกวดงานวิจัยผู้เสนอผลงานโดยส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอก ที่มาจากทั้งในสหราชอาณาจักร และอีกหลายประเทศในภาคพื้นยุโรป ซึ่งแน่นอนว่างานส่วนใหญ่เมื่อเป็นผลมาจากการวิจัยในระดับปริญญาเอก จึงเป็นผลงานวิชาการที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่

มาร์ค2

และเมื่อผู้เขียนได้รับฟังงานวิจัยในหัวข้อต่างๆ ทำให้รู้สึกมีความหวังกับบุคลากรที่จะเป็นอนาคตของชาติต่อไป ผลการประกวดมีผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศในงานสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้ทั้งสิ้นรวม 5 คน จาก 4 สาขา ประกอบไปด้วย นายระพีพัฒน์ ตัณฑวณิช จาก University of Glasgow ในสาขา Medical and Pure Sciences ผศ.วไลพรรณ ปึงพิพัฒน์ตระกูล จาก University of Birmingham ในสาขา Behavioural and Social Sciences นายพิศักดิ์ เจิมประยงค์ จาก Imperial College London นางสาวสุรัสวดี ภูมิพานิช ในสาขา Engineering and Technology และ นายตะวัน มานะกุล จาก University of Manchester ในสาขา Economics, Business, Finance, Political Sciences  and Law ซึ่งมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดกว่า 50 ชิ้น

โดยผลงานที่นำเสนอส่วนใหญ่สามารถนำไปต่อยอดเพื่อที่จะใช้ในการพัฒนาประเทศทั้งทางด้านอุตสาหกรรม การแพทย์ เศรษฐกิจ การเงินและสังคมได้

นอกจากการประกวดผลงานวิชาการดังกล่าวแล้ว ในงานยังมี นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมปาฐกถาในการสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้ด้วย

นอกจากนี้ในช่วงเสวนาตอนท้าย ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านประกอบไปด้วย นพ.สุวิทย์ วิบูลย์ผลประเสริฐ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุขทางด้านสุขภาพโลก ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการ BIOTEC ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบัน วิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และ คุณอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทไลน์ ประเทศไทยฯ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนทรรศนะในหัวข้อ “Dare to Disrupt and Develop Towards Being the World’s Lead”

ดร.สมเกียรติ ประธาน TDRI ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เทคโนโลยียุค 4.0 จะกระทบกับภาคแรงงานในหลายส่วน โดยแบ่งเป็น ธุรกิจที่มีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบ “แรงมาก” คือ ธุรกิจพลังงาน ขนส่ง สื่อบันเทิง โทรคมนาคม และเทคโนโลยี ส่วนที่อาจได้รับผลกระทบ “แรง” ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว สุขภาพ การเงิน อุตสาหกรรม ค้าปลีก และการบริการ

มาร์ค4

และส่วนที่ได้รับผลกระทบ “น้อยที่สุด” คือ บริการภาครัฐและการศึกษา ซึ่งในธุรกิจหลายประเภทอาจมีการนำหุ่นยนต์เข้าทำงานแทนแรงงานมนุษย์ หรือที่เรียกว่า Robotic Process Automation ซึ่งจากการวิจัยพบว่า การนำหุ่นยนต์มาทำงานแทนมนุษย์นั้น สามารถทำงานได้เร็วขึ้น 36 เท่า มีความถูกต้องถึง 96%

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ดร. สมเกียรติ ได้ตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า งานที่คอมพิวเตอร์ยังเอาชนะไม่ได้มี 3 ประเภทหลัก นั่นคือ 1. งานที่เน้นประสาทสัมผัส (hand) 2. งานที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ (head) และ 3. งานที่เน้นความฉลาดทางสังคม (heart) ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้สามารถนำไปพัฒนาให้เป็นทำธุรกิจในยุค 4.0 ในสูตร 3 C นั่นก็คือ Craft economy, Creative economy และ Care economy

อาจกล่าวได้ว่าจริงๆ แล้วเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงนั้น นำมาทั้งโอกาสและความเสี่ยงต่อการพัฒนาประเทศ ขึ้นอยู่กับคนไทยว่าจะเตรียมตัวรับมืออย่างไรเพื่อพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส

นอกจากนี้ ดร.สมวงษ์ ผู้อำนวยการ BIOTEC ได้เสนอให้เห็นสิ่งที่ BIOTEC ให้ความสำคัญและมุ่งพัฒนา ซึ่งประกอบไปด้วยเรื่อง อาหารเพื่ออนาคต การแพทย์และสาธารณสุขชั้น แนวหน้า พลังงานแห่งอนาคต และนวัตกรรมเพื่อป้องกันภัยคุกคามและความเสี่ยงในอนาคต

มาร์ค3

นอกจากนี้ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศไทยมีโอกาสพัฒนาเป็นผู้นำในระดับโลกเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาสมุนไพรไทย แต่ดูเหมือนในเวทีเสวนาครั้งนี้วิทยากรเกือบทุกท่านได้ตั้งประเด็นเรื่องการที่คนไทยขาดทักษะทางด้านภาษาอังกฤษ ซึ่งจะส่งผลต่อการรับมือการเปลี่ยนแปลงในโลกยุค 4.0 แม้ว่านักศึกษาที่เข้าร่วมการสัมมนาทางวิชาการในครั้งนี้จะมีความรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี

แต่ต้องยอมรับว่าปัญหาเรื่องการศึกษาของไทย ที่ยังอยู่อันดับที่ 8 ของ ASEAN และมีประชากรที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้เพียง 10% ของประชากรทั้งประเทศ นอกจากจะเป็นปัญหาต่อการรับมือในโลกยุคใหม่แล้ว ยังเป็นปัญหาต่อการพัฒนาประเทศอีกด้วย

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรจะรื้อระบบการศึกษาของบ้านเรา เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยได้เติบโตเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเพื่อที่จะใช้ชีวิตได้ทันต่อการแปลงเปลี่ยนแบบก้าวกระโดดของโลกในยุคปัจจุบันและอนาคต

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3447 ระหว่างวันที่ 24 - 27 กุมภาพันธ์ 2562

รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย

โดย มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

ปัจจุบัน ศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่ University of Kent (United Kingdom) สาขากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศ

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว