อยากประหยัดก็เชิญนะจ๊ะ ร้านจำหน่ายสินค้าหมดอายุ

23 มี.ค. 2559 | 07:00 น.
ใครๆ ก็ชอบของถูก ถ้าถูกและดีก็ยิ่งน่าซื้อ ไม่ต้องคิดเยอะ แต่ถ้าถูกและหมดอายุ อืม...อันนี้ต้องคิดนิดนึง

[caption id="attachment_39886" align="aligncenter" width="500"] ซังเคอิ ซูเปอร์ ซังเคอิ ซูเปอร์[/caption]

"ซังเคอิ ซูเปอร์" เป็นชื่อร้านค้าปลีกแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ปกติร้านค้าแห่งนี้ก็มีกลยุทธ์จำหน่ายสินค้าราคาย่อมเยาอยู่แล้ว แต่ที่แปลกและไม่มีใครเหมือน

เห็นจะเป็นกลยุทธ์จำหน่ายสินค้ายอดจะถูก หรือซูเปอร์ถูก เพราะมันเป็นสินค้าหมดอายุ!

อ้าว...แล้วจะขายได้เหรอ? เชื่อว่าหลายคนคงอยากจะรู้คำตอบ เพราะจะว่าไป เวลาที่ร้านค้านำสินค้ามาขายแบบถล่มราคา ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นสินค้าตกรุ่น สินค้ามีตำหนิ หรือสินค้าตกฤดูกาล แต่ก็ยังไม่เคยมีใครเอาสินค้าหมดอายุมาเป็นจุดขายเพื่อหั่นราคา

[caption id="attachment_39885" align="aligncenter" width="500"] ซังเคอิ ซูเปอร์ สินค้าหมดอายุ ซังเคอิ ซูเปอร์ สินค้าหมดอายุ[/caption]

สินค้าหมดอายุที่ซังเคอิ ซูเปอร์ นำมาจำหน่าย เป็นสินค้าเลยวันที่ซึ่งระบุว่า "Best Before" บนฉลาก ซึ่งหมายถึงควรบริโภคก่อนวันที่ระบุไว้บนฉลากจึงจะได้คุณภาพดีที่สุดหรือรสชาติอร่อยที่สุด คำว่าหมดอายุจึงเป็นเพียงความหมายทางเทคนิค เมื่อสินค้าชิ้นไหนยังอยู่บนชั้นวางจำหน่ายเกินวันที่ระบุว่า "Best Before" หรือ "ควรบริโภคก่อน...." ทางร้านก็จะนำมาไว้ที่มุมพิเศษมีป้ายเขียนติดไว้ชัดเจนว่า "น่าเสียดายจัง" (ถ้าต้องทิ้ง) พร้อมกับหั่นราคาลงมากกว่าครึ่ง ซึ่งก็ถูกอกถูกใจบรรดานักช็อปหรือลูกค้าที่มีรายได้ไม่มากนักและพร้อมจะเสี่ยง ซึ่งอันที่จริงสินค้าเหล่านี้มักยังบริโภคได้โดยไม่มีอันตรายอะไรหากเลยวันที่กำหนดบนฉลากไปวันสองวัน หรือบางประเภท เช่น อาหารกระป๋องหรือของแห้งก็อาจเลยวันที่ระบุในฉลากเป็นสัปดาห์

ผู้บริหารของร้านค้าแห่งนี้ยอมรับว่า เหตุจูงใจที่ทำให้นำกลยุทธ์ดังกล่าวมาใช้เพราะเห็นว่าผลิตภัณฑ์จำนวนมากยังมีคุณภาพดีอยู่แม้จะเลยวันที่ระบุบนฉลากมาแล้ว แต่เมื่อไม่มีใครซื้อก็กลายเป็นขยะไร้ประโยชน์ ซึ่งเขามองว่าเป็นการสูญเปล่าและสร้างขยะจำนวนมากมายในแต่ละวัน ดังนั้นการนำมาจำหน่ายในราคาถูกมากๆ เช่น ชิ้นละไม่ถึง 30 เยน มันแทบจะไม่ได้กำไรอะไรอยู่แล้ว แต่ก็ทำให้สินค้านั้นไม่กลายไปเป็นขยะ และทางร้านก็รับประกันว่าทุกชิ้นเป็นสินค้าที่บริโภคได้โดยไม่ทำให้ลูกค้าเจ็บป่วยหรือท้องเสีย

การจำหน่ายสินค้าหมดอายุแบบเปิดเผยชัดเจนอย่างร้านซังเคอิ ซูเปอร์ นับเป็นการบอกกล่าวให้ลูกค้ารู้กันไปเลย จะซื้อหรือไม่แล้วแต่วิจารณญาณของลูกค้า นับว่าน่ารักและซื่อสัตย์กว่าหลายร้านที่เราเคยพบเจอเป็นไหนๆ ประเภทถังสังฆทานใส่สินค้าหมดอายุห่อไว้ไม่ให้ลูกค้าเห็น หรือจัดกระเช้าปีใหม่มีสินค้าหมดอายุปะปนมาด้วย แบบนี้นอกจากไม่น่าอุดหนุนแล้ว ยังต้องมีบทลงโทษให้สาสม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,141 วันที่ 20 - 23 มีนาคม พ.ศ. 2559