วังวนแห่งความขัดแย้ง ก่อนสึนามิ Brexit

16 ก.พ. 2562 | 04:30 น.
 

หลังจากที่ นายกฯเทเรซา เมย์ ของอังกฤษได้กลับจากการเยือน EU ได้มีการแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งดูเหมือนว่าการเจรจาไม่ได้มีความคืบหน้าอย่างที่หวังเอาไว้แต่อย่างใด และดูเหมือนเรื่องนี้จะกลายเป็นวังวนทั้งปัญหาระหว่าง EU กับ UK และปัญหาความเห็นที่ไม่ลงรอยกันระหว่างแนวนโยบายที่รัฐบาลกำลังดำเนินการกับสิ่งที่ฝ่ายค้านต้องการให้เกิดขึ้น ดังนั้นบทความฉบับนี้จะมาวิเคราะห์ถึงปัญหาและผลกระทบของวังวนทั้ง 2 เรื่องนี้ที่อาจนำไปสู่การเป็นสึนามิ Brexit

วังวนแรกคือ นายกฯเมย์ ยังคงชี้แจงเพื่อที่จะสร้างความมั่นใจให้กับสมาชิกสภา โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลพยายามจะพูดคุยและเจรจากับทั้งประธานของสภายุโรป (President of the European Parliament) และประธานของคณะกรรมการสหภาพยุโรป (President of the European Commission) ซึ่งทั้ง 2 คนได้แสดงท่าทีและแถลงอย่างชัดเจนแล้วสหภาพยุโรปจะไม่กลับเข้าสู่โต๊ะเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงกับ UK เกี่ยวกับเรื่องการแยกตัวออกจาก EU (Withdraw Agreement) อีกอย่างแน่นอน

และอย่างที่ทราบกันว่าข้อตกลงที่ UK เคยทำกับ EU ที่ได้เสนอต่อสภาไปแล้วนั้น ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภา ของ UK ดังนั้นเมื่อข้อตกลงที่มีนั้นใช้ไม่ได้ การจะเข้าเจรจาใหม่ EU ก็ไม่เอาด้วยเสียแล้ว การแถลง การณ์ดังกล่าวของรัฐบาลจึงเป็นเสมือนการซื้อเวลาออกไปเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าประเด็นนี้รัฐบาลถูกถล่มด้วยคำถามจำนวนมากจากสมาชิกสภา ถึงการทบทวนเพื่อให้มีการขอขยายระยะเวลาการแยกตัวออกไป แต่นายกฯเมย์กลับตอบว่า การขอขยายระยะเวลาไม่ใช่วิธีในการแก้ปัญหาแต่เป็นการเลื่อนการเผชิญกับปัญหานี้ออกไปเท่านั้น

TP7-3445-A

ซึ่งประเด็นนี้ผู้เขียนเห็นว่า สิ่งที่สมาชิกสภาจำนวนมากได้ตั้งข้อสังเกตในประเด็นดังกล่าว เป็นเรื่องที่นายกฯเมย์ ควรรับฟัง เพราะภายใต้ระยะเวลาที่เหลือก่อนครบกำหนดการแยกตัวเพียง 45 วันนี้ ประกอบกับความไม่ชัดเจนถึงผลกระทบที่สภา จะให้การรับรองข้อตกลงที่รัฐบาลเสนอว่าจะมีผลดีผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศมากน้อยเพียงใด

การขยายระยะเวลาออกไปจะทำให้อย่างน้อยรัฐบาลและสภา ยังมีเวลาที่จะหาหนทางเพื่อร่วมมือกันบรรเทาผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นอันมีผลมาจากการปฏิบัติตามประชามติของประชาชนที่ประสงค์จะแยกตัวจาก EU ดีกว่าที่จะเดินหน้าเข้าหาวิกฤติในอีก 45 วันข้างหน้านี้ภายใต้ความวิตกของภาคธุรกิจและประชาชนทั้งประเทศ

วังวนที่ 2 คือ ในขณะที่รัฐบาลดำเนินการเพื่อให้การแยกตัวเป็นไปแบบเด็ดขาด รวมถึงการให้ประเทศมีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องภาษีศุลกากรของตัวเอง โดยไม่เป็นสมาชิกของ Custom Union ของ EU อีกต่อไป

หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านอย่าง นายเจเรมี คอร์บิน ได้แถลงว่าการที่ UK จะแยกตัวออกจาก Custom Union จะนำพามาซึ่งหายนะต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเรื่องนี้จะเกิดขึ้นแน่นอนหากรัฐบาลยังคงจะดำเนินการอย่างที่ทำอยู่ จุดนี้เห็นได้ชัดว่าพรรคฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล และต้องไม่ลืมว่าข้อตกลงในครั้งที่แล้วที่รัฐบาลได้เสนอต่อสภา สมาชิกของพรรครัฐบาลเองก็ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลถึง 118 เสียง ทำให้ข้อเสนอของรัฐบาลแพ้ไปอย่างไม่เป็นท่า

จนถึงตอนนี้วังวนแห่งความขัดแย้งนี้ก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไป มีความเป็นไปได้สูงว่าการโหวตเกี่ยวกับเรื่องข้อตกลงที่รัฐบาลจะเสนอต่อสภา ก็มีสิทธิที่จะแพ้อีกเช่นเคย

ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่นายกฯเมย์ ได้เตรียมการไว้ โดยได้แถลงต่อสภาว่า ในระหว่างนี้รัฐบาลจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อจะได้ข้อตกลงที่สภา ต้องการ (ซึ่งน่าจะเป็นไปไม่ได้อย่างที่ได้วิเคราะห์ไว้แล้วข้างต้น) แต่เมื่อถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ แล้วข้อตกลงที่มีอยู่ตอนนั้นมีความเป็นไปได้ที่สภา จะไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของรัฐบาล ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ รัฐบาลจะเปิดให้สภา ลงมติต่อกระบวนการแก้ไขปัญหานี้อีกครั้ง

ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนมองว่าภายใต้กำหนดเงื่อนเวลาดังกล่าว แม้สภาจะไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาล สภาจะเหลือเวลาในการแก้ปัญหานี้เพียง 1 เดือนเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาใหญ่ขนาดนี้ได้ภายในระยะเวลาอันจำกัด ดูเหมือนว่ากลยุทธ์นี้เป็นการที่รัฐบาลใช้ความเสียหายและผล กระทบทางเศรษฐกิจหากสภาไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของรัฐบาลมาบีบให้สมาชิกสภา เห็นด้วยกับสิ่งที่รัฐบาลจะเสนอ

เพราะมิเช่นนั้นการแยกตัวออกจาก EU จะเป็นไปแบบไม่มีข้อตกลงซึ่งแน่นอนว่าจะนำมาสู่วิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ เพราะหากพรรคฝ่ายค้านชนะในการล้มข้อเสนอของรัฐบาลเช่นเดียวกับครั้งที่ผ่านมา รัฐบาลก็จะสามารถโจมตีฝ่ายค้านในการเลือกตั้งในครั้งต่อไปได้ว่า หายนะที่เกิดขึ้นกับประเทศเป็นเพราะฝ่ายค้านเป็นต้นเหตุที่ทำให้ข้อเสนอที่รัฐบาลพยายามทำร่วมกับ EU มากว่า 30 เดือนไม่ได้รับ ความเห็นชอบจากสภา จนทำให้ประเทศต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่

หากวิเคราะห์หมากที่รัฐบาลเดินอยู่ตอนนี้ ดูเหมือนรัฐบาลกำลังเล่นเกมทางการเมืองมากกว่าการร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาครั้งสำคัญของประเทศ ภายใต้ระยะเวลาอันจำกัดที่การดำเนินการทุกอย่างจะมีผลต่อความเสียหายและความมั่นคงของประเทศ รัฐบาลควรต้องเปิดใจรับฟังโดยเฉพาะประเด็นข้อเรียกร้องที่จะให้มีการขยายระยะเวลาการแยกตัวจาก EU ออกไปเป็นเดือนธันวาคม 2020 ก่อน เพราะอย่างน้อยที่สุดระยะเวลาที่ได้เพิ่มขึ้นมาก็จะช่วยให้รัฐบาลและสภา ได้มีโอกาสร่วมกันคิดร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ได้ดีขึ้น

ซึ่งดีกว่าการที่จะต้องไปเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนใน 45 วันข้างหน้านี้ เพราะถ้าหากข้อตกลงที่รัฐบาลเสนอไม่ผ่านสภาจริงๆ และการแยกตัวต้องเป็นไปแบบไม่มีข้อตกลง สึนามิทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่จะก่อตัวและไล่ถล่มเศรษฐกิจทั่วทุกภูมิภาคของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน

รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย

โดย มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปัจจุบัน ศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่ University of Kent (United Kingdom) สาขากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศ

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3445 ระหว่างวันที่ 17 - 20 กุมภาพันธ์ 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว