"ทูน่าไทย" สร้างสถิติใหม่ โตแสนล้านปีแรก ยึดแชมป์โลกยาว

15 ก.พ. 2562 | 05:08 น.
อุตสาหกรรมทูน่าคึก มั่นใจปี 2562 สร้างสถิติใหม่ โต 1 แสนล้านบาท นำเข้าปลาวัตถุดิบมากสุดเป็นประวัติการณ์ หลังคู่แข่งจีน-ปาปัวนิวกินีเจอสกัดดาวรุ่ง บิ๊กวงการแข่งผลิตสินค้านวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่ม ทิ้งคู่แข่ง

อุตสาหกรรมทูน่าไทยยังครองอันดับ 1 ของโลก ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ทั้งในแง่การผลิตและการส่งออก ซึ่งแม้ไทยจะไม่มีกองเรือจับปลาทูน่าเป็นของตัวเอง แต่ไทยเป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบปลาทูน่าและมีศักยภาพในการแปรรูปส่งออกรายใหญ่สุดของโลกมานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่ยังต้องเผชิญความผันผวนของราคาวัตถุดิบที่มีผลต่อราคาสินค้าและยอดส่งออกทุกปี นอกจากนี้ ยังถูกเพ่งเล็งด้านแรงงานและการทำประมงผิดกฎหมาย ที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกีดกันการค้าจากประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่าง สหภาพยุโรป อย่างไรก็ดี ในรอบปี 2561 การผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าของไทยก็ยังไปได้ดี ปีนี้ยังมีทิศทางที่สดใส

นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย เผยในการให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในปี 2561 ไทยสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่า รวมถึงอาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากปลา ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน และปลาแมคเคอเรล ปริมาณรวม 6.8 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8% และด้านมูลค่าที่ 9.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6% ปัจจัยหลักจากราคาวัตถุดิบนำเข้าค่อนข้างมีเสถียรภาพ ขึ้น-ลงไม่หวือหวา ระหว่าง 1,200-1,800 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน หรือเฉลี่ยทั้งปีที่ 1,550 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน จากปี 2560 ระหว่าง 1,200-2,400 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน หรือเฉลี่ยทั้งปี 1,800 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน


TP13-3444-A-new

"ราคาวัตถุดิบที่เฉลี่ยไม่แพงเกินไปและไม่ผันผวนมากในปีที่แล้ว ทำให้ราคาสินค้าต่อหน่วยไม่สูงเกินไป ค้าขายง่ายขึ้น ผู้ซื้อพอใจ สามารถทำโปรโมชันส่งเสริมการขายได้ ภาพรวมไทยส่งออกไปกว่า 200 ประเทศ ตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ ตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น และอีเมอร์จิ้งมาร์เก็ตขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาด ยกเว้น ตลาดสหภาพยุโรป (อียู) ที่ติดลบ จากไทยเสียเปรียบคู่แข่งขันต้องเสียภาษีนำเข้า 24% ขณะที่ ปาปัวนิวกินี เอกวาดอร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ได้สิทธิพิเศษภาษีนำเข้า 0% รวมถึงปีที่ผ่านมา ไทยยังติดใบเหลืองไอยูยู แต่มองว่า ไม่กระทบมาก เพราะสัดส่วนส่งออกไปตลาดนี้ของไทย 5-6% เท่านั้น"

สำหรับในปี 2562 นี้ มีหลายปัจจัยบวกที่ส่งผลดีกับอุตสาหกรรม ได้แก่ ในปีที่ผ่านมา ไทยถูกยกระดับขึ้นเป็น Tier 2 ในรายงานการค้ามนุษย์ประจำปีของสหรัฐฯ ล่าสุด เดือน ม.ค. ปีนี้ อียูได้ปลดใบเหลืองไอยูยูเป็นใบเขียวให้กับประเทศไทยแล้ว ทำให้สินค้าประมงของไทยมีภาพลักษณ์ที่ดี นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ เฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกสมาคม 25 บริษัท ซึ่งคิดเป็น 95% ของการผลิตและส่งออกในภาพรวม ได้มีการลงทุนวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อยกระดับนวัตกรรมการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม มีการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ร่วมกับคู่ค้า มีการนำเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติมาใช้แทนแรงงานคน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้นและมากขึ้น


บาร์ไลน์ฐาน

ขณะที่ สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ทำให้สินค้าทูน่าจากจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในคู่แข่งสินค้าไทย ถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น จากเดิมเสีย 12% เท่ากับไทย เพิ่มอีก 10% เป็น 22% ปาปัวนิวกินีหนึ่งในคู่แข่งไทยเร่งขยายการลงทุน แต่ติดปัญหาเรื่องคนและสาธารณูปโภคที่ไม่พร้อม ซึ่งจะทำให้วัตถุดิบปลาทูน่าไหลมาที่ไทยมากขึ้น คาดปีนี้จะมีการนำเข้า 8.5-9 แสนตัน มากสุดเป็นประวัติการณ์ จากในอดีตไทยไม่เคยนำเข้าเกิน 8.5 แสนตัน หรือถึง 9 แสนตัน

"การส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าของไทยปีนี้ ด้านมูลค่าคาดจะขยายตัวได้ 5-10% ส่วนด้านปริมาณที่ 10% ความสามารถในการทำกำไรสุทธิของผู้ประกอบการน่าจะดีขึ้นเฉลี่ยที่ 5-7% จากปีที่แล้วเฉลี่ยที่ 3-5% เมื่อรวมกับตลาดในประเทศอีกประมาณ 7-8 พันล้านต่อปี ปีนี้มูลค่าอุตสาหกรรมทูน่าจะแตะ 1 แสนล้านบาทเป็นปีแรก ส่วนปัจจัยลบมีตัวเดียว คือ เงินบาทที่แข็งค่ามากสุดในโลกกระทบความสามารถในการแข่งขัน แต่ยังโชคดีวัตถุดิบทูน่าส่วนใหญ่นำเข้าทำให้บาลานซ์ความเสี่ยงได้ ไม่กระทบมากเหมือนสินค้าเกษตรและอาหารส่งออกอื่น ๆ

หน้า13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,444 วันที่  14 - 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

595959859