ยูโอบี ดึงSMEsติวเข้ม3เดือน

09 ก.พ. 2562 | 10:56 น.
ยูโอบี เตรียมดึงเจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอี เข้าคอร์สติวเข้ม 3 เดือน ผ่านโครงการ “The FinLab” ยกระดับธุรกิจ แก้ปัญหา พร้อมดึงพันธมิตรเทคโนโลยีทั่วโลกจับคู่ธุรกิจ เบื้องต้นคัด 15 แห่ง รายได้รวมไม่เกิน 1 พันล้านบาท จากฐานลูกค้าเอสเอ็มอีที่มีอยู่ 5 หมื่นราย มั่นใจช่วยเพิ่มทางเลือกให้เจ้าของธุรกิจ

นายเจมส์ รามา ปัทมินทรวิภาส ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือข่ายสาขาและบริการดิจิทัล ธนาคารยูโอบีเปิดเผยว่า ธนาคารเปิดโครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัพภายใต้ชื่อ “The FinLab” หรือ “Smart Business Transformation” Program เพื่อให้ลูกค้าหรือเจ้าของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)เข้าร่วมอบรมเพื่อทำโปรเจ็กต์ซึ่งจะหยิบปัญหาที่เกิดขึ้นของธุรกิจและใช้เครือข่ายที่มีอยู่ของธนาคารเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งโปรแกรมนี้เริ่มทำไปแล้วที่สิงคโปร์และจะนำมาใช้ในไทย

เบื้องต้น ธนาคารจะคัดเลือกธุรกิจเอสเอ็มอี 15 ธุรกิจ ที่มีรายได้ประมาณ 25-1,000 ล้านบาท จากปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้าเอสเอ็มอีจำนวน 5 หมื่นราย จากฐานลูกค้ารวมทั้งหมดที่มี 2 ล้านราย ซึ่งในจำนวน 15 บริษัท จะเน้นระดับผู้บริหาร (Senior) องค์กรนั้นๆ เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกจะต้องเข้าคอร์สที่เข้มข้นในระยะเวลา 3 เดือน ในการทำโปรเจ็กต์ขึ้นมา โดยนำปัญหาที่เจอในธุรกิจตัวเองมาหาวิธีแก้ไข ผ่านการเลือกลักษณะของเทคโนโลยีที่ต้องการมาช่วยแก้ปัญหานั้นๆ ซึ่งแต่ละธุรกิจจะพบปัญหาที่ต่างกัน โดยธนาคารจะให้เครือข่ายพันธมิตรด้านเทคโนโลยี (Technology Owner) ของธนาคารที่อยู่ทั่วโลกและต้องการเข้ามาขยายตลาดในไทยมาจับคู่กับเจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีที่สามารถตอบโจทย์กันได้ และธนาคารจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการจับคู่ระหว่างลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอีของธนาคารและพันธมิตรด้านเทคโนโลยีที่อยู่ในเครือข่ายธนาคารเพื่อสนับสนุนและแก้ปัญหาธุรกิจเอสเอ็มอี

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

ทั้งนี้ โปรเจ็กต์ดังกล่าวจะต้องเห็นผลสัมฤทธิ์ทางธุรกิจอย่างแท้จริง เพื่อดูว่า พันธมิตรที่เลือกมาสามารถแก้ปัญหาเอสเอ็มอีได้หรือไม่ภายในระยะโครงการ 3 เดือน ทำให้เป็นการเพิ่มทางเลือกสำหรับเจ้าของธุรกิจ ซึ่งต่างจากเดิมที่เวลามีปัญหาด้านธุรกิจจะปรึกษาผู้ประกอบการด้วยกัน และอาจจะเข้าถึงพันธมิตรที่เก่งๆ ระดับโลกได้ยาก เนื่องจากเป้าหมายของโครงการคือทำให้ธนาคารเป็นที่รับรู้มากขึ้นในวงกว้าง นอกจากรับรู้เพียงแค่คนเฉพาะกลุ่ม และเป็นที่รู้จักสำหรับการสนับสนุนลูกค้าเอสเอ็มอี นอกเหนือจากลูกค้ารายย่อย เพราะหลังจากผ่านโครงการเหล่านี้ก็จะช่วยพัฒนาเจ้าของเอสเอ็มอีให้ก้าวต่อไปทั้งในประเทศและภูมิภาคได้ นอกจากนี้อนาคตเชื่อว่ารูปแบบธุรกรรมทางการเงินของธุรกิจในโครงการนี้ก็คงนำมาใช้กับธนาคารและธนาคารจะรู้จักบริษัทเหล่านั้นดีขึ้น ทำให้ขอสินเชื่อต่อไปง่ายขึ้น

“เราเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะแตกต่างจากโครงการทั่วไปที่เน้นสร้างความสัมพันธ์เชิงธุรกิจกับพันธมิตรและเทคโนโลยีที่มาใช้อาจเป็นของไทยหรือมาจากประเทศในภูมิภาคบ้าง แต่โครงการของธนาคารจะเน้นให้เกิดการสร้างโปรเจ็กต์ปฏิบัติ และเกิดผลจริงภายในเวลาที่กำหนดมาทำจริง ทั้งยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรจากทั่วโลก เช่น อิสราเอล นิวยอร์ก หรือยุโรป ซึ่งเป็นบริษัทอันดับต้นในแต่ละอุตสาหกรรมที่ถูกเลือกมาโดยธนาคาร และอนาคตจะจัดอย่างต่อเนื่อง”

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,443 วันที่  10 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ติดตามฐาน