ปลุก 'เอสเอ็มอี' รุกออนไลน์ชิงเค้ก 4 แสนล้าน

10 ก.พ. 2562 | 06:35 น.
ข้อมูลจาก Google-Temasek Report ได้เผยตัวเลขแนวโน้มการเติบโตของตลาดอี-คอมเมิร์ซในปี 2558-2568 ที่เติบโตมากขึ้นถึง 14 เท่า โดยมีมูลค่ารวมกว่า 4 แสนล้านบาท เป็นโอกาสให้กับกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็ก หรือ เอสเอ็มอี ในประเทศกว่า 99.7% หรือคิดเป็น 42% ของ GDP ของประเทศนั้น เข้าสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ อย่างไรก็ตาม การก้าวสู่ธุรกิจออนไลน์ของเอสเอ็มอีนั้น จำเป็นต้องมีการเรียนรู้และปรับตัวในการนำเทคโนโลยีมาใช้

นายณัฐวิทย์ ผลวัฒนสุข กรรมการผู้จัดการ เทพช็อป (LnwShop) ผู้ให้บริการอีมาเก็ตเพลส สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรายกลางและเล็ก กล่าวว่า การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ส่วนของ SMEs เติบโตเร็วกว่าภาคอื่น ๆ ถึง 1.7 เท่า เมื่อพูดถึงด้านการตลาดที่ได้มีการร่วมมือกับกูเกิลในการพัฒนากูเกิลช็อปปิ้ง เนื่องจากเดิมทีกูเกิลแอด (Google Adwords) ที่ใช้ในการเสิร์ชหาข้อมูลของสินค้านั้น โฆษณาที่เห็นจะอยู่ในรูปของ Text หรือ ข้อความ ซึ่งลูกค้าจะต้องมาอ่านข้อความว่า ตรงกับสิ่งที่ต้องการหรือไม่ แต่ในความเป็นจริงกูเกิลเหมาะสำหรับการใช้เพื่อค้นหาข้อมูลมากกว่าเทพช็อปและกูเกิล จึงได้ร่วมมือกันในการพัฒนากูเกิลช็อปปิ้งขึ้น


TP11-3443-1

ทั้งนี้ จะเห็นว่าจากการเปรียบเทียบในส่วนของโฆษณาข้อความและโฆษณาที่เกี่ยวกับการซื้อขายสินค้า สิ่งที่เชื่อมต่อกับกูเกิล คือ ความสะดวกในการคลิกไปสู่หน้าเว็บเพื่อสั่งซื้อสินค้าได้ทันที พร้อมกับการซิงก์ข้อมูลสินค้า ราคา รายละเอียด และรูปแบบสินค้า รวมถึงการอัพเดตสต๊อกสินค้าได้แบบทันทีทันใด (Real Time) ทำให้ร้านค้าไม่ต้องเสียค่าโฆษณาเมื่อสินค้าหมด อีกทั้งหากมีการลด หรือ เพิ่มราคาสินค้า จะมีการอัพเดตไปที่กูเกิลทันที เพื่อแก้ไขปัญหาราคาที่ไม่ตรงกัน

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญ คือ ในเรื่องของวัดผลด้านโฆษณา การแสดงผลการคลิก จำนวนคลิก รวมถึงการแทร็กกิ้ง (Tracking) เพื่อให้ทราบว่า ลูกค้าเข้าสู่เว็บไซต์ร้านค้าจากช่องทางใดและมีการตัดสินใจซื้อสินค้าด้วยช่องทางใด ซึ่งจะทำให้ง่ายในการจัดสรรงบประมาณด้านการโฆษณาของร้านค้ามากขึ้น

ฟีเจอร์ที่มีการเชื่อมต่อกับกูเกิลนั้นมีหลัก ๆ 3 อย่าง คือ 1.สมาร์ทช็อปปิ้ง แคมเปญ เดิมร้านค้าต้องการจะลงโฆษณากับทางกูเกิลก็จำเป็นที่จะต้องรู้จัก Bid หรือ คีย์เวิร์ดเพื่อให้โฆษณามีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมถึงต้องมีการวิเคราะห์และจัดสรรงบประมาณในการโฆษณา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นสำหรับกูเกิล ช็อปปิ้ง เนื่องจากสมาร์ทช็อปปิ้งนั้น สนใจในส่วนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีส่วนร่วม หรือ ตอบสนองต่อโพสต์ หรือ โฆษณา (Conversion) โดยกูเกิลพยายามที่จะทำให้ร้านค้ามีการใช้ค่าโฆษณาน้อยที่สุดและมีรายได้มากที่สุด จากข้อมูลส่วนตัวและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เข้ามาใช้งานเว็บไซต์ที่กูเกิลมี ซึ่งเป็นปัจจัยประกอบและสามารถรู้ได้ ว่า ลูกค้าจะซื้อสินค้าหรือไม่และส่งโฆษณาที่เหมาะสมที่สุดไปยังลูกค้า โดยได้มีการทดสอบอัตราส่วนของการเข้าชมเนื้อหาในเว็บไซต์ (Conversion Rate) กับ 50 ร้านค้าแรก พบว่า มีคอนเวอร์ชันเรตถึง 11.75 เท่า ซึ่งเป็นตัวเลขที่ถือว่าสูงมากสำหรับในอัตรานี้

2.รีทาร์เก็ตติ้ง หรือ การทำการตลาดเพื่อเป็นการยํ้าความสนใจ โดยเมื่อผู้ซื้อเข้าไปยังเว็บไซต์ดังกล่าวแล้ว ผู้ซื้อจะถูกบันทึกว่าเป็นลูกค้าที่จะได้รับการโฆษณา จากนั้นเมื่อออกจากเว็บไซต์แล้วเข้าไปที่เว็บไซต์อื่น ก็จะยังมองเห็นโฆษณานั้นอีก เพื่อให้ลูกค้าคลิกโฆษณากลับเข้ามาที่ร้านอีกครั้ง อันนี้คือ การทำการตลาดแบบ Retargeting หรือ Remarketing เพื่อการโฆษณาที่ตรงไปยังกลุ่มลูกค้าที่สนใจสินค้านั้นโดยเฉพาะ และ 3.คอนเวอร์ชัน แทร็กกิ้ง เป็นเครื่องมือสำหรับวัดผลการทำการตลาดบนช่องทางออนไลน์ รวมถึงมีการแสดงผลสถิติต่าง ๆ ทั้งกูเกิลแอด, กูเกิลอนาไลติกส์ และกูเกิลช็อปปิ้ง

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน เทพช็อปมีเว็บไซต์ร้านค้ากว่า 6.7 แสนร้านค้า และมีผู้เข้าชมเว็บไซต์มากกว่า 2 ล้านครั้งต่อวัน จากสถิติจะเห็นได้ว่า คนไทยยังคงใช้ กูเกิล ในการค้นหาสินค้าเป็นหลัก ทั้งนี้ กูเกิลช็อปปิ้งจะเป็นแพลตฟอร์มแรกที่เชื่อมต่อกับกูเกิลแอดในประเทศไทยเพื่อให้ร้านค้าสมาชิกของเทพช็อป สามารถลงโฆษณากับกูเกิลได้

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,443 ระหว่างวันที่ 10 - 13 กุมภาพันธ์ 2562

ติดตามฐาน