แผน National e-Payment: จุดเริ่มต้น ... สู่ยุคเปลี่ยนผ่านของธุรกิจชำระเงินสำหรับแบงก์ไทย

16 มี.ค. 2559 | 08:27 น.
 

ประเด็นสำคัญ

•ภายใต้การดำเนินการตามแผน National e-Payment ที่กำลังก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นตามลำดับนั้น คาดว่าผลกระทบในระยะแรกของธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ที่เห็นได้ชัดเจนนั้น คงจะได้แก่ รายได้ค่าธรรมเนียมการโอนเงิน อันเป็นผลจากอัตราค่าธรรมเนียมที่จะต่ำลงมาก ขณะที่ คงต้องใช้เวลากว่าที่ปริมาณธุรกรรมจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

•ส่วนในระยะกลางถึงยาว ผลกระทบสุทธิต่อรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ คงขึ้นกับการขยายบทบาทของคู่แข่งที่เป็นนอนแบงก์ ซึ่งคงทำให้การแข่งขันด้านราคาและคุณภาพการให้บริการมีความรุนแรงกว่าอดีต ขณะเดียวกัน ก็ขึ้นกับการปรับกลยุทธ์ระหว่างทางของธนาคารพาณิชย์ด้วย ซึ่งไม่ว่าสุดท้ายแล้วหน้าตาของรูปแบบการแข่งขันของแต่ละผู้เล่นจะออกมาแบบใด ก็คงจบลงที่เงื่อนไขของบริการที่ “สะดวกขึ้น เร็วขึ้น และถูกลง” เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ทางการไทยกำลังเดินหน้าผลักดันให้สังคมไทยเข้าสู่ยุคสังคม ‘ไร้เงินสด’ อย่างเต็มรูปแบบ ผ่านแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) ซึ่งประกอบด้วยหลายโครงการย่อย  ที่ทำหน้าที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากการชำระเงินด้วยเงินสด ไปสู่รูปแบบอิเล็กทรอนิสก์อย่างเป็นรูปธรรมภายในสิ้นปี 2560 ไม่ว่าจะเป็น ‘การ์ด’ (Card) และระบบออนไลน์อื่นๆ เช่น Internet Banking, Mobile Banking การหักบัญชีอัตโนมัติ และ e-Money เป็นต้น

สำหรับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ตัวกลางทางการเงินนั้น คงหลีกเลี่ยงผลจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ยาก ดังนี้

แผน National e-Payment มุ่งหวังที่จะทำให้ธุรกรรมการโอนเงิน/จ่ายเงินรายย่อย ทำได้ด้วยความ ‘สะดวกขึ้น เร็วขึ้น และถูกลง’ จนกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาชำระ/โอนเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น โดยภายใต้โครงการ Any ID นั้น จะทำให้การโอนเงิน/ จ่ายเงินรายย่อย สะดวกขึ้นมากจากการใช้เลขที่บัตรประชาชน หรือเบอร์มือถือแทนที่เลขที่บัญชีธนาคารได้ ประกอบกับค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมต่อรายการที่ปรับลดลงจากปัจจุบัน  ส่วนโครงการขยายการใช้บัตรนั้น การชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะทำได้สะดวกขึ้นเช่นกันจากจำนวนเครื่องรับบัตร Electronic Data Capture (EDC) /Mobile Point of Sale (MPOS) ที่จะเพิ่มจาก 4 แสนเครื่องเป็น 7-9 แสนเครื่อง รวมถึง Mobile Application ใน 1-2 ปีนี้ ที่จะผลักดันการชำระเงินภายใต้เครือข่ายชำระเงินภายในประเทศ (Local Switching) ซึ่งมีต้นทุนในการให้บริการที่ถูกลงกว่าในปัจจุบัน และล้วนแล้วแต่จะส่งผลตามมาให้การเบิก-ถอน-โอนเงินสด ผ่านช่องทางดั้งเดิมในรูปแบบของเคาน์เตอร์สาขาและเอทีเอ็มของธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนถึงการใช้เช็คที่มีต้นทุนให้บริการสูงกว่าช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากนั้น มีทิศทางปรับลดลงแทน

สำหรับผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ ต้องพิจารณาเงื่อนไขของ 4 ตัวแปรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1. อัตราค่าธรรมเนียมใหม่ โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมการโอนเงิน ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจร้านค้ารับบัตร (Merchant Discount Fee) และค่าธรรมเรียกเก็บระหว่างธนาคาร (Interchange Fee) ของธุรกิจออกบัตร  ซึ่งจะเป็นธุรกรรมประเภทแรกๆ ที่จะถูกกระทบจากแผน National e-Payment และจะเผชิญอัตราค่าธรรมเนียมใหม่ที่ต่ำลงกว่าเดิม   2.ปริมาณการทำธุรกรรมว่าจะเพิ่มขึ้นรวดเร็วเพียงใด ซึ่งจะแปรผันตามพฤติกรรมในทางปฏิบัติของผู้บริโภคในการปรับมาใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และความเข้มข้นในการผลักดันจากทางการ   3. จำนวนคู่แข่งในธุรกิจตัวกลางทางการเงินที่จะเพิ่มจำนวนขึ้น  และ 4. การปรับตัวของธนาคารพาณิชย์เองเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน

ในระยะแรก: ธนาคารพาณิชย์คงได้รับผลกระทบจากค่าธรรมเนียมการโอนเงินที่จะลดลง ขณะที่ ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจร้านค้ารับบัตร มีโอกาสที่ดีกว่าจากการขยายเครือข่ายเครื่อง EDC/MPOS ที่ใหญ่ขึ้น แม้ว่าจะมีต้นทุนค่าอุปกรณ์ที่สูงขึ้นเช่นกัน โดยสำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมการโอนเงินนั้น ในปัจจุบัน มีสัดส่วนประมาณ 10% ของรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งหมดของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทย ทั้งนี้ แม้ในขณะนี้ อัตราค่าธรรมเนียมใหม่ จะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่เชื่อว่าจะต้องเป็นอัตราที่ต่ำลงกว่าปัจจุบันที่ 25-35 บาทต่อรายการ หลายเท่าตัว เพื่อสร้างแรงจูงใจมากพอให้ผู้บริโภคหันมาใช้ช่องทางโอนเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์นี้มากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมสมตามเจตนารมณ์ของทางการ

โดยจากการประเมินเบื้องต้นของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ภายใต้สมมติฐานที่ให้ค่าธรรมเนียมการ

โอนเงินต่อรายการลดลงประมาณ 50% จากปัจจุบัน (กำหนดให้อยู่ที่ประมาณ 25 บาทต่อรายการโดยเฉลี่ย) พบว่า หากต้องการรักษารายได้จากค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับที่ธนาคารพาณิชย์ได้รับปัจจุบันแล้ว ปริมาณธุรกรรมจะต้องเพิ่มขึ้นถึง 100% ขณะที่ ในกรณีที่อัตราค่าธรรมเนียมใหม่ต่ำลงไปอีก ก็ยิ่งจะต้องอาศัยปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นประเด็นที่มีความท้าทายมาก เพราะในทางปฏิบัติ ผู้บริโภคคงต้อง ‘ใช้เวลา’ ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการใช้เงินสด หรือการฝาก-ถอน-โอนเงินผ่านเคาท์เตอร์สาขาและเอทีเอ็ม  มาสู่การทำธุรกรรมต่างๆ ดังกล่าวผ่านโทรศัพท์มือถือหรือรูปแบบออนไลน์อื่นๆ ด้วยเหตุผลของความที่ยังไม่คุ้นชิน ความกังวลด้านความปลอดภัยในการทำธุรกรรมและความเสถียรของระบบไอทีที่ทำให้ผู้โอนอาจวิตกว่าผู้รับโอนปลายทางจะได้รับเงินไม่ครบถ้วน หรือเงินออมที่สะสมในบัญชีจะหายไปจากความผิดพลาดเชิงเทคนิค เป็นต้น

ด้านรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจร้านค้ารับบัตร  น่าจะมีโอกาสที่ดีกว่า จากการที่ธนาคารพาณิชย์จะขยายเครือข่ายเครื่อง EDC/MPOS/Mobile Application ที่จะเพิ่มจำนวนจากปัจจุบันหลายเท่าตัว ตลอดจนความเป็นไปได้ที่ภาครัฐ จะผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ปริมาณธุรกรรมการใช้บัตรเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งน่าจะช่วยชดเชยค่าธรรมเนียมฝั่งร้านค้ารับบัตร (Merchant Discount Fee) โดยทุกรายการที่ใช้จ่ายผ่านบัตร ค่าธรรมเนียมที่เก็บจากร้านค้านี้ จะถูกแบ่งนำไปจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมระหว่างธนาคาร (Interchange Fee) ให้กับธนาคารผู้ออกบัตร และจ่ายค่าธรรมเนียมอื่นๆ ในกระบวนการชำระดุล ได้แก่ และค่าธรรมเนียมระบบเครือข่ายการชำระเงิน (Switching Fee) ที่คงไม่ลดลงมากเท่ากับในกรณีธุรกรรมการโอนเงิน อีกทั้งชดเชยกับการแข่งขันด้านราคาในกรณีที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้ามาให้บริการธุรกิจร้านค้ารับบัตรผ่านการลงทุนขยายเครื่อง EDC/MPOS บางส่วนด้วย    อย่างไรก็ตาม หากประเมินคู่กับต้นทุนส่วนเพิ่มจากการลงทุนเครื่อง EDC/MPOS และระบบเชื่อมต่อต่างๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายดำเนินการต่างๆแล้ว ก็น่าจะใช้เวลาสักระยะกว่าจะผ่านจุดคุ้มทุน

ส่วนประเด็นด้านการแข่งขันกับผู้ให้บริการนอนแบงก์ในระยะแรกนี้ คาดว่าจะเห็นรูปแบบของ‘ความร่วมมือทางธุรกิจ’ ระหว่างผู้ให้บริการนอนแบงก์และธนาคารพาณิชย์ในส่วนที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันมากกว่าที่จะเห็นการแข่งขันกันโดยตรง ทั้งนี้ เพราะผู้ให้บริการนอนแบงก์ยังต้องอาศัยธนาคารพาณิชย์เป็นช่องทางเข้าถึงระบบชำระบัญชีกลาง นอกจากนี้ ยังอาจต้องพึ่งฐานลูกค้าขนาดใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงเครือข่ายให้บริการที่มีจุดบริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้ลูกค้าใช้เป็นทางผ่านของเงินไปสู่บัญชี e-Money ของผู้ให้บริการนอนแบงก์ เป็นต้น

ดังนั้น จึงทำให้ผลกระทบหลักต่อธนาคารพาณิชย์จะมาจากอัตราค่าธรรมเนียมที่ลดลงมาก ขณะที่ปริมาณธุรกรรมยังเพิ่มขึ้นทดแทนกันไม่ทัน ซึ่งมีนัยตามมาต่อความจำเป็นที่ธนาคารพาณิชย์คงต้องพิจารณาปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมในประเภทธุรกรรมอื่นๆ ให้มีความเหมาะสมกับต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงมากขึ้นในระยะต่อไป

ความร่วมมือกับผู้ให้บริการนอนแบงก์ในระยะแรก คงออกมาได้หลายลักษณะ ขึ้นกับส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างโมเดลธุรกิจของทั้งนอนแบงก์และธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง โดยที่ผ่านมา เริ่มเห็นการจับมือเป็นพันธมิตรระหว่างธนาคารพาณิชย์กับผู้ให้บริการนอนแบงก์เพื่อให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้า โดยตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คงได้แก่

 การจับมือระหว่างผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือและธนาคารพาณิชย์ เพื่อเชื่อมระบบกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ของค่ายมือถือ กับระบบชำระบัญชี ซึ่งช่วยให้ลูกค้าสามารถโอนเงินจากกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของค่ายมือถือหนึ่ง ไปยังอีกค่ายหนึ่งได้โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์ โดยที่ค่ายมือถือไม่ต้องลงทุนระบบหลังบ้านให้ทับซ้อนกันและใช้ต้นทุนสูง ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์ได้ส่วนแบ่งรายได้ค่าธรรมเนียมจากจำนวนธุรกรรมที่เกิดขึ้น

เมื่อต่อภาพออกไปในอนาคต ด้วยโครงการ Any ID ที่จะเชื่อมเลขที่บัตรประชาชนหรือเบอร์มือถือ กับบัญชีการเงินของลูกค้านั้น ความร่วมมือดังกล่าวอาจขยายวงกว้างขึ้นได้อีกจากปัจจุบัน อันจะทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือได้รับประโยชน์จากจุดแข็งของตนในการเข้าถึงฝั่งลูกค้าผู้ใช้บริการมือถือที่มีจำนวนประมาณ 46 ล้านราย (เกือบ 83 ล้านเลขหมาย) ซึ่งลูกค้าบางส่วน อาจอยู่ในพื้นที่ที่สาขาของธนาคารพาณิชย์เข้าไปไม่ถึง ขณะที่ฝั่งธนาคารพาณิชย์ จะได้ประโยชน์เพิ่มเติมจากปริมาณธุรกรรมชำระบัญชีที่จะผ่านเข้ามามากขึ้น ท่ามกลางจุดแข็งด้านจำนวนบัญชีธนาคารพาณิชย์ที่มีสูงกว่าจำนวนบัญชี e-Wallet มาก เป็นต้น

การให้บริการประเภท In-App Purchases ซึ่งพัฒนาโดยผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ส ร้านค้า หรือผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่น (Application) ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการระบบการชำระเงินออนไลน์ หรือเครือข่ายการชำระเงินอื่นๆ ในการชำระค่าสินค้าและบริการที่เลือกซื้อในแอพพลิเคชั่น เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการใช้บริการของลูกค้า อาทิ แอพพลิเคชั่นร้านค้าและตลาดสินค้า (Marketplace) แอพลิเคชั่นเกมส์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์หรือเครือข่ายการชำระเงินจะได้รับรายได้ค่าธรรมเนียมจากการให้บริการดังกล่าว ในขณะที่ ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์สและร้านค้า ก็จะได้รับประโยชน์จากโอกาสในการเพิ่มยอดขาย อันเป็นผลจากการที่ลูกค้ารู้สึกถึงความสะดวกตลอดเส้นทางการทำธุรกรรม (Customer Decision Journey) ตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกสินค้า การชำระเงิน ไปจนถึงขั้นตอนการเลือกวิธีจัดส่ง/ขนส่งสินค้า ควบคู่กับความปลอดภัยในการใช้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางกระแสการซื้อสินค้าและบริการ (Shopping) ผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือ M-Commerce ที่มีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นในอนาคต

ในระยะกลางถึงยาว ตัวแปรที่จะมีบทบาทมากขึ้นต่อธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในภาพรวม คือ การเข้ามาของคู่แข่งที่เป็นนอนแบงก์ และการปรับกลยุทธ์ระหว่างทางของธนาคารพาณิชย์   ทั้งนี้ ท่ามกลางการผลักดันของภาครัฐผ่านกำหนดการจ่ายรัฐสวัสดิการให้กับกลุ่มประชาชนเป้าหมายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการจูงใจให้ร้านค้ารายย่อยต่างๆ รับชำระเงินด้วยเครื่อง EDC/MPOS และ Mobile Application ผ่านโทรศัพท์มือถือนั้น คงช่วยเพิ่มปริมาณการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์และขยายพื้นที่รายได้ให้กับธนาคารพาณิชย์ และผู้ให้บริการประเภทนอนแบงก์ อาทิ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ  e-Commerce ผู้ให้บริการรับชำระเงินออนไลน์ และผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งคงมีจำนวนและบทบาทเพิ่มขึ้น จากการที่ผู้เล่นนอนแบงก์เหล่านั้น อาจจะเข้าถึง/หรือร่วมกันจัดทำระบบ Local Switching ของตนเอง โดยไม่ต้องผ่านธนาคารพาณิชย์เหมือนดังเช่นปัจจุบัน  นั่นหมายความถึง การแข่งขันด้านราคาและคุณภาพการให้บริการที่อาจรุนแรงกว่าในอดีต  นอกจากนี้ ก็ยังทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ตามมาได้ อาทิ การให้สินเชื่อกับธุรกิจออนไลน์ ที่ผู้ให้บริการจะอาศัยข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินและการค้าออนไลน์ของลูกค้าในการประกอบการพิจารณาเครดิต กระนั้นก็ดีในกรณีของประเทศไทย โอกาสการเกิดธุรกิจในรูปแบบนี้ คงต้องรอกติกาที่ชัดเจนขึ้นจาก ธปท.ด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับธนาคารพาณิชย์ ผลกระทบสุทธิต่อรายได้ค่าธรรมเนียมจะขึ้นอยู่กับว่าธนาคารพาณิชย์จะเร่งบริหารจัดการผลกระทบนั้นด้วยการปรับกลยุทธ์ธุรกิจ ควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการให้บริการได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งปัจจุบัน สถาบันการเงินในต่างประเทศกำลังให้ความสนใจเทคโนโลยี Blockchain  เพื่อประยุกต์ใช้ในธุรกิจชำระเงิน-โอนเงิน ตลอดจนใช้กลยุทธ์การเป็นพันธมิตร ร่วมลงทุน หรือซื้อ/ควบรวมกิจการกับธุรกิจที่จะส่งเสริมประสิทธิภาพของกระบวนการชำระเงิน เป็นต้น  ซึ่งไม่ว่าการปรับตัวของผู้เล่นแต่ละกลุ่มจะออกมารูปแบบใด ก็ล้วนแล้วแต่คงจบลงที่เงื่อนไขของบริการที่จะดีขึ้นกว่าเดิม และทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุด

 

ที่มา:ศูนย์วิจัยกสิกรไทย