กบข.ดิ้นเขย่าพอร์ต3แสนล้าน หวั่นสมาชิกถังแตกหลังรีไทร์

21 มี.ค. 2559 | 01:00 น.
กบข. เตรียมชงคลังแก้พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 ขอปรับสูตรเพิ่มลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง 60 % ลดลงทุนในสินทรัพย์มั่นคงสูงเหลือ 40 % ชี้ต้องทำด่วนภายในกลางปีนี้แต่ไม่เกินปีหน้า เผยหากช้าข้าราชการที่เพิ่มสตาร์ท เงินไม่พอใช้หลังเกษียณ เหตุสูตรปัจจุบันให้ผลตตอบแทนเฉลี่ย 5 % ต่อปีเท่านั้น ชี้หากเพิ่มลงทุนในหุ้น ผลตอบแทนคาดหวังอาจเพิ่มขึ้นเป็น 7 % ต่อปี

[caption id="attachment_38743" align="aligncenter" width="503"] พอร์ตลงทุน กบข. พอร์ตลงทุน กบข.[/caption]

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า คณะกรรมการหรือบอร์ดกบข.กำลังพิจารณาข้อกฏหมายเพื่อปรับสูตรการลงทุนใหม่ โดยมีแนวคิดระยะแรกอาจเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น สัดส่วน 60 % ลงทุนในสินทรัพย์ที่มั่นคงสูง เช่นพันธบัตรรัฐบาล สัดส่วน 40 % จากปัจจุบันที่ลงทุนในสินทรัพย์มั่นคงสูง 60 % ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง 40%

ทั้งนี้สำหรับที่มาของการปรับสูตรการลงทุนครั้งนี้ เนื่องจากกบข.ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับความพอเพียงและความมั่นคงทางรายได้หลังเกษียณของข้าราชการ พบว่าสูตรการลงทุนปัจจุบันสามารถรอบรับผู้ที่เกษียณในระยะ 5-10 ปีข้างหน้าเท่านั้น โดยคนกลุ่มนี้ยังไม่เดือดร้อน คือ มีเงินเพียงพอสำหรับใช้หลังเกษียณ (ปัจจุบันข้าราชการหลังเกษียณหลังเกษียณได้รับเงินบำนาญเฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อคน)

ส่วนผู้ที่เพิ่งเริ่มทำงาน หรือมีอายุปัจจุบัน 25 ปี (ทำวิจัยปี2558 ) หรือเกษียณในอีก 30 ปีข้างหน้าอาจมีเงินไม่พอยังชีพหลังเกษียณ เนื่องจากผลตอบแทนที่ต่ำ ขณะที่เงินเฟ้อก็ไม่แน่นอน และเงินเฟ้อในชีวิตจริงอาจสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อที่มีการประกาศ นอกจากกนี้ประชากรมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น

"เราจำเป็นต้องเขย่าพอร์ตลงทุนเร่งด่วนเพื่อเพิ่มผลตอบแทน โดยจะนำเสนอกระทรวงการคลัง ซึ่งควรทำภายในกลางปีนี้และไม่ควรเกินปีหน้า เพราะถ้าไม่รีบแก้กฏหมายการลงทุนตั้งแต่ตอนนี้ ข้าราชการอาจมีเงินไม่พอใช้หลังเกษียณ"เลขาธิการกบข.กล่าวและว่า

ขณะที่การปรับสูตรการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง : สินทรัพย์มั่นคงสูง ในสัดส่วน 60 : 40 จะทำให้กบข.มีความคล่องตัวในการบริหารพอร์ต ซึ่งยิลด์ หรืออัตราผลตอบแทนอาจจะดีขึ้น ขณะที่พระราชบัญญัติ หรือพ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 ประกาศใช้มาแล้ว 20 ปี ซึ่งถือว่าไม่สอดรับกับสถานการณ์การลงทุนในปัจจุบัน และเมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนบำนาญในต่างประเทศ จะมีการลงทุนในสินทรัพยเสี่ยงในสัดส่วน 60-70%

นายสมบัติกล่าวต่อไปว่า สำหรับผลตอบแทนที่กบข.ทำได้ในช่วง 20 ปีย้อนหลังอยู่ที่เฉลี่ย 5% ต่อปี ตามสูตรการลงทุนปัจจุบัน พร้อมยกตัวอย่าง หากกลับด้านกัน หรือปรับสูตรเป็นลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง 60% สินทรัพย์มั่นคงสูง 40 % ผลตอบแทนคาดหวังจะเพิ่มขึ้น โดยโยกย้ายดอกผลจากสินทรัพย์เสี่ยงต่ำประมาณ 20% มาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง เช่น หุ้น ที่ให้ผลตอบแทนคาดหวัง 8.5% ต่อปี ก็จะทำให้ผลตอบแทนโดยรวมของพอร์ตกบข.เพิ่มขึ้นเป็น 7% ต่อปี เป็นต้น

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าการลงทุนในหุ้นบางปีอาจผันผวน และอาจให้ผลตอบแทนติดลบ ขณะที่ปัจจุบันผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรก็น้อยมาก โดยพันธบัตรอายุ 5 ปี ให้ผลตอบแทน 1.5% ต่อปี สำหรับแนวโน้มปี 2559 กบข.คาดการณ์ผลตอบแทนว่าต้องสูงกว่าเงินเฟ้อ 2.5% ส่วนปีที่ผ่านมาทำผลตอบแทนได้ 3.6%

ทั้งนี้กบข.คาดคะเนผลตอบแทนจากการลงทุนดังนี้ ผลตอบแทนจากตราสารหนี้ 1% ถึง 1.5% ต่อปี ,หุ้นไทย 8% ต่อปี ,หุ้นต่างประเทศ 9.5% ต่อปี ซึ่งผลตอบแทนดังกล่าวเป็นค่ากลาง คือ เศรษฐกิจเติบโตในระดับปานกลาง
สำหรับสถานะของกบข. ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 มีสมาชิกประมาณ 9.7 แสนราย จากเดิมมี 1.3 ล้านราย ขณะที่มีสินทรัพย์รวม 7.24 แสนล้านบาท แบ่งเป็นส่วนของสมาชิก 3.48 แสนล้านบาท และส่วนของทุนส่วนสำรอง 3.76 แสนล้านบาท (เงินที่กระทรวงการคลังสมทบ)

ส่วนสาเหตุที่จำนวนสมาชิกและสินทรัพย์ลดลงเนื่องจากเหตุการณ์ที่มีผลต่อการบริหารกองทุนฯ โดยตรงคือเหตุการณ์ UNDO ที่เป็นการแก้ไขกฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้ข้าราชการปัจจุบันและผู้รับบำนาญที่รับราชการก่อน 27 มีนาคม 2540 และสมัครเป็นสมาชิก กบข. สามารถยื่นใช้สิทธิขอกลับไปรับบำนาญสูตร พ.ศ. 2494 ได้ ซึ่งมีสมาชิกที่เป็นข้าราชการปัจจุบันใช้สิทธิไป 2.48 แสนคน คิดเป็นสัดส่วน 36.74 %ของผู้มีสิทธิ UNDO ซึ่ง กบข. ได้จ่ายเงินสะสม เงินสะสมส่วนเพิ่ม (ถ้ามี) และผลประโยชน์ของเงินดังกล่าวคืนให้กับสมาชิกผู้ใช้สิทธิ รวมเป็นเงิน 5. 4 หมื่นล้านบาท และโอนเงินส่วนของรัฐ คือ เงินประเดิม เงินชดเชย เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินดังกล่าวไปยังกองสำรองมูลค่า 1.17 แสนล้านบาท โดย กบข. ได้ดำเนินการดังกล่าวแล้วเสร็จไปเมื่อเดือนตุลาคม 2558

นายสมบัติยังกล่าวอีกว่า กบข. ได้จัดทำแผนการดำเนินงานในปี 2559 ให้สอดรับกับสถานะกองทุนฯในปัจจุบัน โดยงานด้านการลงทุน ได้มีการวางแผนลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภทเพื่อกระจายความเสี่ยง พร้อมปรับสัดส่วนการลงทุนเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของพอร์ตภายใต้กรอบการลงทุนที่กำหนดในระยะยาว และปรับเพิ่มเพดานการลงทุนในต่างประเทศจาก 25% เป็น 30% ตามลำดับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,140 วันที่ 17 - 19 มีนาคม พ.ศ. 2559