ข้าพระบาท ทาสประชาชน : สิทธิบัตรกัญชา กับผลกระทบทางการเมืองต่อรัฐบาล คสช. (จบ)

06 ก.พ. 2562 | 11:28 น.
สิทธิบัตรกัญชา-02 ตู่-01010101 อ่าน | ข้าพระบาท ทาสประชาชน : สิทธิบัตรกัญชา กับผลกระทบทางการเมืองต่อรัฐบาล คสช. (1)

ด้วยเสียงเรียกร้องที่ดังขึ้นของประชาชน นักวิจัยและนักวิชาการ ด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริง และเหตุผลทางการแพทย์เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย และเหตุผลในทางมนุษย ธรรม เพื่อมวลมนุษยชาติ ในที่สุดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงได้มีการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) พ.ศ...เพื่อแก้ไขมิให้กัญชาและพืชกระท่อม ที่เคยระบุให้เป็นยาเสพติดประเภท 5 ใน พ.ร.บ.ยาเสพติด พ.ศ.2522 ให้สามารถปลูกและนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้ โดย พ.ร.บ.ยาเสพติดฉบับแก้ไขนี้ ได้ให้หลักการและเหตุผลว่า

“โดยที่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานและมีบทบัญญัติบางประการไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ในปัจจุบันปรากฏผลวิจัยว่า สารสกัดจากกัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ หลายประเทศทั่วโลกจึงได้มีการผ่อนปรนโดยการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอนุญาตให้ประชาชนใช้พืชกระท่อมและกัญชาทางการแพทย์ หรือเพื่อการสันทนาการได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
herb-2915337_960_720 แต่สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันพืชกระท่อมและกัญชายังคงเป็นสิ่งเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มีการกำหนดโทษทั้งผู้เสพและผู้ครอบครอง ทั้งที่ในสภาพความเป็นจริงพบว่า มีผู้ป่วยบางส่วนลักลอบใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคมานานหลายปีแล้ว ทั้งผลิตใช้เองและผลิตในเชิงพาณิชย์ เป็นผลให้มีราคาแพงและอาจไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการแพทย์และตำรับยาสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำกัญชาและพืชกระท่อมไปทำการศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสามารถนำไปใช้ในการรักษาภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์ได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

จากหลักการและเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการเสนอ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่..) พ.ศ.... ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติฯ ทั้ง 3 วาระ เสร็จครบทุกมาตรา และมีการลงมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 ด้วยคะแนนเสียง 166 ต่อ 0 งดออกเสียง 13 เสียง ทำให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป

โดยขณะนี้นายกรัฐมนตรี ได้เสนอ พ.ร.บ.ฉบับที่แก้ไขและผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบของ สนช. ทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นกฎหมายให้มีผลบังคับใช้แล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างรอการลงพระปรมาภิไธย จาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น

[caption id="attachment_385159" align="aligncenter" width="500"] ข้าพระบาท ทาสประชาชน : สิทธิบัตรกัญชา กับผลกระทบทางการเมืองต่อรัฐบาล คสช. (จบ) เพิ่มเพื่อน [/caption]

หากทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนนี้ ประชาชนไทย นักวิจัย หรือแพทย์ไทย ที่กำลังรอทำการศึกษา วิจัยทดลอง หรือใช้สารสกัดจากกัญชาในการรักษาผู้ป่วยน่าจะได้เฮ ดีใจที่มีกฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ แต่การหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะในระหว่างที่ สนช.ดำเนินการแก้ไขกฎหมายให้กัญชาหรือพืชกระท่อม ไม่เป็นยาเสพติด สามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ได้นั้น เกิดมีบริษัทต่างชาติหัวหมอ ยื่นเรื่องขอจดสิทธิบัตรต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทย คือกลุ่มบริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล คอมปะนี ลิมิเต็ด ร่วมกับ บริษัท จีดับเบิลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด

โดยได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรเกี่ยวข้องกับกัญชารวมทั้งสิ้น 6 ฉบับ ทั้งที่ขัดต่อกฎหมาย พ.ร.บ.สิทธิบัตร มาตรา 9(5) ทำไมอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทย จึงกล้ารับคำขอจดทะเบียนจากบริษัทต่างชาติดังกล่าว ที่น่าสนใจและเป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่งก็คือ ในสมัยรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เข้าบริหารประเทศ ได้มีการประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตรกัญชาของต่างชาติ อันเป็นการรับรองในเบื้องต้นที่จะให้มีการดำเนินการจดทะเบียนสิทธิบัตรได้ หากไม่มีผู้ใดคัดค้าน
seedling-1062908_960_720 ประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับสารสกัดจากกัญชา 6 ฉบับ ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาและรัฐบาล คสช.ยอมให้ดำเนินการมาได้เช่นนี้ ครอบคลุมถึงการบำบัดรักษาโรคสำคัญ คือ โรคลมบ้าหมู โรคลมชัก ใช้ร่วมกันกับยาต้านโรคลมบ้าหมูมาตรฐาน โรคจิตและผิดปกติทางจิต โรคสภาวะทางประสาทวิทยา โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ อีกด้วย

กรณีดังกล่าวนี้ ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังเคยประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตรกัญชา ของ “โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล คอมปะนี ลิมิเต็ด ร่วมกับ จีดับเบิลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด” กลุ่มบริษัทเดียวกันนี้ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2561 เป็นคำขอสิทธิบัตรในการใช้สารสกัดกัญชาเพื่อรักษาโรคมะเร็ง โดยเฉพาะโรคมะเร็งสมองชนิดไกลโอมา และชนิดไกลโอบลาสโตมา มัลติฟอร์มด้วย

สรุป กรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ได้ประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตรกัญชาให้กลุ่มบริษัทต่างชาติดังกล่าวไปแล้วทั้งสิ้น 7 ฉบับ เมื่อ รวมทั้ง 2 สมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จึงมีปัญหาว่า หาก พ.ร.บ. ยาเสพติด ที่ สนช.ได้แก้ไขมีการประกาศใช้แล้ว คนไทย แพทย์ไทย นักวิชาการ นักวิจัยไทยจะได้ประโยชน์อะไร กรณีนี้จะกลายเป็นการเตะหมูเข้าปากหมาหรือไม่? เพราะหากรัฐบาล คสช.และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ยอมยกเลิกคำขอสิทธิบัตรกัญชาของต่างชาติดังกล่าว และไม่ยอมให้เวลาเปิดโอกาสให้นักวิชาการ นักวิจัยคนไทย ได้มีเวลาทำการศึกษาค้นคว้า และขอรับการจดสิทธิบัตรแล้ว คนไทยก็แทบจะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ เลยจากการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว

นี่จึงเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาล คสช. พึงสังวรณ์ให้จงหนัก มิเช่นนั้น อาจทำให้รัฐบาล คสช.ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำลายสิทธิผลประโยชน์แห่งชาติเสียเอง หรือแม้กระทั่งถูกกล่าวหาว่ารับใช้ผลประโยชน์ของกลุ่มทุนต่างชาติ โดยที่คนไทยได้แต่นั่งมองตาปริบๆ
cannabis-2773112_960_720 หากจะมีการศึกษาค้นคว้าใช้สารสกัดจากกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ เพื่อรักษาคนไทยหรือเพื่อการพาณิชย์ ที่ประเทศไทยมีโอกาสและมีศักยภาพสูงสุด ที่จะสามารถปลูกและเป็นผู้นำการผลิตสารสกัดจากกัญชา เพราะประเทศไทยมีผลผลิตจากกัญชาที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก ก็จะไม่สามารถทำได้

ด้วยจะกลายเป็นการละเมิดต่อสิทธิบัตรของต่างชาติ ด้วยการยอมรับจดทะเบียนให้ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยนั่นเอง การตัดสินใจของรัฐบาล คสช.ในเรื่องนี้ ย่อมส่งผลกระทบในทางการเมืองและส่งผลต่อความนิยมที่มีต่อรัฐบาล อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งอาจมีผลต่อคะแนนในการเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ ที่คาดว่าเป็นพรรคสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกด้วย

ด้วยการตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว และเพื่อแก้ปัญหานี้ แม้ คสช.ได้ตัดสินใจใช้ ม.44 ออกคำสั่งที่1/2562 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรก็ตาม เมื่อพิจารณาคำสั่งดังกล่าว ก็ยังมิใช่คำสั่งให้ยกเลิกสิทธิบัตรกัญชาของต่างชาติที่ยื่นไว้ ทั้งที่ขัดกฎหมาย พ.ร.บ. สิทธิบัตร ม.9(1)(4) และ (5) ก็ตาม ซึ่งโดยความเป็นจริง คำขอสิทธิบัตรทั้ง 7 คำขอของต่างชาติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีอำนาจยกคำขอ ได้ด้วยอำนาจของตนเองตามกฎหมายปกติ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยคำสั่งหัวหน้า คสช.แต่อย่างใด

กรณีเรื่องสิทธิบัตรกัญชา จึงเป็นเรื่องที่ท่านนายกรัฐมนตรี ต้องระมัดระวังและทบทวนให้ดี เพราะยิ่งออกคำสั่ง ยิ่งแก้ ก็ยิ่งกลายเป็นสร้าง ปัญหา และอาจส่งผลทางการเมือง สั่นสะเทือนเก้าอี้นายกฯ ได้น่ะครับ คิดผิดคิดใหม่ได้ ทำผิดทำใหม่ได้ อย่าปล่อยไว้อาจสายเกินแก้

อ่าน | ข้าพระบาท ทาสประชาชน ทั้งหมด >>คลิก<< 

|คอลัมน์ : ข้าพระบาท ทาสประชาชน
| โดย : ประพันธุ์ คูณมี
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3442 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 7-9 ก.พ.2562
595959859


[caption id="attachment_384440" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]