งัดแผนสำรองเขื่อนใหญ่ รับแล้งหนักยืดใช้น้ำถึงก.ค.นี้

17 มี.ค. 2559 | 10:00 น.
จากวิกฤติภัยแล้งในรอบ 20 ปีที่กำลังลุกลามส่งผลกระทบไปยังภาคส่วนต่างๆ ในเวลานี้ ทุกฝ่ายฟันธงว่าจะมีความรุนแรงมากกว่าในปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคครัวเรือน ภาคเกษตรกรต่างตั้งรับ และปรับแผนบริหารจัดการน้ำกินน้ำใช้กันอย่างเต็มที่เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติแล้งนี้ไปให้ได้ ทั้งนี้หากนับตามคำนิยาม "ฤดูแล้ง"ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนของทุกปี ถือว่าฤดูแล้งได้ย่างเข้าสู่เดือนที่ 5 แล้ว

[caption id="attachment_38694" align="aligncenter" width="358"] สุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน สุเทพ น้อยไพโรจน์
อธิบดีกรมชลประทาน[/caption]

  ที่มาแล้งรอบ 20 ปี

"สุเทพ น้อยไพโรจน์" อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "ฐานเศรษฐกิจ" โดยชี้แจงทำความเข้าใจกับภัยแล้งในรอบ 20 ปีว่า มีที่มาจากปริมาณน้ำฝนที่เคยตกน้อยมากในปี 2537 เทียบกับฤดูฝนในปี 2558 ล่าสุดที่มีฝนตกมากกว่าปี 2557 เพียงเล็กน้อย ซึ่งส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนที่กักเก็บในเขื่อนมีปริมาณน้อยตามไปด้วย

"ปี 2537 เรามีเขื่อนขนาดใหญ่อยู่ 2 เขื่อนคือ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่ง ณ วันที่ 1 มกราคม 2538 เรามีน้ำใช้การได้ในทั้ง 2 เขื่อนรวม 2,048 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทุกปีที่ผ่านมาไม่มีปีใดเลยที่น้ำจากทั้ง 2 เขื่อนจะน้อยกว่าปี 2538 แต่พอมาวันที่ 1 มกราคม 2559 มีน้ำน้อยเป็นอันดับ 2 รองจากปี 2538 ก็เลยเป็นที่มาของน้ำแล้งในรอบ 22 ปี แต่ถ้าพูดกันทั่วไปก็จะบอกว่าเป็นแล้งหนักในรอบ 20 ปีตามรอบทางอุทกวิทยา"

 น้ำเขื่อนทั่วปท.น่าห่วง

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางในภาพรวม 481 แห่ง ทั่วประเทศ (ขนาดใหญ่ 33 แห่ง และขนาดกลาง 448 แห่ง)ล่าสุด ณ วันที่ 14 มีนาคม 2559 มีปริมาตรน้ำรวม 3.76 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 50% ของความจุ ในจำนวนนี้เป็นน้ำใช้การได้ 1.38 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 27% ของความจุ โดยในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่พึ่งพาน้ำจาก 4 เขื่อนหลักได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาตรน้ำคงเหลือใช้การได้รวมกัน 2.71 พันล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 15% ของความจุ

ทั้งนี้ ณ ปัจจุบัน 4 เขื่อนลุ่มเจ้าพระยาทางกรมชลฯมีการระบายรวมกันวันละประมาณ 18 ล้านลูกบาศก์เมตรเพื่อใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก รองลงมาเพื่อรักษาระบบนิเวศ หรือผลักดันน้ำเค็มเป็นหลัก ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรดูแลให้เฉพาะไม้ผลที่มีคละกันไปในหลายพื้นที่ เช่น พิจิตร กำแพงเพชร สุพรรณบุรี ซึ่งจะมีรอบเวรในการปล่อยน้ำ ตรงไหนที่ขาดแคลนให้แจ้งมา ก็จะไปตรวจสอบว่าขาดจริงหรือไม่ ถ้าจริงก็จะช่วยอย่างนี้เป็นต้น

  น้ำกิน-ใช้ยังพอถึงกรกฎาคม

"การระบายน้ำในลุ่มเจ้าพระยายังเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เบื้องต้นยังมั่นใจว่าจะมีน้ำเพียงพอใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศไปจนถึงเดือนกรกฎาคมของปีนี้ ซึ่งเราไม่มีการระบายมากกว่านี้เด็ดขาด มีแต่จะลด แต่ในกรณีที่มีฝนตกลงมาบ้าง มีน้ำท่าเข้ามาบ้าง เราอาจจะลดการระบายเพื่อประหยัดน้ำ ฉะนั้นจะมาเพิ่มมากกว่า 18 ล้านลูกบาศก์เมตรเป็นไปไม่ได้ ยืนยันได้เลยเราไม่ทำ"

อย่างไรก็ดีจากมีข้อจำกัดในเรื่องน้ำจากอ่างเก็บน้ำ และกรมชลประทานได้ขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปรัง มีผลให้การเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานทั่วประเทศที่เคยปลูกในปีที่ผ่านมารวมประมาณ 6 ล้านไร่ แต่ปีนี้ลดเหลือครึ่งเดียวคือประมาณ 3.05 ล้านไร่ ซึ่งล่าสุดได้มีการเก็บเกี่ยวไปแล้วประมาณ 9.4 แสนไร่ ยังเหลืออีกปริมาณ 2 ล้านไร่ที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในเดือนเมษายนนี้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในจำนวนนี้ประเมินว่ามีพื้นที่ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเสี่ยงนาข้าวเสียหายประมาณ 4 แสนไร่ ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นไม่กังวลเท่าไร เพราะส่วนใหญ่จะปลูกตามปริมาณน้ำที่มีอยู่

น้ำอุตฯตะวันออกไม่น่าห่วง

ขณะที่น้ำเพื่อการอุตสาหกรรมในพื้นที่แหล่งใหญ่คือในภาคตะวันออก "สุเทพ" กล่าวว่า ไม่รู้สึกกังวลเพราะปีนี้น้ำภาคตะวันออกถือว่ามีความมั่นคงมาก โดยเฉพาะ 2 เขื่อนหลักขนาดใหญ่คือเขื่อนประแสร์ และหนองปลาไหลของจังหวัดระยอง ล่าสุดยังมีปริมาตรน้ำมากกว่า 80% ของความจุ

"ในพื้นที่ภาคตะวันออกมีความมั่นคงด้านน้ำมาก เนื่องจากน้ำในพื้นที่จังหวัดระยองได้รับอิทธิพลจากพายุในช่วงที่ผ่านมา ส่วนในนิคมอุตสาหกรรมลำพูนที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยข้อเท็จจริงที่ผ่านมาไม่ได้มีการขออนุญาตใช้น้ำจากกรมชลฯ แต่เราก็สนับสนุนในลักษณะส่งน้ำเป็นรอบเวรให้ ซึ่งก็ยืนยันว่าจะแก้ปัญหาได้ตามความต้องการของจังหวัด และจากข้อมูลล่าสุดมี 12 จังหวัดที่เกิดวิกฤติภัยแล้ง และมี 42 จังหวัดใน 152 อำเภอที่เราเฝ้าระวังอยู่ ขณะเดียวกันจากที่ปัจจุบันการประปาส่วนภูมิภาคได้มาอาศัยใช้น้ำจากแหล่งน้ำของกรมชลประทานประมาณ 120 สาขา จาก 234 สาขาทั่วประเทศ ยืนยันว่าใน 120 สาขานี้จะไม่มีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำประปาอย่างแน่นอน"

 แผนสำรองรับเขื่อนใหญ่วิกฤติ

อย่างไรก็ตามอธิบดีกรมชลประทานยอมรับว่า ขณะนี้มีเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่งในหลายภาคของประเทศมีความเสี่ยงน้ำจะไม่เพียงพอใช้สำหรับการอุปโภค-บริโภคในพื้นที่ไปจนถึงเดือนกรกฎาคมที่คาดว่าจะมีฝนตกลงมา ดังนั้นจึงต้องวางแผน หรือปรับแผนการระบายน้ำใหม่เพื่อให้มีน้ำใช้ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม ตัวอย่างในภาคเหนือ ที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ จากคาดการณ์จะมีน้ำใช้ได้ถึงแค่วันที่ 30 เมษายน 2559 ได้ปรับแผนการระบายน้ำ โดยส่งน้ำเป็นรอบเวร ส่งสัปดาห์ละ 1 ครั้ง คิดเป็นน้ำ 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร/สัปดาห์ เพียงพอจะมีน้ำใช้ถึง 31 กรกฎาคม 2559

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น จากการคาดการณ์จะใช้น้ำได้ถึงวันที่ 2 เมษายน 2559 ได้วางแผนใช้น้ำก้นอ่าง (Dead Storage)จนถึง 31 กรกฎาคม 2559 ประมาณ 180 ล้านลูกบาศก์เมตร,ภาคกลาง เขื่อนกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี จากการคาดการณ์จะใช้น้ำได้ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ได้วางแผนใช้น้ำจากน้ำก้นอ่างที่มีอยู่ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะใช้น้ำประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร,ภาคตะวันออก เขื่อนบางพระ จังหวัดชลบุรี จากการคาดการณ์จะใช้น้ำได้ถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 ได้วางแผนใช้น้ำจากก้นอ่าง 5 ล้านลูกบาศก์เมตร และผันน้ำจากเขื่อนหนองปลาไหลเข้าระบบผลิตน้ำประปาได้ 4 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อวัน (กำลังดำเนินการก่อสร้างระบบ คาดจะแล้วเสร็จกลางเดือนเมษายน)

"เราห่วงทุกเขื่อนซึ่งต้องบริหารจัดการอย่างเข้มข้น สำหรับปรากฏการณ์เอลนิโญที่ทำให้เกิดภัยแล้งจากข่าวสารที่ได้มาจากกรมอุตุนิยมวิทยาก็เริ่มคลายตัวแล้ว มองว่าในครึ่งปีหลังสภาวะความแห้งแล้งจะเริ่มคลี่คลายไป และหลังจากนั้นมีข่าวว่าจะปรับเปลี่ยนเป็นปรากฏการณ์ลานินญา ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกชุกหลายฝ่ายเกรงจะเกิดน้ำท่วม ผมว่าเป็นการวิตกเกินไป เพราะมองอีกมุมหนึ่งอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศเวลานี้มีน้ำน้อยมาก ฉะนั้นอาจเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะมีน้ำเติมในอ่างเก็บน้ำมากขึ้นด้วยซ้ำไป จะเป็นผลดีต่อเกษตรกรหากฝนตกชุกจริง แต่ถ้าบอกว่าน้ำจะท่วมในวงกว้างเหมือนในอดีตหรือไม่ ผมมั่นใจว่าไม่ใช่"

 เตรียมแหล่งน้ำรับฝนใหม่

กรมชลฯยังได้เตรียมแผนสำหรับรองรับน้ำฝนที่จะมาถึง โดยเร่งโครงการแก้มลิงกักเก็บน้ำ 30 แห่งเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะเร่งให้แล้วเสร็จในเดือนมีนาคมนี้ รวมถึงการเพิ่มความจุของอ่างเก็บน้ำคลองหลวง จังหวัดชลบุรี อ่างเก็บน้ำดอกกราย จังหวัดระยอง อ่างเก็บน้ำห้วยโสมง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ปราจีนบุรีก็ได้เร่งรัดที่จะเก็บน้ำให้ได้ในฤดูฝนปี 2559 ขณะที่ยังได้จ้างงานชลประทานเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกร ซึ่ง ณ วันที่ 14 มีนาคม มีการจ้างงานแล้วกว่า 1.32 แสนคนเบิกจ่ายแล้ว 2.50 พันล้านบาท

"ขณะนี้ถือว่าแล้งสุดในรอบ 20 ปี ในอนาคตมีโอกาสจะแล้งมากกว่านี้อีกหรือไม่ ถ้าพูดตามสภาพฝนแน่นอนมีโอกาส เพราะเป็นเรื่องของรอบธรรมชาติ แต่ถ้าเราสร้างแหล่งน้ำไว้มากเพียงพอ และมีจำนวนมากขึ้น ก็จะมีความมั่นคงเรื่องน้ำที่จะใช้มากขึ้น ขึ้นกับเราจะวางอนาคตอย่างไร"อธิบดีกรมชลฯ กล่าวทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,140 วันที่ 17 - 19 มีนาคม พ.ศ. 2559