‘PR Sting ray’ ของดีระนอง จากโอท็อปสู่ตลาดโลก

07 ก.พ. 2562 | 02:45 น.
รายงาน : บุญเลื่อน พรหมประทานกุล

พวงพรรณ ธนชาติบรรจง ในวัย 48 ปี เป็นเจ้าของธุรกิจผลิตภัณฑ์หนังปลากระเบน ภายใต้ชื่อ PR Sting ray กล่าวว่า กว่าผลิตภัณฑ์ของ PR Sting ray จะได้รับการยอมรับ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้เป็นของดีระนอง จากเดิม กะปิ กุ้งแห้ง และกาหยู ให้เป็นก.ที่สี่ คือ กระเบน ต้องต่อสู้ผ่านเส้นทางที่่ยากลำบาก

pr2

 

pr3

ช่วยงานครอบครัวตั้งแต่อายุ 14 ปี ตระเวนรับซื้อหนังปลากระเบนจากโรงงานปลาเค็ม เพื่อมาแปรรูปเป็นกระเพาะปลาเทียม ส่งขายให้ร้านอาหาร เป็นรายได้หลักเลี้ยงครอบครัว

มีพ่อค้าชาวฝรั่งเศสมาที่บ้าน บอกต้องการผลิตภัณฑ์หนังปลากระเบนแบบฟอกทั้งตัว ที่ไม่เคยทำ ได้ไปที่องค์การฟอกหนังย่านกล้วยนํ้าไท ก็รู้แต่เรื่องหนังวัว เจ้าหน้าที่ก็บอกให้หาหนังปลากระเบนมาเพื่อเรียนรู้และพัฒนาด้วยกัน จนรู้ขั้นตอนพอได้แนวทางกลับไปทำต่อที่บ้าน

จากหนังปลากระเบนฟอกธรรมชาติ ต่อมาลูกค้าต้องการ หนังปลากระเบนฟอกขาว ต้องไปเรียนเพิ่มจนได้สูตรเป็นของตนเอง และทำส่งอยู่หลายปีและพัฒนาได้หลายสี

ต่อมาพวงพรรณเล่าว่า หนังปลากระเบนฟอกเขียวหยกที่ผลิตส่งให้ถูกตีกลับแทบทั้งล็อต เนื่องจากยังไม่ได้ตามเกณฑ์ จะทิ้งก็เสียเปล่าหมด ตัดสินใจไปจ้างโรงงานตัดเย็บหนังทำเป็นผลิตภัณฑ์กระเป๋าสะพาย และกระเป๋าถือผู้หญิง

ปัญหายังไม่จบ ผลิตภัณฑ์รุ่นแรกที่ทำออกจำหน่ายถูกตีกลับซํ้าอีก เนื่องจากโรงงานใช้เทคนิคเย็บเหมือนหนังวัวทั่วไป ต้องตัดใจขายสินค้าตํ่ากว่าทุนลดความเสียหาย

จากนั้นเดินหน้าแก้ปัญหา กลับเข้าห้องเรียนไปอบรมหลักสูตรระยะสั้น การตัดเย็บเครื่องหนังจากวิทยาลัยสารพัดช่างจนได้พื้นฐาน กลับมาลุยงานออกแบบตัดเย็บผลิตภัณฑ์หนังปลากระเบนเอง ซึ่งพบว่ายากกว่าหนังวัวมาก และไฮไลต์คือปุ่มบนหนังที่เรียกว่าเม็ดทราย ที่จะเรียงตัวกันตามแนวครีบสันหลังของปลา อีกทั้งหนังปลากระเบนแข็งมากต้องขัดให้บางลงถึงจะเย็บได้ โดยหากเย็บหนังวัวได้ 10 ใบต่อชั่วโมง จะเย็บหนังปลากระเบนได้แค่ 1-2 ใบเท่านั้น จึงมีผู้ผลิตน้อยลงทุกที เวลานี้ในเมืองไทยเหลือโรงงานแค่ 2 แห่งเท่านั้น

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก พวงพรรณเปิดร้าน “กระเป๋า” ขายผลิตภัณฑ์ที่ตัดเย็บ เริ่มจากกระเป๋าสตางค์ผู้ชายที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ก่อนจะขยายไปขายที่ศูนย์โอท็อปของจังหวัด ทำให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ต่อมาวางขายในร้านค้าของที่ระลึกในภูเก็ต 4 แห่ง เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นจำนวนมาก เพราะความสวยงามของหนังปลากระเบนที่แวววาว มีความทนทาน และยังเชื่อว่าเทพแห่งโชคลาภประทานพรให้มีเงินเข้ามาไม่ขาดกระเป๋า และเป็นเงินเย็นอยู่นาน เพราะเป็นปลาที่ชอบหมกเลนทรายใต้ท้องทะเลลึก

พวงพรรณตัดสินใจออกบูธในต่างประเทศร่วมกับกรมพัฒนาชุมชนและศูนย์ส่งเสริมการส่งออก ได้ลูกค้าชาวจีนจำนวนมาก และกำลังขยายไปตลาดมาเลเซียและอินเดียต่อไป

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,442 วันที่ 7-9 กุมภาพันธ์ 2562

[caption id="attachment_384889" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]