3 นายกชาวนาขอพักหนี้ แล้งยอดใช้บัตรเครดิตวูบ

20 มี.ค. 2559 | 09:00 น.
3 นายกสมาคมชาวนาโวย แล้งกระทบหนัก ไม่มีน้ำทำนา แถมยังถูกบีบให้จ่ายดอกเบี้ย ธ.ก.ส. ประสานเสียงขอพักชำระหนี้ -เงินกู้ระยะยาว ดอกเบี้ยต่ำ ด้านนายกสมาคมชาวนาข้าวไทย กังวลบัตรเครดิตชาวนาทำให้เป็นหนี้เพิ่มโดยไม่รู้ตัว ขณะผลประเมินยอดการใช้จ่ายบัตร ปี 2559 คาดลดลง เผยมีหนี้เอ็นพีแอลกว่า 3 พันล้านบาท

นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึง สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2559 ว่า หากจนถึงกรกฎาคมนี้ไม่มีฝนตก ทางสมาคมกังวลว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาหนี้สินให้กับชาวนาได้อย่างไร ล่าสุดเมื่อเร็วๆ ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการบริหาร(บอร์ด) ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยมีนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส.เป็นประธาน ซึ่งในที่ประชุมได้มีข้อเสนอคือ 1. ให้ชาวนารวมกลุ่มกันเป็นแปลงใหญ่ โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ติดกัน ร่วมกู้ตั้งแต่ 8 หมื่น- 1 แสนบาท ปลอดดอกเบี้ย ระยะเวลา 1 ปี หรือถ้าเกษตรกรเลือกที่จะกู้ระยะยาว 10 ปี ในปีที่ 1-7 จะให้อัตรา ดอกเบี้ยคงที่ 4% ส่วนในปีที่ 8-10 ให้เป็นดอกเบี้ยลอยตัว

ส่วนกลุ่มที่ 2 ให้กู้ในนามองค์กรที่รวมกลุ่มกันกลุ่มละ 5 ล้านบาท เป้าหมาย 50 กลุ่ม เสนอดอกเบี้ย 0.1% เงินดังกล่าวนี้จะอยู่ที่ธนาคาร ชาวนาจะเบิกได้ก็ต่อเมื่อนำไปซื้อปัจจัยการผลิตจริงๆ ไม่ใช่สิ่งอำนวยความสะดวก หรือนำไปชำระหนี้ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของการให้กู้เหมือนในอดีต ส่วนในเรื่องบัตรเครดิตเกษตรกร (บัตรเครดิตชาวนา) นั้น แม้ว่าจะอำนวยความสะดวกให้กับชาวนาได้มาก แต่ก็เป็นกังวลว่าจะทำให้ชาวนาเป็นหนี้ไม่รู้ตัว และที่สำคัญการซื้อสินค้าราคาอาจจะสูงกว่าร้านค้าทั่วไปที่จ่ายเป็นเงินสด เพราะสามารถต่อรองได้

เช่นเดียวกันกับ นายปัญญา จุลอำพันธ์ นายกสมาพันธ์เครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย ที่กล่าวว่า นับตั้งแต่รัฐบาลให้งดทำนา เพราะน้ำไม่เพียงพอ ส่งผลให้ชาวนาขาดรายได้ ที่ผ่านมาพยายามที่จะเสนอว่า ธ.ก.ส.ควรพักชำระหนี้ทั้งต้นและดอก อย่างน้อย 2 ปี แต่เวลานี้ก็ยังจะต้องจ่ายดอกเบี้ยอยู่ดี ทำให้ชาวนาประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิตเพราะเพียงแค่เงินใช้จ่ายภายในครอบครัวก็ยังไม่เพียงพอ ขณะที่ในปีนี้เชื่อภัยแล้งจะรุนแรงมากขึ้น

"เกษตรกรบางคน หันไปปลูกพืชน้ำน้อยที่รัฐบาลสนับสนุน โดยจะหาตลาดให้ แต่ปรากฏว่าถูกตีกลับ เพราะไม่ได้คุณภาพ บางคนก็ไม่มีตลาดออกมาก็ขายไม่ได้ สุดท้ายเหมือนนโยบายซ้ำเติมทุกข์ของชาวนาหนักมากขึ้น"

ขณะที่นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวถึง มาตรการที่ ธ.ก.ส. ออกมานั้นในส่วนของบัตรสินเชื่อเกษตรกรให้ขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินต้นออกไปถึง 24 เดือน เฉพาะพื้นที่ภัยแล้ง ไม่ได้แบบเหมาเข่งทั้งประเทศ เห็นว่ามีความเหมาะสม ส่วนชาวนาพื้นที่ใดที่ยังทำนาได้ตามปกติ ก็ควรชำระหนี้ตามปกติถือว่าถูกต้องแล้ว เพราะวันนี้ชาวนาจะต้องมีศักดิ์ศรี และต้องรู้จักหาช่องการขายสินค้าเอง ไม่ใช่พึ่งแต่โรงสีและผู้ส่งออก

"หากรัฐบาลมีมาตรการออกให้พักชำระหนี้ ทางสมาคมเห็นว่าควรจะพักชำระดอกด้วย อย่างน้อยก็ให้มีรายได้พอปะทังเลี้ยงชีวิตและครอบครัว"

นายวิษุวัต เปรุนาวิน ผู้อำนวยการสำนักบัตรสินเชื่อเกษตรกร ธ.ก.ส. กล่าวว่า ล่าสุดมติ บอร์ด ได้มีมาตรการออกมาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ซื้อปัจจัยการผลิตผ่านบัตรสินเชื่อเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบภัยแล้ง ให้เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ไปประเมินนั้นๆ ว่า หากในพื้นที่ได้รับผลกระทบภัยแล้งแล้วว่ามีรายได้หดหายไป 50% จะมีการขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป 1 รอบฤดูการผลิต โดยที่ไม่ต้องส่งเงินต้น แต่ต้องชำระดอกเบี้ย

ขณะที่ปัจจุบันมีการส่งมอบบัตรสินเชื่อให้เกษตรกรแล้วทั้งสิ้น 3 ล้านบัตร แต่มีเกษตรกรใช้จ่ายผ่านบัตรประมาณ 2 ล้านราย (วงเงินในบัตรไม่เกิน 5 หมื่นบาท) มียอดการใช้จ่ายผ่านบัตร 3 หมื่นล้านบาท และมีหนี้ที่คาดว่าจะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ประมาณกว่า 3 พันล้านบาท หรือ ประมาณ 10% ถือว่าไม่มากนัก ส่วนในปีนี้คาดการใช้บัตรจะลดลงจากภัยแล้งไม่มีน้ำทำการเกษตร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,140 วันที่ 17 - 19 มีนาคม พ.ศ. 2559