ปตท.ตีกัน กฟผ.นำเข้าLNG ดึงมาร่วมลงทุนคลัง 7.5 ล้านตัน แก้ปัญหาลงทุนซํ้าซ้อน

18 มี.ค. 2559 | 03:00 น.
ปตท.หวังผูกขาดนำเข้าแอลเอ็นจี ดึงกฟผ.ที่มีแผนนำเข้าป้อนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ให้มาจับมือร่วมกันลงทุนคลังแอลเอ็นจีเฟส 2 ขนาด 7.5 ล้านตันที่ระยอง แก้ปัญหาลงทุนซ้ำซ้อนด้านโครงสร้างพื้นฐาน หวั่นกระทบต้นทุนค่าไฟประเทศ ขณะที่การนำเข้าแอลเอ็นจีปตท.เตรียมหารือเชลล์และบีพี ขอแก้สัญญาระยะยาว เป็นราคาตลาดในสัดส่วนที่มากขึ้น หลังราคาถูกลงมาก

นายปิติพันธ์ เทพปฏิมากรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีแผนที่จะลงทุนท่อสร้างท่อส่งก๊าซระยะทาง 30 กิโลเมตร และคลังแอลเอ็นจี ในรูปแบบ FSRU (Floating Storage & Regasification Unit : FSRU) เพื่อส่งก๊าซไปยังโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงพลังงานนั้น

ล่าสุดทางปตท.เตรียมที่จะหารือกับทางกฟผ.เพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะร่วมลงทุนคลังก๊าซแอลเอ็นจีด้วยกัน เนื่องจากเห็นว่าการลงทุนของกฟผ.ดังกล่าวจะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพราะท่อส่งก๊าซเส้นที่ 5 ของปตท.ที่มีอยู่ ได้ก่อสร้างผ่านโรงไฟฟ้าพระนครใต้และสามารถป้อนก๊าซให้ได้

ทั้งนี้ การร่วมลงทุนดังกล่าว จะเป็นการดึงกฟผ.เข้ามาร่วมลงทุนในคลังก๊าซแอลเอ็นจีเฟส 2 ขนาด 7.5 ล้านตันที่จังหวัดระยอง ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เรียบร้อยแล้ว ตามแผนคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2566 แต่การตัดสินใจว่าใครจะเป็นผู้ลงทุนนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐ หากรัฐต้องการให้ ปตท.ลงทุนก็พร้อม แต่หากทาง กฟผ.สนใจ ปตท.ก็พร้อมเปิดทางร่วมทุน โดยสัดส่วนจะเป็นอย่างไรนั้นก็ต้องหารือร่วมกันต่อไป

"คลังแอลเอ็นจีเฟส 2 ยังไม่ทราบว่ารัฐจะให้ใครเป็นผู้ลงทุน แต่ต้องขออนุมัติไว้ก่อนเพื่อรองรับปริมาณการนำเข้าแอลเอ็นจีที่สูงขึ้น โดยขณะนี้คลังส่วนขยายจาก 5 ล้านตัน เป็น 10 ล้านตัน จะเสร็จในปีหน้า แต่แนวโน้มนำเข้าแอลเอ็นจีที่เพิ่มขึ้นทำให้ต้องมีคลังเฟสถัดไป ส่วนท่าเรือและคลังที่ กฟผ.จะทำเพื่อป้อนโรงไฟฟ้าพระนครใต้นั้น ตอนนี้กำลังหารือกันอยู่เพราะมองว่าเป็นการลงทุนที่ซ้ำซ้อนหรือไม่ หากต้องการลงทุนคลังแอลเอ็นจี จะมาร่วมกันลงทุนคลังเฟส 2 หรือไม่ ซึ่งต้องการให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว ขณะเดียวกันคาดว่ามูลค่าลงทุนจะถูกลง เพราะราคาเหล็ก ท่อ ปรับลดลง"

นายปิติพันธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการลงทุนโครงการท่อก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 5 มูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาทนั้น คาดว่าต้นทุนจะถูกลงประมาณ 30% หลังจากราคาวัสดุปรับลดลง ส่วนโครงการ FSRU ขนาด 3 ล้านตันที่เมียนมา ยังไม่ได้ข้อสรุป ต้องรอความชัดเจนจากทางรัฐบาลเมียนมาก่อน แต่ที่ผ่านมาได้ส่งทีมสำรวจเพื่อศึกษาความเป็นได้ในการลงทุนโครงการดังกล่าวแล้ว ซึ่งต้องการให้โครงการดังกล่าวมีข้อสรุปออกมาโดยเร็ว เนื่องจากคาดว่าแหล่งก๊าซเยตากุนในเมียนมา จะหมดในปี 2565 และแหล่งยาดานา จะหมดปี 2567 ขณะที่แหล่งซอติกา จะหมดปี 2571-2572 ดังนั้นทาง ปตท.จึงมีแผนก่อสร้างคลังแอลเอ็นจี เพื่อป้อนแอลเอ็นจีมายังโรงไฟฟ้าในประเทศไทย

ส่วนแผนนำเข้าแอลเอ็นจีในปี 2559 คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งพบว่าราคาแอลเอ็นจีในตลาดจร (สปอต) อยู่ในระดับต่ำเพียง 4.6 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ลดลงจากปีก่อนที่ 6 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน นับว่าเป็นช่วงตลาดของผู้ซื้อ ดังนั้นทาง ปตท.จึงทบทวนสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีระยะยาว 20 ปี กับทางบริษัท Shell Eastern Trading (PTE) LTD และบริษัท BP Singapore PTE Limited รายละ 1 ล้านตันต่อปี โดยต้องการทบทวนสูตรโครงสร้างราคาแอลเอ็นจี รวมทั้งเจรจาเพื่อขอซื้อสัดส่วนสปอตเพิ่มขึ้น โดยในสัญญาเดิมระบุว่า ปตท.สามารถซื้อแอลเอ็นจีในตลาดสปอตได้ 30% แต่ ปตท.จะต่อรองอยู่ที่ 50% เนื่องจากพบว่าราคาแอลเอ็นจีในตลาดสปอตมีราคาต่ำ คาดว่าในช่วง 3-5 ปียังเป็นโอกาสของผู้ซื้อ หลังจากนั้นเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปจะหารือกับทางเชลล์และบีพีอีกครั้ง

ด้านนายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า โครงการลงทุน FSRU ขนาด 220-240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ กำลังการผลิตรวม 1.5 พันเมกะวัตต์ ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษา และจะต้องว่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ คาดว่าจะมีข้อสรุปภายในปีนี้ อย่างไรก็ตามแผนลงทุนท่อและ FSRU ของ กฟผ. ที่ไม่เชื่อมต่อกับระบบท่อส่งก๊าซเส้นที่ 5 ของ ปตท.นั้น เนื่องจาก กฟผ.ต้องการนำเข้าแอลเอ็นจีเพื่อป้อนโรงไฟฟ้าพระนครใต้เท่านั้น และหากทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มองว่าจำเป็นต้องเปิดให้บุคคลที่สามเข้ามาใช้นั้น มองว่าคงไม่มีใครใช้เพราะเป็นท่อระยะสั้นที่ต่อไปยังโรงไฟฟ้าพระนครใต้โดยตรง อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวยังไม่มีข้อสรุป ต้องรอผลศึกษาจากที่ปรึกษาก่อน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,140 วันที่ 17 - 19 มีนาคม พ.ศ. 2559