'สมาร์ทโฮม' เพิ่มมูลค่าโครงการอสังหาริมทรัพย์

05 ก.พ. 2562 | 14:46 น.
'อีไอซี' ประเมินว่า นวัตกรรมอุปกรณ์ Smart Home จะมีส่วนช่วยให้ชีวิตประจำวันของผู้คนมีความสะดวกสบายมากขึ้น และในระยะเวลาอันสั้น ราคาของอุปกรณ์เหล่านี้จะสามารถจับต้องได้มากขึ้น โดยมีแรงกดดันจากการเข้ามาในตลาดของผู้เล่นรายใหญ่จากประเทศจีน

image002
ท่ามกลางกระแสการพูดถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนคำหลาย ๆ คำกลายเป็น Buzzwords ยอดฮิตไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Blockchains, Big data, AI, Machine Learning, 3D Printing, Internet of Things (IoTs) และอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อเราในหลากหลายมิติและองค์ประกอบที่แตกต่างกันออกไป หลายเทคโนโลยีดังกล่าวอาจจะฟังดูไกลตัวสำหรับบางคน แต่หนึ่งในนวัตกรรมที่กำลังเป็นที่นิยมและจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของทุกคนอย่างมีนัยสำคัญ คือ การประยุกต์แนวคิด "Internet of Things" มาใช้กับอุปกรณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่อยู่รอบตัวเรา โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่อยู่ภายในบ้าน หรือที่เรียกว่า "Smart Home" บ้านอัจฉริยะนั่นเอง

ย้อนไปไม่ถึง 10 ปี คอนเซ็ปท์บ้านอัจฉริยะอาจจะยังฟังดูเหมือนเรื่องในนิยายไซไฟ แต่ปัจจุบัน อุปกรณ์เหล่านี้กลายเป็นสินค้าที่วางขายทั่วไปในท้องตลาด ซึ่งหลาย ๆ ชิ้นก็มีราคาถูกลงมามาก จนผู้บริโภคทั่วไปสามารถเอื้อมถึง

จากการประเมินของ IDC สถาบันวิจัยด้านการตลาดของสหรัฐฯ ระบุว่า จำนวนอุปกรณ์lสมาร์ทโฮมของโลกเติบโตประมาณ 31% ในปี 2018 หรือประมาณ 644 ล้านเครื่อง และคาดว่า ในปี 2022 อุปกรณ์เหล่านี้จะเติบโตถึงเกือบ 1,300 ล้านเครื่อง โดย A.T. Kearney ประเมินมูลค่าตลาดสมาร์ทโฮมทั่วโลกจะมีมากกว่า 263,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสมาร์ทโฮมส่วนใหญ่จะมี 2 หมวดหลัก คือ อุปกรณ์เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต และอุปกรณ์ที่ตอบสนองความต้องการด้านความปลอดภัย

ปัจจุบัน ผู้ประกอบการในวงการอสังหาริมทรัพย์มีการนำอุปกรณ์สมาร์ทโฮมมาใช้มากขึ้น เพื่อเป็นจุดขายในการตลาด ชูจุดขายการยกระดับคุณภาพชีวิตลูกค้าให้สะดวก ปลอดภัย สนุกสนาน และมีส่วนช่วยในการดูแลสุขภาพของลูกค้า

และจากการสำรวจข้อมูลโดย Statista บริษัทวิจัยด้านการตลาดของเยอรมนี ระบุว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีการใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฮมมากที่สุดในโลก โดย Home Automation มีสัดส่วนมากที่สุด ตามมาด้วยอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัย รองลงมา คือ สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น


image006

การใช้งานสมาร์ทโฮม เน้นการเพิ่มความสะดวกสบายในการอยู่อาศัยเป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางในไทย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ อาทิ แสนสิริ, อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์, ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ และเอพี ไทยแลนด์ ต่างลงทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีอุปกรณ์สมาร์ทโฮมติดตั้งมาพร้อมกับตัวบ้านให้กับลูกค้า โดยอุปกรณ์ที่เริ่มมีการใช้งานแพร่หลายมากขึ้น คือ Smart Mirror กระจกอัจฉริยะ ที่สามารถเปิดเพลง ดูวิดีโอจากโทรศัพท์ มีหน้าปัดแสดงเวลา บอกอุณหภูมิ หรือมี Bluetooth เพื่อใช้คุยโทรศัพท์ได้

อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่กำลังมาแรง คือ Smart Speaker หรือ ระบบการสั่งงานด้วยเสียง ที่เป็นเสมือนตัวเชื่อมกับอุปกรณ์ IoT อื่น ๆ ภายในบ้าน ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้ช่วยส่วนตัวของเจ้าของบ้าน หรือที่เรียกว่า Virtual Assistant ในปัจจุบัน ผู้ผลิตอุปกรณ์ Smart Home ต่างพัฒนาอุปกรณ์ให้สามารถเชื่อมต่อกับ Smart Speaker กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Amazon Echo หรือ Google Home เป็นต้น

อีไอซีวิเคราะห์ 3 ปัจจัยสำคัญทางการแข่งขันที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ใช้ในการนำอุปกรณ์สมาร์ทโฮมมาปรับใช้กับที่อยู่อาศัย ได้แก่ 1.การเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน (Embedded into everyday life) 2.สิ่งที่ทำให้เกิดความประทับใจ (Wow factors) และ 3.การบริการหลังการขาย (Aftersales service)

การเชื่อมอุปกรณ์สมาร์ทโฮมต่าง ๆ เพื่อใช้งาน และมอนิเตอร์ประสิทธิภาพการทำงานผ่านสมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะเป็น การควบคุมความปลอดภัย การบริหารการใช้พลังงานภายในบ้าน เช่น ระบบน้ำ ระบบไฟฟ้า และการบริหารอุปกรณ์เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เช่น การเชื่อมจอของสมาร์ทโฟนเข้ากับทีวี หรือ Smart Mirror ในห้องน้ำ เพื่อให้สามารถรับชมรายการที่กำลังติดตามได้ ถือเป็นความพยายามที่จะนำระบบสมาร์ทโฮมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้อยู่อาศัย และยังเป็นการสร้าง Wow Factors เพื่อใช้เป็นจุดขายในการโปรโมทสินค้า

อีไอซี แนะนำว่า การนำฟังก์ชันต่าง ๆ ของสมาร์ทโฮมมาใช้ ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค (Consumer Privacy) โดยมีการอธิบายวิธีการเก็บข้อมูลและนำข้อมูลมาวิเคราะห์อย่างมีขั้นตอน พร้อมทั้งการตั้งค่าการลบข้อมูลที่ลูกค้าไม่ต้องการ ให้ถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบ


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

ผลสำรวจจาก Parks Associates บริษัทด้านการวิเคราะห์ตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในสหรัฐฯ ระบุว่า ผู้บริโภคกว่า 80% มีความต้องการใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฮมมากขึ้น และเชื่อว่า อุปกรณ์เหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตของพวกเขาภายในระยะเวลาอันสั้น โดยผู้ผลิตและผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต้องให้ความสำคัญกับการอธิบายเรื่องการจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้อย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการตัดสินใจใช้งาน

และจากผลสำรวจของ Gfk Smart home study 2018 ระบุว่า ในสหรัฐฯ ผู้ใช้งานอุปกรณ์สมาร์ทโฮมกลุ่มอายุน้อยกว่า 40 ปี ส่วนใหญ่เลือกอุปกรณ์สมาร์ทโฮมและติดตั้งด้วยตัวเอง เพราะสะดวกในการดูแลรักษา และมีทางเลือกมากกว่า ในขณะที่ กลุ่มอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป ชอบสมาร์ทโฮมที่ติดตั้งมาพร้อมกับตัวบ้าน โดยผลสำรวจยังระบุอีกว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการให้ระบบของอุปกรณ์สมาร์ทโฮมหลาย ๆ ชิ้น ที่อาจจะมาจากผู้ผลิตต่างแบรนด์สามารถเชื่อมต่อและทำงานร่วมกันได้ (Standardized Communication) ซึ่งในปัจจุบัน อุปกรณ์ต่างแบรนด์ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถทำได้

นอกจากนี้ อีไอซียังประเมินแนวโน้มในอนาคต 4 เทรนด์หลัก ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาตลาดสมาร์ทโฮมทั่วโลก รวมถึงในไทยด้วย ได้แก่ 1.การบำรุงรักษาแบบคาดคะเน (Predictive Maintenance) หรือ การแจ้งเตือนประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์สมาร์ทโฮม ว่า มีอะไรบกพร่อง หรือถึงเวลาที่ต้องซ่อมบำรุง 2.การสั่งงานด้วยเสียง (Voice Command)

3.การคาดการณ์แนวโน้มพฤติกรรม (Behavior Prediction) เป็นการการประยุกต์ใช้ Artificial Intelligence (AI) เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัย โดยพฤติกรรมเหล่านี้จะถูกนำมารวมกันเป็นกลุ่มและจัดระบบเป็นไทม์ไลน์ในการทำงาน เช่น หากเจ้าของบ้านขับรถเข้าถึงปากซอย อาจจะมีการแจ้งเตือนมาทางสมาร์ทโฟน ว่า เจ้าของบ้านมีความต้องการที่จะเปิดไฟหน้าบ้าน และเปิดเครื่องปรับอากาศในพื้นที่ที่คาดว่าจะถูกใช้งาน และอื่น ๆ

และ 4.สมาร์ทโฮมราคาที่จับต้องได้ (Affordable Smart Home) การเข้ามาในตลาดสมา์ทโฮมของผู้เล่นรายใหญ่จากจีน เช่น Xiaomi และ Alibaba กำหนดราคาสินค้าส่วนใหญ่เพียงหลักร้อยหรือหลักพัน ทำให้ตลาดสมาร์ทโฮมเข้าถึงง่าย การแข่งขันด้านราคาจะทำให้ตลาดขยายตัวได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

จากผลสำรวจข้อมูลผู้บริโภคของอีไอซี จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 7,701 คน พบว่า สมาร์ทโฮมจะกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญมากขึ้นในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคยุคใหม่ และเมื่อวิเคราะห์ถึงประเภทของอุปกรณ์ที่ผู้บริโภคสนใจ พบว่า ราว 77% ของผู้ตอบแบบสำรวจ อยากให้มีระบบเตือนภัยอัจฉริยะภายในที่พักอาศัย ในขณะที่ 73% ต้องการให้มีระบบช่วยควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าและจัดการพลังงานภายในบ้าน ช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย และลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค

ในอนาคต สมาร์ทโฮมจะกลายเป็น New Normal จะเห็นนวัตกรรมถูกนำมาใช้มากขึ้นในตลาดไทย อุปกรณ์สมาร์ทโฮมกำลังจะก้าวผ่านการเป็นเพียงอุปกรณ์ยอดฮิตอย่าง Smart TV และกล้องวงจรปิดไปสู่อุปกรณ์อื่น ๆ อีกมากมาย

595959859