โซลาร์ตรอนโหมลงทุน ทุ่ม 1 หมื่นล้านจับตลาดCLMV

19 มี.ค. 2559 | 09:00 น.
บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) ถือเป็นผู้ผลิต ประกอบและจำหน่ายอุปกรณ์และเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) รายใหญ่ของประเทศไทยในเวลานี้ก็ว่าได้ โดยมีกำลังการผลิตแผ่นเซลล์ 200 เมกะวัตต์ต่อปี และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ 200 เมกะวัตต์ต่อปี ซึ่งตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี 2015 ได้กำหนดการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ของประเทศไว้ถึง 6 พันเมกะวัตต์ ภายในปี 2579 ดังนั้น บริษัท โซลาร์ตรอนฯ จึงเป็นที่จับตาของผู้ที่อยู่ในวงการว่า การดำเนินของบริษัทนี้หลังจากนี้ไปจะมีทิศทางเป็นอย่างไร "ฐานเศรษฐกิจ" มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ปัทมา วงษ์ถ้วยทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โซลาร์ตรอน อย่างน่าสนใจ

[caption id="attachment_38780" align="aligncenter" width="328"] ปัทมา วงษ์ถ้วยทอง  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  โซลาร์ตรอน ปัทมา วงษ์ถ้วยทอง
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
โซลาร์ตรอน[/caption]

 เตรียมรับงานเพิ่ม

ปัทมา ชี้ให้เห็นว่า จากที่กระทรวงพลังงานได้เปิดโครงการนำร่องโซลาร์เซลล์ติดตั้งบนหลังคาและอาคาร (โซลาร์รูฟท็อป) เสรี จำนวน 100 เมกะวัตต์ แต่ไม่สามารถขายไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบได้ ประกอบกับโครงการโซลาร์ฟาร์มหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร 600 เมกะวัตต์ ก็ยังต้องรอความชัดเจนจากทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ส่งผลให้โครงการล่าช้าออกไป จากเดิมที่คาดว่าจะมีความชัดเจนตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามบริษัทได้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าในโครงการโซลาร์ฟาร์มหน่วยงานราชการฯไป 18 ใบ โครงการละ 5 เมกะวัตต์ รวม 90 เมกะวัตต์ ซึ่งคงต้องรอ กกพ. ประกาศจับสลากต่อไป

ดังนั้นแทนที่บริษัทจะรอโครงการของภาครัฐเพียงอย่างเดียว จึงมองหาโอกาสลงทุนเพิ่มเติม โดยล่าสุดมีการเจรจากับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ที่จะเป็นพันธมิตรร่วมกัน ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปรวม 21 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 3 เฟส เฟสแรกจะเริ่มที่ 7 เมกะวัตต์ภายในปีนี้ ใช้เงินลงทุน 350 ล้านบาท และที่เหลืออีก 14 เมกะวัตต์ ในปี 2560 เงินลงทุน 700 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากพบว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง โดยมีค่าใช้จ่ายค่าไฟ 300 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจะช่วยลดพีกไฟฟ้า ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ที่ต้องการลดใช้ไฟฟ้าในช่วง 20 ปีข้างหน้า แบ่งเป็นภาคอาคาร 34%, อุตสาหกรรม 22% ,บ้านที่อยู่อาศัย 8% และภาคขนส่ง 46%

 เล็งลงทุนบนอาคาร

นอกจากนี้ บริษัทยังได้หารือกับโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟจำนวนมาก และเป็นโรงงานที่มีผลกำไรเพื่อติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนอาคารโรงงาน หลังจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านการประหยัดพลังงานที่ใช้โซลาร์รูฟท็อป โดยสนับสนุนเงินไม่เกิน 200 ล้านบาท ไปใช้ลดหย่อนภาษีภายใน 3 ปี ส่งผลให้ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมตื่นตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ต้นทุนค่าไฟในการผลิตสินค้าของโรงงานช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยได้หารือกับโรงงานผลิตยางรถยนต์และโรงงานแช่แข็งไปแล้ว เป็นต้น

ขณะที่โครงการหมู่บ้านจัดสรร บริษัทยังไม่สนใจเข้าลงทุน เนื่องจากมีความถนัดลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งใหญ่กว่า ประกอบโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาบ้านยังติดปัญหาเรื่องกฎที่ห้ามไฟฟ้าส่วนเกินไหลย้อนเข้าระบบ แต่หากในอนาคตมีระบบการซื้อขายไฟโดยใช้วิธีหักลบหน่วย หรือ เนตมีเตอริ่ง (Net Metering) อย่างเสรี ซึ่งไฟฟ้าที่ไหลเข้าระบบจะได้รับชดเชย บริษัทก็สนใจลงทุน

 รายได้ปีนี้ทะลุ 2.5 พันล้านบาท

สำหรับแนวโน้มรายได้ปี 2559 บริษัทตั้งเป้าไว้ที่กว่า 2.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 722 ล้านบาท และกลับมามีกำไรสุทธิอีกครั้ง จากปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 39 ล้านบาท เนื่องจากโครงการขยายกำลังผลิตแผงโซลาร์เซลล์ เฟส 2 ที่มีกำลังการผลิตจาก 70 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 200 เมกะวัตต์เสร็จแล้ว โดยในช่วงไตรมาส 1/2559 บริษัทมีรายได้ 400 ล้านบาท และคาดว่าไตรมาส 2/2559 จะมีรายได้ 800 ล้านบาท

ขณะเดียวกันแม้ว่าโครงการโซลาร์ฟาร์มหน่วยงานราชการฯ ในประเทศยังไม่คืบ แต่บริษัทเตรียมทำตลาดส่งออกเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากโรงงานแผงเซลล์ขยายกำลังการผลิตเสร็จแล้ว ประกอบกับยุโรปและสหรัฐฯใช้มาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดแผงโซลาร์เซลล์จากจีน ส่งผลให้สินค้าที่ผลิตจากประเทศไทยเป็นที่ต้องการของตลาดสูงขึ้น โดยคาดว่าปีนี้จะมีรายได้จากการส่งเสริมเพิ่มเป็น 50% และรายได้จากโครงการในประเทศอีก 50%

"บริษัทตั้งเป้ารายได้ปีนี้จะเติบโตมากกว่า 100% จากปีก่อน เพราะปี 2558 ที่ผ่านมา ยังไม่มีการส่งออก เพราะโรงงานยังไม่เสร็จ โดยรายได้ปีนี้จะมาจากตลาดส่งออก 100 เมกะวัตต์ โครงการในประเทศ 5 เมกะวัตต์ และโครงการในต่างประเทศอีก 50 เมกะวัตต์"

 รุกตลาด CLMV เพิ่ม

ปัทมา เปิดเผยทิศทางการดำเนินงานอีกว่า อยู่ระหว่างศึกษาโครงการลงทุนโซลาร์ฟาร์มในประเทศเพื่อนบ้านแถบ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เนื่องจากมองว่าประเทศดังกล่าวยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าและได้รับการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยจากเอดีบีหากเป็นการลงทุนพลังงานสะอาด โดยปัจจุบันพิจารณาโครงการลงทุนไว้ 2 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา เมียนมา ซึ่งโครงการลงทุนโซลาร์ฟาร์มในกัมพูชา 50 เมกะวัตต์ จะอยู่ใกล้พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษติดกับจังหวัดสระแก้ว ส่วนโครงการโซลาร์ฟาร์มที่เมียนมา 50 เมกะวัตต์ จะอยู่ที่เมืองย่างกุ้ง ซึ่งจะผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้กับนิคมอุตสาหกรรม

โดยในปีนี้คาดว่าจะจับมือกับพันธมิตรท้องถิ่นลงทุน (เข้ามาถือหุ้น 25%) โครงการโซลาร์ฟาร์มขนาด 50 เมกะวัตต์ที่ประเทศกัมพูชาและเมียนมาได้ ซึ่งจะแบ่งการดำเนินงานเป็นหลายระยะ โดยเฟสแรกจะอยู่ที่ 50 เมกะวัตต์ เฟส 2 เพิ่มเป็น 100 เมกะวัตต์ เฟส 3 เพิ่มเป็น 150 เมกะวัตต์ และเฟส 4 เพิ่มเป็น 200 เมกะวัตต์ รวมการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้การขยายโครงการลงทุนขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศดังกล่าว โดยคาดว่าในปีนี้คงจะเริ่มโครงการโซลาร์ฟาร์มในกัมพูชา 50 เมกะวัตต์ก่อน ใช้เงินลงทุนราว 2.5 พันล้านบาท จากนั้นค่อยเริ่มโครงการในเมียนมาต่อไป โดยใช้เงินลงทุน 50 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์

 เล็งลงทุนแร่ควอตซ์

สำหรับโครงการลงทุนโรงงานผลิตซิลิคอนบริสุทธิ์เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ อยู่ในแผนลงทุน 5 ปีของบริษัท ซึ่งนับว่าเป็นธุรกิจต้นน้ำในการผลิตแผงเซลล์ของประเทศไทย โดยพบว่าปริมาณสำรองแร่หินควอตซ์มีจำนวนมากในแถบจังหวัดราชบุรีและกาญจนบุรี โดยจะต้องหารือกับทางภาครัฐเพื่อพิจารณามาตรการส่งเสริมธุรกิจต้นน้ำต่อไป

ส่วนรายละเอียดการลงทุนโครงการดังกล่าว นับว่าเป็นโรงงานผลิตแผงเซลล์เฟส 2 เบื้องต้นคาดว่าจะมีกำลังการผลิต 200 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 2 พันล้านบาท จากปัจจุบันโรงงานผลิตแผงเซลล์เฟสแรกมีกำลังการผลิตแล้ว 200 เมกะวัตต์ และหากโครงการต้นน้ำแล้วเสร็จ จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตแผงเซลล์ของไทยลดลง 25% ส่วนแหล่งเงินทุนจะมาจากการระดมทุนและเงินกู้จากสถาบันการเงิน

 วอนรัฐหนุนสินค้าไทย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโครงการโซลาร์ฟาร์ม/โซลาร์รูฟท็อป เกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งต้องการให้ภาครัฐส่งเสริมสินค้าของผู้ประกอบการไทยก่อน โดยเฉพาะโครงการของภาครัฐที่กำหนดให้ใช้สินค้าไทยก่อน เนื่องจากมีโรงงานชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ สินค้ามีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด การติดต่อเพื่อเคลมสินค้าสามารถทำได้ง่าย นอกจากนี้รายได้ยังอยู่ในประเทศ ไม่ใช่การซื้อแผงเซลล์แล้วมาติดตั้ง ซึ่งเงินส่วนนี้จะไหลออกนอกประเทศ โดยปัจจุบันผู้ประกอบการผลิตแผงเซลล์ในประเทศมี 6 ราย กำลังการผลิตรวม 500 เมกะวัตต์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,140 วันที่ 17 - 19 มีนาคม พ.ศ. 2559