แกะรอย ทดสอบ 5G รัฐ-เอกชนลุยเต็มสูบ

07 ก.พ. 2562 | 03:06 น.
        การทดสอบการใช้งานระบบ 5G ของประเทศ ไทยกำลังได้รับความสนใจจากบริษัทชั้นนำทางเทคโนโลยีระดับโลกหลายราย หลังจากก่อนหน้านี้บริษัทหัวเว่ยฯ ได้ประกาศจัดตั้งศูนย์ทดสอบที่ 5G Testbed ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ด้วยงบลงทุนราว 160 ล้านบาท ถือเป็นการลงทุนจัดตั้งฐานทดสอบ 5G แห่งแรก ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของหัวเว่ย ล่าสุดบริษัทชั้นนำทางเทคโนโลยีระดับโลกให้ความสนใจขอนำอุปกรณ์ของตัวเองเข้ามาติดตั้งและทำการทดสอบอุปกรณ์ ประกอบด้วย เอ็นอีซี ซีเมนส์ ซูมิโตโม ซิสโก้ ไมโครซอฟท์ และอินเทล

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ระบุ โครงการทดสอบการใช้งาน 5G เปิดกว้างสำหรับผู้สนใจที่จะเข้ามาร่วมพัฒนาการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ ตั้งเป้าหมายว่า การจัดตั้งศูนย์ทดสอบนี้จะช่วยลด 5G adoption time สร้างเวทีนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมบนเทคโนโลยี 5G สำหรับประเทศไทย บนหลักการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน มีการเปิดรับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ผู้ผลิตอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่หลากหลาย เพื่อร่วมกันทดสอบใช้งาน (Use Cases) ที่เหมาะสมและคาดว่าจะมีการนำมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทยโดยเร็ว

นอกจากนี้ยังได้มีการหารือร่วมกับพันธมิตรรายใหม่ๆ ที่ยื่นแสดงความจำนงขอทดสอบการใช้งานระบบ 5G ที่ศูนย์การทดสอบเทคโนโลยี 5G ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งกระทรวงฯ ประสานงานการจัดตั้งขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ในจำนวนนี้มี 2 รายสำคัญที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของการลงทุนรับเศรษฐกิจดิจิตอล ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

5G

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของภาคเอกชน 2 ค่ายมือถือ คือ เอไอเอส หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทรู คอร์ ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็ได้เปิดศูนย์ทดสอบ 5G ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดตั้งศูนย์ 5G AI / IoT Innovation Center เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการทดสอบ 5G ที่มีการติดตั้งและดูแลอุปกรณ์สถานีฐานของโครงข่าย 5G เตรียมความพร้อมและรองรับการให้บริการโทรคมนาคม

สำหรับความร่วมมือในระยะแรกจะมีการตั้งศูนย์ทดลองทดสอบ 5G ในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยการติดตั้ง
สถานีฐาน ณ อาคารวิศวฯ 100 ปี เพื่อรองรับการให้บริการครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยใช้ความถี่ย่าน 26.5 – 27.5 GHz รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ 5G AI/IoT Innovation Center ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งในระยะถัดไปจะมีการติดตั้งอุปกรณ์โครงข่ายศูนย์กลาง ที่ชั้น 9 อาคารวิศวฯ 100 ปี โดยติดตั้งสถานีฐานในระยะที่ 2 จะให้ครอบคลุมพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งหมด โดยที่สำนักงาน กสทช. จะอำนวยความสะดวกในการนำเข้าอุปกรณ์และการอนุญาตคลื่นความถี่สำหรับทดลองทดสอบ

ตัวอย่างการทดลองทดสอบผ่านการใช้เทคโนโลยี 5G ได้แก่ การพัฒนาการขนส่งด้วยระบบ 5G อาทิ การพัฒนาต้นแบบรถยนต์ ขับเคลื่อนได้เองอัตโนมัติ (Autonomous Car- CU TOYOTA Ha:mo) ติดตั้งกล้องไร้สาย ภายในและภายนอกรถบัส ติดตั้งเซ็นเซอร์วัด สภาพแวดล้อม (Smart CU-PoP Bus) เป็นต้น Smart Hospital and Telehealth และการทดสอบระบบการใช้งานเสาอัจฉริยะยุคหน้า

“ความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กสทช. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมการให้บริการโทรคมนาคม เข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านเพื่อเป็นการวางรากฐานที่เข้มแข็งและรองรับการเปลี่ยนแปลงในการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่เทคโนโลยี 5G ในอนาคต”

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3442 ระหว่างวันที่ 7 - 9 กุมภาพันธ์ 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว