"ทีวีดิจิตอล" เดือด! ชิงโฆษณา 70,000 ล้าน แข่งปั๊มเรตติ้ง

04 ก.พ. 2562 | 11:00 น.
ทีวีดิจิตอลแข่งดุ! ประเดิมเปิดศึกชิงเรตติ้งสนามข่าว เสริมทัพคอนเทนต์ไทย-ต่างประเทศ ตรึงคนดูเกาะติดจอหวังเรียกเรตติ้ง พร้อมผนึกพันธมิตรขยายแพลตฟอร์มเจาะคนดูโลกออนไลน์ เพิ่มช่องทางสร้างรายได้

kiopiop
การใช้เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อในปี 2561 ของ บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย จำกัด (ม.ค. - ธ.ค. 61) มีมูลค่ารวม 1.05 แสนล้านบาท เติบโต 3.9% ประกอบด้วย ทีวี 6.79 หมื่นล้านบาท เติบโต 8.05% เคเบิล-ทีวีดาวเทียม 2,434 ล้านบาท ติดลบ 16.44% วิทยุ 4,802 ล้านบาท เติบโต 7.28% หนังสือพิมพ์ 6,100 ล้านบาท ติดลบ 20.84% นิตยสาร 1,315 ล้านบาท ติดลบ 33.65% สื่อในโรงภาพยนตร์ 7,312 ล้านบาท เติบโต 7.28% ป้ายกลางแจ้ง 6,833 ล้านบาท เติบโต 7.03% สื่อเคลื่อนที่ 6,067 ล้านบาท เติบโต 3.25% สื่อ ณ จุดขาย 1,054 ล้านบาท เติบโต 11.42% อินเตอร์เน็ต 1,605 ล้านบาท เติบโต 6.08% ซึ่งจากข้อมูลข้างต้นสื่อทีวียังเป็นสื่อที่มีอิทธิพลและการใช้เงินสูงสุด

ขณะที่ ผลการจัดอันดับความนิยมหรือเรตติ้งทีวีดิจิตอลล่าสุด (21-27 ม.ค. 62) พบว่า ช่อง 7 HD ยังคงคว้าแชมป์เรตติ้งสูงสุด โดยมีละครไพรม์ไทม์ สารวัตรใหญ่ เป็นตัวสร้างเรตติ้ง รองลงมา ได้แก่ ช่อง 3 HD โดยรายการที่กระแสดีต่อเนื่องและสร้างเรตติ้งยาวนาน คือ ศึก 12 ราศี ส่วนช่องโมโน 29 รั้งอันดับ 3


➣ ช่องเก๋าเขย่ารายการข่าว

ทั้งนี้ ในมุมของเอกชนกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่ผ่านมา ก็ได้ทยอยปล่อยแผนธุรกิจประจำปี 2562 ออกมา โดยต่างมุ่งเป้าไปที่รายการข่าว ไม่ว่าจะเป็น ช่อง 7 HD, ช่อง 3, ททบ. 5 และ อสมท โดยช่อง 7 HD เน้นนำเสนอข่าวแบบรายงานสดและเกาะติดกระแสโลกโซเชียลมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มเวลา 3 รายการข่าว ได้แก่ รายการข่าว 7 สี, สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ และข่าวดึก 7HD ขณะที่ ช่อง 3 ชูสโลแกน รู้มากกว่าที่เป็นข่าว เข้าถึงพึ่งได้เกาะติดรายงานผลสถานการณ์การเลือกตั้ง รวมทั้งเพิ่มเวลาออกอากาศของรายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ ฯลฯ


mp32-3441-a

ส่วน MCOT HD หลังปรับยุทธศาสตร์ใหญ่ ในปีนี้พร้อมพลิกบทบาทใหม่จากตลาดธุรกิจทีวีและวิทยุมาเน้นการบูรณาการ Content เพื่อไปสู่ธุรกิจฐานข้อมูล ขณะที่ ททบ. 5 ก็ขยับตัวรุกรายการข่าว โดยเพิ่มสัดส่วนเป็น 50% จากเดิมที่มีอยู่ราว 40%

นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวแสดงความคิดเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สถานการณ์การแข่งขันของทีวีดิจิตอลยังคงรุนแรง ขณะที่ ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า อสมท จะสิ้นสุดการเก็บค่าโครงข่ายทีวีดิจิตอล ดังนั้น จึงต้องเตรียมแผนธุรกิจล่วงหน้าเพื่อรองรับ โดยปีนี้ อสมท จะดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด The Difference โดยให้ความสำคัญต่อคอนเทนต์ 3 ส่วน คือ 1.THE AUDIENCES คอนเทนต์สำหรับแพลตฟอร์มทีวี ล่าสุด จับมือพันธมิตรระดับโลก เช่น 1.BBC First นำเสนอ Drama series เช่น Luther, Press, MC Mafia 2.Bloomberg business TV 3.Discovery science สารคดีวิทยาศาสตร์และข่าวการเงินและเศรษฐกิจระดับโลก เป็นต้น


ภาพคุณเขมทัตต์ พลเดช กก ผอ ใหญ่ บมจ อสมท

"ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผู้ประกอบการโครงข่ายและผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ดังนั้น หากสถานีโทรทัศน์รายใดไม่ปรับตัวย่อมอยู่ในตลาดนี้ลำบาก และนี่คือ สาเหตุที่ อสมท ต้องปรับตัวและมุ่งเน้น THE AUDIENCES เป็นหลัก จากปัจจุบัน รายได้ อสมท มาจากทีวี 40% วิทยุ 30% และสัมปทาน 30%"


➣ ทุ่มงบขยายแพลตฟอร์ม

นอกจากนี้ ไม่เพียงมีแต่ผู้เล่นรายเดิมที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด แต่ในมุมของผู้เล่นหน้าใหม่ก็ไม่ยอมน้อยหน้า เทงบก้อนโต เร่งอัดคอนเทนต์ และเร่งขยายช่องทางการเข้าถึงคนดู โดยช่องทีวีที่น่าจับตามอง ได้แก่ โมโน 29, เวิร์คพอยท์, จีเอ็มเอ็ม 25, พีพีทีวี และช่อง 8


Poster ละครเรื่อง ก่อนอ

นายสถาพร พานิชรักษาพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด (ช่อง GMM25) กล่าวว่า เตรียมเงินลงทุนในการผลิตคอนเทนต์ไว้เกือบ 600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10% เพื่อผลิตละครและซีรีส์กว่า 320 ล้านบาท และรายการ Entertainment Variety อีก 180 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังจับมือกับพันธมิตรผู้ผลิตสร้างความแข็งแกร่งและหลากหลายเป็น HUB OF CREATORS โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 เฟส คือ 1.เสริมแกร่งช่วง Day Time โดยเน้น 2 ส่วน คือ รายการข่าว และรายการ Entertainment Variety 2.Music Content มุ่งเน้นรายการฟอร์แมตใหม่และรายการฟอร์แมตระดับโลก อาทิ Stage Fighter, ไมค์คู่ สู้ ฟัด, Lip Sync Battle Thailand, Hotwave Music Awards 2019 เป็นต้น 3.Drama and Series ที่จะนำมาไว้ในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ของทุกวัน


IMG_477

"ด้วยคอนเทนต์ที่ตรงใจ ประกอบกับกลยุทธ์และจุดแข็งในทุกแพลตฟอร์ม เชื่อมั่นว่าจะสามารถโกยเรตติ้งเพิ่มขึ้น 100% และก้าวขึ้นมาเป็นช่อง TOP 10 ได้ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 1,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นกว่า 35% จากปี 2561 โดยรายได้หลักจะมาจากค่าโฆษณาและค่าเช่าเวลาประมาณ 70% และค่าขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ในช่องทางออนไลน์และต่างประเทศอีก 30%"

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา GMM 25 ได้วางกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่ม Young Adult อายุ 18-35 ปี และ Young at Heart อายุ 35 ปีขึ้นไป ขณะที่ ช่องทางออนไลน์นั้น GMM 25 ได้ขยายการเข้าถึงไปยังแพลตฟอร์มต่าง ๆ Facebook, YouTube, Line TV, VIU และล่าสุด บราโว่ สตูดิโอ ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือของจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ รวมถึงเป็นพันธมิตรช่อง GMM 25 ได้จับมือแพลตฟอร์มระดับโลก Netflix เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3441 ระหว่างวันที่ 3-6 กุมภาพันธ์ 2562

595959859