กรม สบส.เตือน“ขุดบ่อ–ลอกบ่อน้ำเก่า”ระวัง ! ขาดอากาศหายใจ   

15 มี.ค. 2559 | 06:09 น.
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข  เปิดเผยว่า ในช่วงภัยแล้งนี้ กรม สบส. ได้มอบหมายให้สำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพทั้ง 12 เขต ส่งทีมวิศวกรรมการแพทย์ออกดูแลเครื่องมือแพทย์ 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.เครื่องมือแพทย์ที่ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้า เช่น เครื่องช่วยหายใจ ในช่วงที่อากาศร้อนจะต้องเก็บรักษาในห้องอุณหภูมิไม่เกิน 25 องศา เพื่อรักษาประสิทธิภาพของเครื่องและยืดอายุการใช้งาน 2.เครื่องมือแพทย์ที่ใช้น้ำจำนวนมาก เช่น เครื่องล้างไต เครื่องซักฟอก เครื่องกำเนิดไอน้ำ และระบบบำบัดน้ำเสียของโรงพยาบาลเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง

เรื่องที่น่าห่วง ในส่วนของประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกร ในช่วงฤดูแล้งมักจะขุดบ่อลึกขึ้นเพื่อหาน้ำใต้ดินและเตรียมรองรับน้ำในฤดูฝนหรือลงลอกบ่อน้ำเก่าที่ไม่ได้ใช้งานมานานเพื่อนำน้ำมาใช้ การลงไปในบ่อลึกจะมีความเสี่ยงจากการขาดอากาศหายใจได้ บ่อยิ่งลึกยิ่งมีความเสี่ยงสูง จากรายงานของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ระหว่างปี 2549-2556 มีผู้เสียชีวิตจากการทำงานในที่อับอากาศทั้งหมด 9 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 4 คน เสียชีวิต 28 ราย อัตราตายสูงถึงร้อยละ 87 ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับแรงงานนอกระบบ เช่น ลงไปในก้นบ่อบาดาลเพื่อถอดท่อพีวิซีเก่าไปใช้ที่บ่อใหม่ หรือลงไปทำความสะอาดตรวจเช็คปั้มสูบน้ำในก้นบ่อที่มีความลึก 10 เมตร เป็นต้น

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง กล่าวต่อว่า การเสียชีวิตในที่อับอากาศ ส่วนใหญ่มาจาก 2 สาเหตุ คือ 1.ขาดอากาศหายใจ พบประมาณร้อยละ 60  ซึ่งบริเวณบ่อหลุมที่มีความลึก มักจะมีปริมาณก๊าซออกซิเจนน้อย หากต่ำกว่าร้อยละ 19.5 จะเป็นอันตราย และ 2.เกิดจากการสูดก๊าซพิษเข้าไป ที่พบบ่อยมี 3 ชนิด ได้แก่ ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์หรือก๊าซไข่เน่า ก๊าซมีเทน และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งก๊าซเหล่านี้จะอยู่ที่ก้นบ่อเนื่องจากมีน้ำหนักมากกว่าก๊าซอื่น ก๊าซไข่เน่าที่มีความเข้มข้นสูง 100 พีพีเอ็ม. เมื่อสูดเข้าไปจะทำให้หยุดหายใจ เสียชีวิตรวดเร็ว ได้ให้ อสม. ย้ำเตือนประชาชนผ่านทางหอกระจายข่าวทุกวัน เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว

ทางด้านนายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า โดยทั่วไป ผู้ที่ทำงานหรือกิจกรรมในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นโพรงหรือเป็นหลุมลึกลงไปใต้ดิน ยิ่งลึกเท่าไหร่ ปริมาณออกซิเจนก้นบ่อยิ่งน้อยลง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ก่อนลงทุกครั้ง จะต้องตรวจสอบปริมาณอากาศและตรวจสอบว่ามีก๊าซพิษอันตรายหรือไม่เช่น แก๊สมีเทน ไฮโดรซัลไฟด์ ซัลเฟอร์ไดร์ออกไซด์ โดยใช้เครื่องวัดปริมาณออกซิเจนที่ก้นหลุมต้องมีค่าระหว่างร้อยละ 19.5-23.5 ซึ่งเป็นปริมาณที่ร่างกายต้องการคือร้อยละ 20

ในส่วนประชาชนทั่วไปที่ไม่มีเครื่องมือตรวจวัดระดับออกซิเจนและก๊าซอันตรายก่อนลงบ่อ มีวิธีตรวจสอบเบื้องต้นง่ายดังนี้ กรณีตรวจสอบปริมาณของก๊าซออกซิเจนที่ก้นบ่อ ให้จุดเทียนแล้วค่อยๆหย่อนเชือกลงไปที่ก้นหลุม หากเทียนดับแสดงว่ามีออกซิเจนไม่พอ ไม่ควรลงไป ส่วนการตรวจก๊าซอันตรายที่ก้นบ่อ สามารถประเมินเบื้องต้น โดยให้สังเกตลักษณะของน้ำว่ามีการเน่าเสียของซากสัตว์หรือขยะมากน้อยแค่ไหน ซึ่งดูได้จากสีและกลิ่น หากน้ำมีสีดำเข้มและมีกลิ่นเหม็นรุนแรง ให้สันนิษฐานว่าว่ามีก๊าซไข่เน่าอยู่ แต่หากไม่ได้กลิ่นอย่าพึ่งวางใจ ขอให้ใช้ไม้กวนน้ำเพื่อให้ก๊าซไข่เน่าฟุ้งกระจายออกมา หากมีกลิ่นเหม็นรุนแรงเหมือนไข่เน่า ให้สันนิษฐานว่ามีก๊าซไข่เน่าอยู่ ห้ามลงไปเด็ดขาด หรือหากเป็นบ่อน้ำร้างมีเศษขยะ และซากพืช ซากสัตว์จนน้ำมีสีดำเข้มก็ไม่ควรลงไปเช่นกัน

อย่างไรก็ดี  ในการขุดลอกบ่อน้ำอย่างปลอดภัย ขอแนะนำให้คนช่วยอย่างน้อย 3 คนขึ้นไป มอบหมายหน้าที่อย่างชัดเจน โดยให้ลงไป 1 คน อีก 1 คนอยู่ปากหลุมหรือที่ทางขึ้นลง ที่เหลืออีก 1 คนเป็นผู้คอยช่วยเหลืออยู่บริเวณรอบนอก และมีอุปกรณ์สื่อสารระหว่างกัน เช่นอาจใช้เชือกผูกที่เอวของผู้ที่ลงไปปฏิบัติงานก้นบ่อไว้ เพื่อให้ผู้ที่อยู่ปากบ่อรู้การเคลื่อนไหวตลอดเวลา หากเห็นว่ามีอาการหรือท่าทางผิดปกติ สามารถดึงเชือกนำตัวขึ้นจากบ่อได้ทันที ซึ่งเป็นวิธีการช่วยเหลือผู้ได้รับอันตรายจากการทำงานในที่อับอากาศที่ปลอดภัยกว่าการลงไปช่วยที่ก้อนบ่อ เพราะอาจขาดอากาศหายใจ และเสียชีวิตทั้งคู่ จากนั้นให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยให้นอนราบในที่อากาศถ่ายเทดี หากพบว่าไม่หายใจและหัวใจหยุดเต้น ให้ผายปอดและนวดหัวใจ และรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด หรือโทรแจ้ง 1669 ทันที