3 หมอร.พ.เอกชน ใคร?ฟันกำไรอู้ฟู่

02 ก.พ. 2562 | 04:45 น.
ธุรกิจโรงพยาบาลและการบริการสุขภาพมูลค่ากว่า 6.6 แสนล้านบาท เค้กก้อนโตที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ กำลังสั่นสะเทือนอย่างหนัก เมื่อรัฐบาลกำหนดให้ยาและเวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล เป็นสินค้าควบคุม หลังจากที่ผ่านมามีการร้องเรียนจากผู้ใช้บริการจำนวนมากเรื่องค่ารักษาพยาบาลและบริการแพง

หากดูจากผลประกอบการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 8 แห่ง ของ 5 กลุ่มทุนใหญ่ เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะสินทรัพย์ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้น เพิ่มขึ้นกว่า 45,161 ล้านบาท จาก 168,911 ล้านบาทในปี 2559 เป็น 214,072 ล้านบาทในไตรมาส 3 ของปี 2561 ขณะที่รายได้รวมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มจาก 114,141 ล้านบาทในปี 2559 เป็น 130,041 ล้านบาทในปี 2560 หรือเพิ่มขึ้น 15,899 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิเพิ่มจาก 15,810 ล้านบาท เป็น 19,112 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3,302 ล้านบาท

เมื่อเจาะลึกในรายละเอียดพบว่าธุรกิจโรงพยาบาล ในเครือข่ายของนพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 5 บริษัท มูลค่ามาร์เก็ตแคปรวม 558,814 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนบุรี เมดิเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท โรงพยาบาล รามคำแหง จำกัด (มหาชน) หรือ RAM ก่อนที่ BDMS จะขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมดใน RAM ออกไป ทั้ง 5 บริษัทมีกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 14,492 ล้านบาท ในปี 2559 เป็น 17,076 ล้านบาทในปี 2560 หรือเพิ่มขึ้น 2,583 ล้านบาท ขณะที่ผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 ณ สิ้นเดือนกันยายน 2561 มีกำไรสุทธิ 13,796 ล้านบาท

TP7-3441-B

แต่ที่น่าสนใจคือเมื่อดูอัตรากำไรสุทธิ ที่บอกถึงความสามารถการทำกำไรของกิจการ พบว่าธุรกิจโรงพยาบาลในเครือข่ายของนพ.ปราเสริฐ มีอัตราการทำกำไรสุทธิสูงมาก โดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาลรามคำแหง มีอัตราการทำกำไรสุทธิสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 28.68% ในปี 2560 และ 33.76% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 รองลงมาคือ กลุ่มโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีอัตรากำไรสุทธิ 21.28% ในปี 2560 และ 23.1% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 อันดับ 3 ได้แก่ สมิติเวช มีอัตรากำไรสุทธิ 14.60% ในปี 2560 และ 16.05% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 ขณะที่โรงพยาบาลกรุงเทพ มีอัตรากำไรสุทธิ 13.24% ในปี 2560 และ 12.95% ใน 9 เดือนปี 2561 ส่วนธนบุรี เมดิเคิล เซ็นเตอร์ ผลการดำเนินงานในปี 2560 ขาดทุน และ กลับมามีกำไรในช่วง 9 เดือนแรกปี 2561 โดยมีอัตรากำไรสุทธิ 2.79%

ส่วนธุรกิจโรงพยาบาลของนพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ภายใต้บริษัท บางกอก เชนฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน)หรือ BCH มูลค่ามาร์เก็ตแคป รวมประมาณ 38,902 ล้านบาท ในปี 2560 มีกำไรสุทธิ 917 ล้านบาท หรือ 12.46% และ 821 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 หรือ 13.58%

ด้านธุรกิจโรงพยาบาลของ นพ.บุญ วนาสิน ภายใต้บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG มูลค่ามาร์เก็ตแคปรวมประมาณ 27,595 ล้านบาท มีกำไรสุทธิในปี 2560 จำนวน 553 ล้านบาท หรือ 8.19% ส่วนในช่วง 9 เดือนแรกปี 2561 มีกำไรสุทธิ 326.17 ล้านบาท หรือ 6.06%

ขณะทีี่ธุรกิจโรงพยาบาลที่ถือหุ้นใหญ่โดย ตระกูลพลัสสินทร์ และ ปัญญาพล ภายใต้ บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) มีกำไรสุทธิ 565 ล้านบาทในปี 2560 คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 14.51% และ 522 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 15.89%

อัตรากำไรสุทธิที่เป็นตัวสะท้อนความสามารถในการทำกำไรของกิจการ เปรียบเทียบกับยอดขาย หลังจากการหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่าใช้จ่ายในการขาย การบริหาร ค่าจ้างหมอ พยาบาล รวมไปถึงค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย และภาษีเงินได้แล้ว

คงเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า กลุ่มทุนรายไหนมีกำไรจากค่าบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่เป็นการให้บริการขั้นพื้นฐานของมนุษย์มากสุด!

ถอดสูตรคุย โดย ณัฐพล หวังทรัพย์

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3441 ระหว่างวันที่ 3 - 6 กุมภาพันธ์ 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว