การแก้ปัญหาของสภาอังกฤษ Brexit เป็นทางตันหรือทางออก?

01 ก.พ. 2562 | 04:33 น.
ตลอดระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาในสภาของอังกฤษ มีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นมากมายเพื่อจะนำไปสู่หนทางในการแก้ปัญหาเรื่อง Brexit ก่อนที่จะถึงเส้นตายในอีก 2 เดือนข้างหน้า ซึ่งมีหลายประเด็นที่สภา เริ่มมีความชัดเจนกับแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่อง Brexit แต่ว่าแนวทางที่เริ่มจะตกผลึกนั้นจะนำไปสู่ทางออกได้จริงหรือ?

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีหลายประเด็นเกี่ยวกับเรื่อง Brexit ที่ถูกเสนอให้สมาชิกสภาลงคะแนนเสียง เรื่องที่ทำให้เห็นแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาน่าจะมีเรื่องสำคัญ ดังนี้

เรื่องที่สมาชิกสภา ไม่เห็นด้วยคือ การที่เสนอให้มีการเปิดอภิปรายจำนวน 6 วัน เพื่อเสนอทางเลือกอื่นๆ ที่จะใช้เป็นทางออกในกรณี Brexit (ชนะด้วยคะแนนเสียง 321 ต่อ 301) รวมถึงไม่เห็นด้วยที่จะมีการเปิดให้อภิปรายเกี่ยวกับแนวทางในการป้องกันไม่ให้มีการแยกตัวแบบไม่มีข้อตกลง (with no deal) (ชนะ 327 ต่อ 296 เสียง)

นอกจากนี้เสียงข้างมากในสภา ยังไม่เห็นด้วยกับการที่จะขยายระยะเวลาการแยกตัวออกไป หากไม่สามารถทำข้อตกลงกับ EU ได้ใหม่ภายในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ (ชนะ 321 ต่อ 298 เสียง) แต่มี 2 เรื่องที่สภา เสียงข้างมากเห็นด้วยนั่นก็คือ ความตกลงกับ EU จะไม่เกิดขึ้นถ้ามีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องปิดพรมแดนในไอร์แลนด์เหนือ (ชนะ 317 ต่อ 301 เสียง) และสภา ลงมติคัด ค้านการที่ UK จะแยกตัวออกจาก EU แบบไม่มีข้อตกลง (ชนะ 318 ต่อ 301 เสียง)

จะเห็นได้ว่าการลงมติในประเด็นต่างๆ ที่กล่าวมานั้นทำให้บรรยากาศภายในสภา มีความชัดเจนมากขึ้นและเป็นเหตุทำให้ความตึงเครียดในช่วงสัปดาห์ก่อนที่ผู้นำฝ่ายค้านไม่เข้าร่วมการเจรจานั้น มีอุณหภูมิที่ลดลง และดูเหมือนการให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้ปัญหาจะมีแนวโน้มไปในแนวทางที่ดีขึ้นด้วย

ความชัดเจนที่เกิดขึ้นจากการลงคะแนนทำให้เห็นได้ว่าตอนนี้ สภาของ UK ยืนยันที่จะดำเนินการให้มีการแยกตัวออกจาก EU ต่อไป โดยไม่สนใจช่องทางอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนใจไม่ออกจาก EU (Revoke) หรือการเปิดให้มีการลงประชามติรอบที่ 2 เกี่ยวกับเรื่องการแยกตัว

แต่ในขณะเดียวกันสมาชิกสภา ก็เห็นแล้วว่าการที่จะถอนตัวออกจาก EU แบบไม่มีข้อตกลงใดๆ จะนำพาประเทศไปสู่หายนะ ดังนั้นเสียงข้างมากในสภา จึงคัดค้านการแยกตัวแบบไม่มีข้อตกลง

TP7-3441-A

ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ดูเหมือนว่า สิ่งที่สภา อังกฤษพยายามทำอยู่ตอนนี้กำลังจะวนกลับมาสู่จุดเดิมที่รัฐบาลของนายกฯเทเรซา เมย์ พยายามทำมาตลอดระยะเวลา 30 เดือน นั่นก็คือ การดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนเสียงข้างมากที่ต้องการให้ประเทศแยกตัวจาก EU แต่ นายกฯเมย์ พยายามเจรจาเพื่อหาช่องทางให้ประเทศบอบชํ้าและกระทบต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนน้อยที่สุด

ดังนั้นสิ่งที่ดูจะเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ในสภาดูเหมือนจะกลายเป็นว่าอังกฤษได้กลับมายืนอยู่ที่จุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

ข้อดีของเหตุการณ์นี้คือ ตลอดระยะเวลาที่รัฐบาลไม่ให้การยืนยันว่าการแยกตัวจะไม่มีวันที่จะดำเนินการแบบไม่มีข้อตกลง ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้ เจเรมี คอร์บิน ผู้นำฝ่ายค้านปฏิเสธการเข้าร่วมเจรจากับรัฐบาลและพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ แต่เมื่อสภาได้มีมติเสียงข้างมากยืนยันให้การแยกตัวของอังกฤษต้องเป็นไปแบบ ที่มีข้อตกลง (with a deal) เท่านั้น สิ่งนี้จึงทำให้ผู้นำฝ่ายค้านแถลงที่จะเข้าร่วมเจรจากับรัฐบาล เพื่อกำหนดแนวทางเกี่ยวกับข้อตกลงที่จะใช้เจรจากับ EU ต่อไป

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่าบรรยากาศภายในสภาของอังกฤษลดความตึง เครียดลง แต่สิ่งที่เรามองข้ามและจะไม่นำมาพิจารณาไม่ได้นั่นก็คือ แล้วประเทศสมาชิกของ EU จะยอมกลับสู่เวทีเจรจากับ UK อีกหรือไม่

ในประเด็นนี้รัฐมนตรีทางด้านการเงินของประเทศสมาชิกใน EU ได้ออกมาแสดงท่าทีที่ชัดเจนต่อเรื่องนี้ว่า EU จะไม่กลับเข้าสู่เวทีเจรจาที่ทั้ง EU และรัฐบาล UK ร่วมทำข้อตกลงกันมาเป็นระยะเวลากว่า 30 เดือน การยืนยันที่หนักแน่นเช่นนี้ทำให้เห็นว่า แนวทางการแก้ไขปัญหานี้ของอังกฤษที่มุ่งแต่จะกลับเข้าสู่เวทีการเจรจากับ EU ใหม่ โดยให้เหตุผลว่าความตกลงเดิมได้นำไปเสนอต่อสภา แล้วปรากฏว่าสมาชิกสภาของประเทศไม่ยอมรับ ซึ่งประเทศสมาชิกของ EU มองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาภายในของอังกฤษเอง ไม่เกี่ยวอะไรกับที่ EU ต้องเปลี่ยนเงื่อนไขในข้อตกลงเพื่อให้ถูกใจสมาชิกสภาของ UK แต่อย่างใด

มาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงพอเห็นแล้วนะครับว่าการที่อังกฤษยังคงวนเวียนแต่กับเรื่องการขอเจรจาใหม่เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เป็นที่พอใจของสภา โดยไม่สนใจดำเนินการเพื่อขอขยายระยะเวลาในการแยกตัวออกไปจาก วันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 2019 ไปเป็นธันวาคม ค.ศ. 2020 หาก EU ไม่เจรจาด้วย ระยะเวลาดังกล่าวก็จะไม่ถูกขยายออกไป ข้อตกลงที่นายกฯเมย์เสนอต่อสภา ก็ได้ถูกควํ่าโดยสมาชิกสภาไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือว่ายังไม่มีข้อตกลงใดที่ได้รับการรับรองจากสภา หาครบกำหนดเวลาที่จะต้องแยกตัว

ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อให้สภา ได้ลงมติไปแล้วว่าจะไม่ยอมรับเรื่องที่จะมีการแยกตัวแบบไม่มีข้อตกลง แต่เมื่อสภา มีมติที่จะไม่มีการดำเนินการในสิ่งที่จำเป็นโดยเฉพาะเรื่องขอขยายระยะเวลาการแยกตัว เหมือนที่ผมได้กล่าวไว้ในบทความฉบับก่อนๆ ในที่สุดจะกลายเป็นว่า UK ต้องแยกตัวจาก EU แบบไม่มีข้อตกลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายไม่ต้องการ

ดังนั้นการพายเรือในอ่างของรัฐบาลและสภาของอังกฤษ จะทำให้เรือลำนี้ต้องจมลงสู่ก้นอ่างและจะนำวิกฤติเศรษฐกิจมาสู่ประเทศและประชาคมโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในระยะเวลาที่เหลืออีกเพียง 2 เดือนนี้ ผมได้แต่หวังว่า รัฐบาล UK จะเห็นถึงสัญญาณของความเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ปัญหานี้โดยวิธีการกลับเข้าสู่เวทีเจรจา แต่ควรจะเปลี่ยนเป็นการใช้การเจรจาเพื่อขอขยายระยะเวลาออกไปก่อน เพราะอย่างน้อยรัฐบาลและสภา จะมีเวลาคิดทบทวนเพื่อหาทางแก้ปัญหาเรื่องนี้อีกเป็นเวลาร่วม 2 ปี

แต่ถ้ารัฐบาลยังคงยืนกรานที่จะทำเช่นนั้น ดูเหมือนสิ่งที่อังกฤษเลือกที่จะทำ จะเป็น การก้าวไปสู่ทางตันมากกว่าที่จะเป็นทางออก

รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย

โดย มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปัจจุบัน ศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่ University of Kent (United Kingdom) สาขากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศ

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3441 ระหว่างวันที่ 3 - 6 กุมภาพันธ์ 2562