“กฤษฎา” แก้ผลผลิตล้นตลาด แจกโควตาเกษตรกรรม

30 ม.ค. 2562 | 16:47 น.
รัฐมนตรีเกษตรฯ เตรียมชงแผนการผลิตภาคการเกษตรของประเทศปีที่ 2 เสนอนายกรัฐมนตรี โดยจะกำหนดนโยบาย “การจัดสรรปริมาณการผลิตตามความต้องการของตลาด” หรือกำหนดโควต้าเกษตรกรรม เพื่อไม่ให้มีผลผลิตสินค้าทางการเกษตรชนิดใดล้นเกิน จนเกิดปัญหาราคาตกต่ำซ้ำซาก

619290613

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าที่ผ่านมาได้ดำเนินการขับเคลื่อนการปฎิรูปภาคการเกษตร โดยใช้นโยบาย "ตลาดนำการผลิต" มาเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว ในปีที่ 2 ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนี้ได้กำหนดนโยบายต่อเนื่องคือ “การจัดสรรปริมาณการผลิตตามความต้องการของตลาด” หรือ “โควตาเกษตรกรรม” ซึ่งกำลังเขียนแผนปฏิบัติการนำเสนอนายกรัฐมนตรี นโยบาย “โควตาเกษตรกรรม” นั้นจะมีการกำหนดชัดเจนว่า การทำเกษตรกรรมทั้งปลูกพืช ปศุสัตว์ และประมงมีพื้นที่การผลิตเท่าไร

600400000124 โดยจะนำแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) มาตรวจสอบว่า แต่ละพื้นที่เหมาะสมต่อการทำเกษตรกรรมประเภทใดซึ่งรับผิดชอบโดยกรมพัฒนาที่ดิน สำรวจศักยภาพการจัดสรรน้ำซึ่งรับผิดชอบโดยกรมชลประทาน รวมทั้งได้สั่งการให้ผู้ช่วยทูตเกษตรใน 11 ประเทศสำรวจความต้องการของตลาดโลกว่า ต้องการผลผลิตสินค้าทางการเกษตรใด ราคาเป็นอย่างไร

600400000126

จากนั้นจึงจะนำมาจัดสรรปริมาณการผลิตทั้งประเทศ โดยเกษตรกรแต่ละรายจะมีโควตาการผลิตเป็นปริมาณที่ชัดเจนเช่น หากมีที่ดิน 50 ไร่ ควรปลูกพืชกี่ชนิด อะไรบ้าง และจำนวนเท่าไร กรมส่งเสริมการเกษตรจะเข้าไปแนะนำและขึ้นทะเบียนการผลิต เช่นเดียวกับการทำปศุสัตว์และประมงด้วย

GP-3380_180706_0015

ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ผลผลิตชนิดใดชนิดหนึ่งล้นตลาด แล้วราคาตกต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรต้องมาชุมนุมเรียกร้อง ที่ผ่านมารัฐแก้ปัญหาโดยการรับจำนำ การประกันราคา หรือการซื้อในราคานำตลาด ใช้งบประมาณมหาศาล บางปีสูงถึง 700,000 ล้านบาท แต่ก็กลับเป็นปัญหาซ้ำซากเช่นเดิม

16

ในปีที่ผ่านมานโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่น่าพอใจได้แก่ การลดพื้นที่ปลูกข้าวซึ่งแต่ละปีไทยผลิตข้าวได้ 33 – 34 ล้านตันข้าวเปลือก บริโภคในประเทศ 20 ล้านตัน ที่เหลือพึ่งพาการส่งออก แต่เนื่องจากเศรษฐกิจโลกผันผวนตลอดเวลา ประกอบกับเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ราคาข้าวไม่มีเสถียรภาพ อีกทั้งจากการสำรวจความต้องการของตลาดพบว่า ประเทศต่างๆ นิยมข้าวหอมมะลิมากที่สุด รองลงมาเป็นพวกข้าวพื้นนุ่มสายพันธุ์ต่างๆ เช่น กข 21 กข 59 พิษณุโลก 80

rice-503x377 ส่วนที่กรมการข้าวรับรองพันธุ์แล้วคือ กข 43 ซึ่งมีดัชนีน้ำตาลต่ำ เป็นอาหารสุขภาพเหมาะสำหรับผู้ต้องการควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดและผู้ป่วยโรคเบาหวาน รวมถึงข้าวที่ปลูกแบบอินทรีย์ซึ่งขายได้ราคาสูงกว่าข้าวที่ใช้สารเคมีหลายเท่าตัว แต่ข้าวที่ตลาดโลกนิยมนั้น เกษตรกรยังปลูกน้อย ส่วนใหญ่ปลูกข้าวเจ้าธรรมดาและข้าวพื้นแข็งขณะเดียวกันพบว่า ตลาดขาดแคลนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ บริษัทผลิตอาหารสัตว์ต้องนำข้าวสาลีมาทดแทนในสูตรอาหารสัตว์ จึงได้ดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

S__56967255

จากการตรวจเยี่ยมแปลงนำร่องที่จังหวัดอุตรดิตถ์และพิษณุโลกพบว่า เกษตรกรที่งดทำนาปรัง แล้วปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทนนั้นได้กำไรเฉลี่ย 3,500 ถึง 4,000 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับการทำนาปรังนั้น นาปรังได้กำไรเพียง 300 ถึง 400 บาทเท่านั้น การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้กำไรมากกว่า 10 เท่า ซึ่งตามโครงการนั้น ข้าวโพดหลังฤดูทำนาจะให้ผลผลิตประมาณเดือนมีนาคมและเมษายน หากได้ผลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ กระทรวงเกษตรฯ จะนำไปใช้เป็นต้นแบบในการวางแผนการผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดอื่นๆ อีก โดยในฤดูแล้งหน้าจะส่งเสริมการปลูกถั่วเหลือง ถั่วเขียว และพืชผัก ทั้งนี้โมเดลการวางแผนการผลิตที่จัดทำขึ้นสามารถใช้อย่างได้ผลดีต่อไป แม้จะมีรัฐบาลบางชุดใหม่เข้ามาบริหารงาน

appDSCN2127

นายกฤษฎากล่าวต่อว่า จากนี้ไปข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ต้องปรับแนวคิดด้านการบริหารจัดการสินค้าเกษตรใหม่ จะเป็นแบบเดิมไม่ได้ ที่ไปส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงความต้องการของตลาด ทำให้ผลผลิตล้น ขายไม่ได้ และราคาตกต่ำมากเช่น ยางพาราซึ่งหลายปีก่อนราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 100 กว่าบาท รัฐบาลสมัยนั้นส่งเสริมให้ปลูก จากเดิมปลูกเฉพาะ 14 จังหวัดภาคใต้ เกษตรกรหันมาปลูกตามๆ กันทั่วประเทศ จนโตและกรีดได้พร้อมๆ กันใน 2 ถึง 3 ปีนี้ ราคาจึงตกต่ำมาก ที่น่าเป็นห่วงต่อไปคือ ทุเรียน ซึ่งปีที่แล้วราคาดี เกษตรกรโค่นไม้ผลอื่นแล้วปลูกทุเรียนกันทั่วประเทศเช่นกัน อีกราว 5 ปีจะเริ่มให้ผลผลิต อาจประสบปัญหาเดียวกับยางพารา

S__56967250

"การปฏิรูปภาคการเกษตรในรัฐบาลนี้ยังให้ความสำคัญต่อการป้องกันความเสี่ยงแก่อาชีพเกษตรกรทั้งการจัดสรรงบประมาณให้เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การทำประกันภัยพิบัติ โดยหากเกิดน้ำท่วม น้ำแล้ง โรคหรือแมลงลง นอกจากจะได้รับการชดเชยตามระเบียบกระทรวงการคลังแล้ว ยังจะได้ค่าชดเชยจากบริษัทประกันภัยอีกด้วย ทั้งนี้มุ่งหวังให้อาชีพเกษตรกรมีหลักประกันที่มั่นคงและมีสวัสดิการเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ"

S__17580056-2-503x377

นอกจากนี้ยังได้ปรับแนวทางการทำงานของข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ใหม่ โดยบูรณาการกับกระทรวงพาณิชย์ซึ่งมีหน้าที่หลักในการหาตลาด รวมทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งจากที่มีหน้าที่ปล่อยสินเชื่อเท่านั้น ควรเพิ่มบทบาทในการส่งเสริมการทำตลาดควบคู่ไปด้วยเพื่อการพัฒนาสินค้าเกษตร ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืนต่อไป

e-book-1-503x62