แบงก์อู้ฟู่ค้าเงินฟันกำไร4.7หมื่นล.

01 ก.พ. 2562 | 12:25 น.
 

ทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนยังผันผวน หนุนผู้ประ กอบการแห่ทำเฮดจิ้ง ป้องกันความเสี่ยง แถมแนวโน้มตลาดส่งออกและนำเข้าชะลอตามการค้าระหว่างประเทศ แต่โอกาสกำไรค้าเงินแผ่วลงจากสิ้นปีโตกว่า 10% เผย Swap Point ขยับเพิ่ม 2 เท่าในปีเดียว

หลายวันก่อน สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เงินบาทของไทยติดอันดับสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในโลกในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยพุ่งขึ้นมากกว่า 5% และทิศ ทางยังแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดเงินบาทเปิดซื้อขายสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม ด้วยการแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 9 เดือน ท่ามกลางแรงขายดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลส่วนใหญ่ โดยตลาดคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)จะชะลอทั้งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและลดขนาดงบดุลในระยะถัดไป ภายใต้แรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัว รวมถึงการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนและการลงมติแผน Brexit ฉบับแก้ไขในสภาสหราชอาณาจักร

เงินบาทที่แข็งค่าและผันผวน ส่งผลต่อกำไรจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ซึ่งจากรายงานผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ  11 แห่งพบว่า มีกำไรสุทธิรวม 120,593 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,348  ล้านบาทจากปีก่อนที่ 113,245 ล้านบาท ซึ่งนอกจากรายได้ดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมและบริการแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นกำไรจากการค้าเงินตราต่างประเทศ โดย 10 ธนาคารมีกำไรจากการค้าเงินเพิ่มขึ้น 9.86% เป็นมูลค่า 37,383 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 33,424 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่สามารถทำกำไรเพิ่มขึ้น มีเพียง 3 แห่งเท่านั้น ที่ขาดทุนจากการค้าเงินคือ ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทยขาดทุน 50.90% รองมาคือ ธนาคารธนชาตขาดทุน 34.85% และธนาคารไทยพาณิชย์ ขาดทุน 17.6%

MP20-3440-A

ทั้งนี้ในรอบปี 2561 เงินบาทปิดตลาดสิ้นปีที่ 32.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น 0.1% จากปิดตลาดสิ้นปี 2560 ที่ 32.58 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปีนี้นับจากต้นปี เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 9 เดือนที่ 31.44 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 28 มกราคม สอดคล้องกับการแข็งค่าของหลายๆ สกุลเงินในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังเผชิญกับแรงขายสวนทางการปรับตัวขึ้นของสินทรัพย์เสี่ยง

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร TMB Analytics เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปีที่แล้วกำไรเพื่อค้าเงินเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% ซึ่งเป็นการเติบโตของธุรกรรมเทรดไฟแนนซ์และห้องค้าที่ดีกว่า 1-2 ปีที่ผ่านมาและปัจจัยหนุนมาจากการส่งออกและนำเข้าที่เติบโต โดยที่ทั้ง 2 ขาจะต้องทำธุรกรรมปริวรรตทั้งธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศหรือโอนเงิน ออกหนังสือคํ้าประกันต่างๆ สินเชื่อเพื่อการนำเข้าและส่งออก หรือรับซื้อลดตั๋วเรียกเก็บสินค้าออก L/C ซึ่งจะเป็นรายได้ค่าธรรมเนียมพื้นฐาน แต่ส่วนที่ 2 มาจากส่วนต่างของราคาซื้อและขายอัตราแลกเปลี่ยน(Swap Point) ยิ่งค่าเงินผันผวนมากลูกค้าต้องทำธุรกรรมถี่ขึ้น เพื่อปรับพอร์ตตามความผันผวน และทำฟอร์เวิร์ด เพื่อป้องกันความเสี่ยงล่วงหน้า (Forward) เพิ่มขึ้น ถ้า Swap Point ยิ่งถ่างธนาคารหรือห้องค้าจะมีรายได้ด้วย

นริศ สถาผลเดชา

“ปีที่แล้ว ค่าเงินบาทวิ่งเกิน 10 สตางค์เห็นได้จาก 252 วันทำการนั้นมี 125 วันที่ค่าเงินเคลื่อนไหวเกิน 10 สตางค์เทียบกับปี 2560 มีเพียง 90 วันเท่านั้น ยกตัวอย่าง 6 เดือนของปี 2560 Swap Point อยู่ที่ 8 สตางค์ปัจจุบันอยู่ที่ 17.5 สตางค์ เพิ่มขึ้น 2 เท่าภายใน 1 ปี สำหรับปี 2562 ทั้งการส่งออกและนำเข้าจะชะลอตามการค้าระหว่างประเทศและโอกาสทำกำไรธุรกรรม เพื่อค้าจะไม่ดีเท่าที่ผ่านมา แต่เงินบาทยังผันผวน โดยสิ้นปีจะอ่อนค่าที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ”

นายหลี่ หมิงเซี้ย กรรมการ LH Bank และรองประธานกรรมการ CTBC Bank กล่าวว่า ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศหรือเทรดไฟแนนซ์ ประเมินว่า หากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนยกระดับใช้มาตรการภาษี ซึ่งจีนมีการส่งออก 35% ก็จะเห็นการย้ายฐานสู่ตลาดไทยและเวียดนาม ซึ่งนอกจากธุรกรรมส่งออกและนำเข้าแล้ว ยังรวมถึงบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ บริหารจัดการเงินสด/โอนเงินต่างประเทศ ดังนั้นระยะแรกจะมุ่งบริการฐานลูกค้าทั้ง 2 ธนาคารคือ CTBC และ LH Bank ที่มีธุรกรรมด้านต่างประเทศและจะขยายฐานใหม่ให้มากขึ้น โดยคาดหวังจะเป็นหนึ่งในธนาคารที่เป็นผู้นำด้านเทรดไฟแนนซ์

นางศศิธร พงศธร (ฉัตรศิริวิชัยกุล)ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ LH Bank กล่าวว่า ธุรกรรมเทรดไฟแนนซ์รายแรกเกิดขึ้นจริงแล้ว 1 รายมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้ ซึ่งหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อนุมัติให้ธนาคารดำเนินธุรกิจเทรดไฟแนนซ์ได้ โดยมีฐานลูกค้าสะสม Test Run 42 ราย ได้อนุมัติวงเงินสินเชื่อแล้ว โดยจะเบิกจ่ายเมื่อถึงรอบที่จะส่งมอบสินค้า โดยเบื้องต้นเตรียมวงเงินไว้ 1 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันจะขยายฐานลูกค้าใหม่และอนุมัติสินเชื่อใหม่อีกและแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกในครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้เทรดไฟแนนซ์เป็นโอกาสทางธุรกิจของเรา ด้วยฐานลูกค้าที่มีอยู่ โดยสิ้นปีที่ผ่านมามีพอร์ตสินเชื่อรวม 1.82 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 5.1% จากปีก่อน โดยเป็นสินเชื่อรายใหญ่ 75.5% ของเงินให้สินเชื่อทั้งหมด รายย่อย 13.5% และเอสเอ็มอี 11.3%

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,440 วันที่  31 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว