กรมส่งเสริมการปกครองฯขับเคลื่อนลดก๊าซเรือนกระจกจากโครงการถังขยะเปียก

29 ม.ค. 2562 | 09:36 น.
เดินหน้าวาระแห่งชาติ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นผนึกพลัง จุฬาฯ อบก. สภาสตรีแห่งชาติฯ และชมรมแม่บ้าน สถ. ขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกจากโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน ตั้งเป้าเม.ย. 62 ทุกครัวเรือนมีถังขยะเปียกครบ 100 %

sk

29 มกราคม 2562 -นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) พร้อมด้วย ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (ชม.สถ.) และประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ลงนามความร่วมมือพัฒนาและขับเคลื่อนการแยกขยะเศษอาหารสู่ถังขยะอินทรีย์หรือถังขยะเปียกครัวเรือน เพื่อแปลงเป็นสารบำรุงดิน และเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกจากโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน โดยภาคีเครือข่ายได้ใช้ศักยภาพหนุนเสริมซึ่งกันและกันให้บรรลุเป้าหมาย "ให้ประเทศไทยสะอาด โดยตั้งเป้าหมายว่า ทุกครัวเรือนต้องมีถังขยะอินทรีย์หรือถังขยะเปียกครัวเรือน ซึ่งหากพัฒนาโครงการได้สำเร็จจะเป็นภาพสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านสุขภาพอนามัย และด้านสิ่งแวดล้อม" ณ ห้องรับรอง ชั้น 2 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เผยว่า เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาขยะของประเทศไทย ถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ได้มีมติให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะของประเทศ ซึ่งขยะในประเทศไทยเข้าสู่ขั้นวิกฤตเนื่องจากมีการสร้างขยะเพิ่มมากขึ้น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ที่มีภารกิจหลักในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวก็เห็นว่า หนึ่งในหนทางการแก้ไขที่สามารถทำได้ทันที คือ การจัดทำถังขยะอินทรีย์หรือถังขยะเปียกประจำครัวเรือนและชุมชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งท่าน ดร.ปฤถา พรหมเลิศ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้มีดำริให้จัดทำ “ถังขยะอินทรีย์หรือถังขยะเปียกครัวเรือน” เริ่มจากจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นลำดับแรก และขยายผลไปยังส่วนราชการต่างๆ

sk6

โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้สานต่อแนวทางดังกล่าวต่อไปยังสถานศึกษา โรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัด อปท. และศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน รวมไปถึงครัวเรือนของข้าราชการ ผู้บริหาร อปท. ครัวเรือนสมาชิกสภา อปท. ครัวเรือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และครัวเรือนของพี่น้องประชาชน เพื่อคัดแยกขยะอินทรีย์หรือขยะเปียกครัวเรือน ไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำปุ๋ย สำหรับปลูกพืชชนิดต่างๆ ซึ่งมีเป้าหมายให้ทุกครัวเรือนมีถังขยะเปียกให้ครบ 100% ภายในเดือนเมษายน 2562 นี้

ปี 2562 นี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ชมรมแม่บ้านท้องถิ่นไทยจังหวัด และสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดทำโครงการวิจัยการประเมินและรับรองผลการบริหารจัดการขยะเศษอาหาร ตามแนวทางการทำถังขยะเปียกในการช่วยลดสภาวะโลกร้อน เทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้มีการดำเนินการวิเคราะห์อัตราการเกิดขยะเศษอาหารต่อคนต่อวันของคนไทย โดยลงพื้นที่ 4 จังหวัด ซึ่งเป็นตัวแทนภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือจังหวัดลำพูน ภาคกลางจังหวัดลพบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย และภาคใต้จังหวัดสงขลา เก็บตัวอย่างวัดปริมาณขยะจริงของครัวเรือนที่ร่วมโครงการจำนวน 2,400 ครัวเรือน

sk2

นอกจากนั้นยังเก็บตัวอย่างในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 40 และ 20 แห่งตามลำดับเป็นเวลา 1 เดือน ให้ได้ค่าเฉลี่ยอัตราการเกิดขยะเศษอาหารที่สามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในการลดภาระการบริหารจัดการขยะของส่วนรวม และสร้างมูลค่าเพิ่มจากสารปรับปรุงดินที่ได้จากการหมักขยะเศษอาหารในถังขยะเปียก ซึ่งในอนาคตการจัดทำถังขยะเปียกครัวเรือนสามารถประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้จากการดำเนินโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน หากได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองเพื่อพัฒนาคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำเร็จอาจมีรายได้ในอนาคตกลับคืนสู่ชุมชน

"โครงการนี้มีส่วนสำคัญในการช่วยลดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลก เพราะภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เนื่องจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนทั้งโลกแล้ว ดังนั้น หากทุกคนใส่ใจกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการแยกขยะเปียก ขยะแห้ง คุณก็มีส่วนสำคัญในการทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น และถือเป็นวิธีลดภาวะโลกร้อนในแบบที่ทำตามได้ในชีวิตประจำวันของทุกคน" นายสุทธิพงษ์กล่าว

sk3

ขณะที่ รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามามีบทบาทร่วมในส่วนของการสนับสนุนแนวทางในการจัดการขยะให้เป็นที่ยอมรับทั้งในเชิงหลักวิชาการในประเทศและต่างประเทศ โดยได้มีการวางแผนอย่างมีระบบ และอยากให้การทำงานไม่ใช่เกิดการยอมรับเฉพาะในประเทศ แต่อยากให้บทเรียนนี้ สามารถเผยแพร่ให้ประเทศอื่นๆได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน ทั้งนี้ หากดำเนินการได้สำเร็จ ก็คาดหวังว่า การพัฒนาคน การพัฒนางานวิจัย หรือการถอดบทเรียนในเรื่องนี้ ก็จะถูกเผยแพร่ออกไป พร้อมย้ำด้วยว่า การเก็บข้อมูลในเรื่องนี้ เริ่มตั้งแต่ลักษณะปฐมภูมิ คือให้คนที่ก่อให้เกิดขยะ เป็นผู้ที่มีส่วนในการดูกระบวนการและเข้าไปบันทึกปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทุกวันต่อเนื่อง เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ และ 4 สัปดาห์ ก็จะได้ข้อมูลที่มีปริมาณที่มากพอ โดยขณะนี้ได้วางแนวทางการดำเนินการไว้มากกว่า 3,000 ครัวเรือนทั่วประเทศที่จะมีการเก็บข้อมูล ซึ่งหากเก็บข้อมูลพร้อมกันทุก ๆ ข้อมูล นอกจากจะเป็นประโยชน์ในเชิงของงานวิจัยโครงการดังกล่าวแล้ว การนำข้อมูลนี้ไปวางแผนพัฒนาต่อยอด ก็จะติดตามมาในอนาคตอย่างแน่นอน

นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. กล่าวว่า อบก.เป็นหน่วยงานที่ให้การรับรองข้อมูลที่เกิดจากการจัดเก็บครั้งนี้เกิดจากที่คนไทยร่วมกันคัดแยกขยะ และเหลือเป็นขยะเปียกที่ไม่ต้องนำงบประมาณจำนวนมากไปใช้ในการจัดการแล้ว ยังสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาภาวะโลกร้อน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการสร้างความตระหนักรู้และเกิดจากความร่วมมือกัน ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ดีที่จะสามารถจัดการปัญหาได้ด้วยแต่ละครัวเรือนที่ช่วยกัน รวมทั้งคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนก็จะดีขึ้นด้วย และที่สำคัญยังสามารถประหยัดงบประมาณอีกจำนวนมากที่จะนำไปกำจัดขยะ โดยสามารถนำงบประมาณที่มีไปดำเนินการในเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนได้อีกมากมาย

sk4

ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในฐานะเครือข่ายจิตอาสา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของพลังสตรีหรือพลังแม่บ้านในการเป็นจิตอาสาห่วงใยสิ่งแวดล้อม ห่วงใยสังคม และชุมชน และได้มีการเรียกประชุมชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และประธานชมรมแม่บ้านท้องถิ่นไทยจังหวัด เพื่อรับมอบนโยบายและเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะ โดยการคัดแยกขยะเศษอาหารตั้งแต่ต้นทาง นั่นคือ ครัวเรือน ซึ่งแม่บ้านเป็นผู้ใกล้ชิดที่สุด โดยทำการคัดแยกขยะเศษอาหารหรือขยะเปียกออกจากขยะทั่วไป ด้วยการเป็นแบบอย่างที่ดี โดยคณะกรรมการ และสมาชิกชมรมต้องมีถังขยะเปียกในครัวเรือน อีกทั้งรณรงค์สร้างความรับรู้ ความเข้าใจ และจิตสำนึกให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะและตระหนักถึงความสำคัญของการคัดแยกขยะ เพื่อสร้างสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดีแก่ตนเองและชุมชน อีกทั้งช่วยลดรายจ่าย จากการนำสารบำรุงดินที่ได้จากการทำถังขยะเปียกมาใช้ในการปลูกผักสวนครัว หรือประโยชน์ด้านเกษตรกรรมอื่นๆ ซึ่งช่วยลดการปนเปื้อนของขยะเปียกกับขยะประเภทอื่นส่งผลให้การจัดการขยะมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการรักษ์โลก รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น

sk7

นอกจากนี้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ดร.วันดี มีดำริ ให้จัดโครงการประกวดผลสำเร็จชมรมแม่บ้านท้องถิ่นไทยจังหวัด… ในการบริการจัดการขยะเศษอาหารจากครัวเรือน ซึ่งช่วงเริ่มต้นโครงการจะมีการสุ่มตรวจเยี่ยมมอบรางวัลให้กับชมรมฯ ที่มีการายงานข้อมูลคนแยกขยะเศษอาหาร และจำนวนถังขยะเปียกที่มากที่สุด และร่วมกระบวนการถอดบทเรียนเลือกชมรม ฯ ที่มีแนวทางการบริหารจัดการที่ดีที่สุด (Best Practice) โดยร่วมมือกับสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางประสานงานขององค์กรสตรีทั่วประเทศ ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน อีกด้วย

“อยากเชิญชวนพลังสตรีทั่วประเทศ มาช่วยกันรณรงค์การคัดแยกขยะ เศษอาหาร และจัดทำขยะเปียกในครัวเรือน ซึ่งความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยพลังของสตรี ด้วยความร่วมมือร่วมใจที่จะร่วมกันทำความดีถวายแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันที่ 4-6 พฤษภาคมนี้จะมีพระราชพิธีที่มีความสำคัญยิ่งต่อประชาชนทุกคนในประเทศ พร้อมขอให้พลังสตรี ทั่วประเทศ จับมือกัน ทำเรื่องขยะเปียก แยกขยะ เศษอาหาร ให้สำเร็จร่วมกัน เราสามารถทำได้ด้วยพลังคนไทย”ประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกล่าวทิ้งท้าย

595959859