'ไทย' ติดอันดับ 39 ความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัล

29 ม.ค. 2562 | 08:04 น.
IMD จัดอันดับความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัล ไทยขึ้นเป็นลำดับ 39 ในปี 2561 จากปี 2557 รั้งอันดับที่ 44

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา เรื่อง "Achieving Thailand's digital competitiveness : the advancement through the years ยกระดับสถานะการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย : การพัฒนาที่ผ่านมา" จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวปาฐกถา เรื่อง The State of Digital Thailand : สถานะดิจิทัลประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ขณะนี้ได้เริ่มปรากฏผลสำเร็จ ซึ่งสะท้อนถึงอันดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน จากดัชนี World Digital Competitiveness Ranking ตามการจัดอันดับของสถาบันการจัดการนานาชาติ หรือ IMD ของไทย โดยดีขึ้นจากอันดับ 44 ในปี 2557 มาเป็นอันดับที่ 39 ในปี 2561

นอกจากนี้ ผลการจัดอันดับ Global Competitiveness Index 4.0 โดย World Economic Forum ซึ่งครอบคลุมถึงการพัฒนาในมิติเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลด้วย ในปี 2018 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับในอันดับที่ 38 จาก 140 ประเทศ ซึ่งดีขึ้นจาก ปี 2017 ที่อยู่ในอันดับที่ 40


KRIS-176

รัฐมนตรีว่ากระทรวงดิจิทัลฯ ยังได้เปิดเผย ข้อมูลสถานภาพการการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ (Media and Information Literacy) และการเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy) ของประเทศไทย ว่า จากการขยายตัวของการใช้งานอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์มือถือ และสื่อสังคมออนไลน์ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นในการเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัลให้มากขึ้น เพื่อให้ไม่ให้ถูกหลอกลวงและฉ้อโกง รวมถึงสร้างความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นสำคัญในระดับสากล ที่ต้องเร่งหาแนวทางในการประเมินสถานภาพและกำหนดแผนงานนโยบาย โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้กำหนดกรอบการวัดสถานภาพการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ และประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้มีการสำรวจและประเมินระดับการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศของประชาชน ซึ่ง สดช. เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการ ปรากฏผลคะแนนเฉลี่ย 68.1 คะแนน ซึ่งจัดอยู่ในระดับ "ดี" ประเมินได้ว่า ประชาชนไทยมีความรู้ ทักษะ ความเข้าใจ และทัศนคติ ที่สามารถประยุกต์ใช้ในการเปิดรับสื่อและสารสนเทศในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ สดช. ยังได้ดำเนินการสำรวจสถานภาพ Digital Literacy โดยมีผลคะแนนเฉลี่ย "63.7" คะแนน จัดอยู่ในระดับ "พื้นฐาน" ซึ่งประเมินได้ว่า ประชาชนไทยมีความเข้าใจและใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลได้ แต่ยังขาดพื้นฐานด้านจริยธรรม กฎ ระเบียบ และความปลอดภัย ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะต้องดำเนินการพัฒนาให้ประชาชนไทยมีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อก้าวสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัล หรือ Digital Citizenship ในอนาคต


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

ด้าน ดร.ปิยนุช วุฒิสอน เลขาธิการ คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เปิดเผยว่า สดช. ได้เริ่มดำเนินการในการสำรวจและวัดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีการศึกษาและกำหนดแนวทางการวัดการเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคเศรษฐกิจดิจิทัล ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจแบบใหม่ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบและสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการระบุระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นข้อมูลสนับสนุนในการกำหนดทิศทางและวางยุทธศาสตร์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศ สำหรับแนวคิดในการดำเนินการจะเป็นการจัดทำบัญชีบริวาร (Satellite Account) ซึ่งเป็นระบบบัญชีที่เชื่อมโยงกับระบบบัญชีของประเทศ เบื้องต้น การดำเนินงานจะกำหนดกรอบแนวทางการวัดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำหนดแนวทางการวัดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล และอนุกรรมการ เพื่อดำเนินการดังกล่าว

ทั้งนี้ สำหรับแผนการดำเนินการในการวัดสถานะการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะต่อไปนั้น สดช. ยังมีแนวคิดที่จะดำเนินการในหลาย ๆ ส่วน ทั้งในเรื่องของการวางกลไกการติดตาม จัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลด้านการพัฒนาดิจิทัลของประเทศไทยอย่างเป็นระบบ โดยจัดทำและจัดเก็บชุดข้อมูล (Dataset) เพื่อเชื่อมโยงสู่ระบบศูนย์ข้อมูลอัจฉริยะ (Intelligence Center) สนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลและคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งการเปิดเผยชุดข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเปิด (Open Data) สำหรับหน่วยงานของรัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และประชาชน ในการนำข้อมูลไปต่อยอดการใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ ยังจะร่วมมือกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ดำเนินการศึกษาและพัฒนาแนวทางการจัดเก็บข้อมูลสถานภาพประเทศ ที่สามารถสะท้อนภาพการพัฒนาในยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล หรือ Thailand Digital Outlook ตามโมเดลการวัดสถานะ Digital Transformation ของ OECD อีกด้วย

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว