15 ประเด็นจับตา ประชาคมอาเซียน 2019 (3)

30 ม.ค. 2562 | 04:30 น.
ในตอนที่ 1 และตอนที่ 2 ผมได้กล่าวถึงประเด็นที่ประชาคมอาเซียนจะต้องจับตามองในปี 2019 แล้ว 7 ประเด็น อันได้แก่ 1) ประเด็นความมั่นคงที่มีความสุ่มเสี่ยงของแต่ละประเทศ 2) การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มทรงตัวและอาจจะหดตัวในแต่ละประเทศสมาชิก 3) การเจรจาเพื่อหาข้อสรุป ลงนาม และมีผลบังคับใช้ของข้อตกลงการค้าที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก RCEP: Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ ASEAN+6 4)ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่มีแนวโน้มขยายขอบเขตไปมากกว่าประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ

5) ความสุ่มเสี่ยงและความท้าทายทางด้านความมั่นคงในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะเรื่องความแตกต่างทางด้านสังคม เชื้อชาติ วัฒนธรรม และการแก่งแย่งทรัพยากร ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศ 6) โครงสร้างของอาเซียนที่ต้องเน้นยํ้าเรื่องการสร้างประโยชน์อย่างแท้จริงและการตระหนักรู้ของประชาชนอาเซียน และ 7) ประเด็นความรุนแรงระดับวิกฤติในรัฐยะไข่ของ ประเทศเมียนมา สำหรับประเด็นที่ 8, 9 และ 10 ที่ผมจะเล่าต่อในวันนี้จะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประชาคมอาเซียนกับประเทศมหาอำนาจครับ

ประเด็นที่ 8 สหรัฐอเมริกากับการสูญเสียสถานะผู้จัดระเบียบโลก หลักการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน และสหภาพโซเวียตในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ต่อเนื่องถึงต้นทศวรรษ 1990 สหรัฐฯ กลายเป็นมหาอำนาจเดียวในโลกที่มีศักยภาพในการวางกฎเกณฑ์กฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเกือบจะทุกมิติ โดยเฉพาะด้านความมั่นคง และเศรษฐกิจ แต่หลังทศวรรษ 2010 เป็นต้นมา สถานการณ์กลับไม่เป็นดังนั้น สหรัฐฯ เองกลับสูญเสียความสามารถในการควบคุมและใช้ประโยชน์จากกฎกติกาที่ตนเองวางไว้

อาทิ การลดและถอนกองกำลังออกจากหลายๆ จุดเปราะบางทางยุทธศาสตร์ รวมทั้งการลดเงินทุนสนับสนุนองค์การระหว่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศในมิติที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ทำให้นักวิชาการและนักสังเกตการณ์จำนวนมากพิจารณาว่า สหรัฐฯ ไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะให้บริการสินค้าสาธารณะ (Public Goods) ทางด้านความมั่นคงในระดับโลกได้อีกต่อไป

ในขณะที่ด้านเศรษฐกิจเอง ความคิดเรื่องการสร้างกำแพงกั้นชายแดน การใช้มาตรการกีดกันทางการค้าและกำแพงภาษี ก็ทำให้สามารถพิจารณาได้ว่าสหรัฐฯ เองก็ไม่สามารถรักษากฎกติกาในชุดแนวคิดเสรีนิยมทางการค้าและการลงทุนได้อีกต่อไป

จากการสำรวจโดย ASEAN Studies Centre, Institute of South East Asian Studies (ISEAS) ประเทศสิงคโปร์ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นจากนักวิชาการด้านอาเซียนศึกษาทั่วทั้งภูมิภาค พบว่า 59.1% พิจารณาว่า ความเป็นมหาอำนาจที่ส่งอิทธิพลต่อประเทศอาเซียนของสหรัฐฯ ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า และ 68% ของนักวิชาการที่ให้ข้อมูลเห็นตรงกันว่า การมีปฏิสัมพันธ์ (Engagement) ของสหรัฐฯ ในยุคของประธานาธิบดี Trump กับประเทศสมาชิกอาเซียนลดลงอย่างต่อเนื่อง 34.6% ของนักวิชาการอาเซียนเชื่อว่าสหรัฐฯไม่สามารถคงสถานะที่พึ่งหลักทางด้านความมั่นคงในระดับภูมิภาคได้อีกต่อไป

TP7-3440-A

ในขณะที่อีก 33.5% ตอบว่า ยังไม่แน่ใจ จะเห็นได้ว่าในสายตาของนักวิชาการอาเซียน ส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นในสหรัฐฯ ในเรื่องของการเป็นพี่เบิ้มที่จะสามารถเข้ามาเป็นที่พึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อีกต่อไป และความเชื่อมั่นนี้ลดลงอย่างมากในประเทศที่เคยมีความใกล้ชิดสนิทสนมอย่างมากกับรัฐบาลสหรัฐฯ นั่นคือ ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์

ประเด็นที่ 9 จีนกับความเป็นมหาอำนาจผู้ทรงอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 80.7% ของนักวิชาการอาเซียนพิจารณาว่า จีนจะกลายเป็นมหาอำนาจที่ขยายอิทธิพลเข้ามาในอาเซียนและจะกลายเป็นทางเลือกใหม่สำหรับรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับมหาอำนาจ แน่นอนว่าสิ่งที่ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เมื่อกล่าวถึงจีน นั่นคือนโยบาย หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road หรือ Belt and Road Initiative: BRI) ซึ่งเป็นความพยายามของจีนในการเข้าไปร่วมพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงจีนเข้ากับภูมิภาคที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจแห่งอนาคต

และนั่นทำให้นักวิชาการอาเซียนถึง 73.3% มองว่าจีนคือมหาอำนาจที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (โดย 10.7% ของนักวิชาการอาเซียนมองว่าอาเซียนมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกเองมากที่สุด ในขณะที่สหรัฐฯ มีผู้สนับสนุนเพียง 7.9% เท่านั้น) ต่อประเด็นทางด้านความมั่นคง 45.2% ของนักวิชาการอาเซียนมองว่า จีนมีอิทธิพลทางด้านความมั่นคงมากที่สุดกับอาเซียน รองลงมาคือสหรัฐฯ (30.5%)

แน่นอนว่าอภิมหาโครงการ BRI ของจีนเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องการมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันหลายๆ ประเทศก็พิจารณาว่านี่คือการขยายอิทธิพลของจีนที่จะเข้ามาบีบประเทศสมาชิกอาเซียนผ่านการให้วงเงินกู้เพื่อไปสร้างโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้น โดยเฉพาะเมื่อเราเห็นโครงการพัฒนาท่าเรือ Hambantota ในประเทศศรีลังกา โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจในประเทศปากีสถาน ที่ทำให้ภาระหนี้สาธารณะของทั้ง 2 ประเทศสุ่มเสี่ยงที่จะไม่สามารถบริหารจัดการได้ หรือการยกเลิกโครงการท่อก๊าซและการเชื่อมโยงระบบรางของมาเลเซียเนื่องจากความกังวลในเรื่องของภาระหนี้จากโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้

นั่นทำให้เราต้องย้อนกลับมาพิจารณาว่า แล้วในประเทศไทย เรามีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใดบ้างที่เป็นส่วนหนึ่งของ BRI

จากการสำรวจโดย Dr. Dominique Lam แห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ทำให้เราเห็นว่า ณ ปัจจุบันมี 6 โครงการหลักที่จีนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยและเป็นส่วนหนึ่งของ BRI ได้แก่

1) โครงการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าและระบบโลจิสติกส์ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือ Lancang-Mekong Cooperation 2) โครงการพัฒนารถไฟทางคู่เด่นชัย (จังหวัดแพร่) ถึงเชียงของ (จังหวัดเชียงราย) ซึ่งจะใช้งบประมาณ 85 พันล้านบาท

3) โครงการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง บางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่า 49.1 พันล้านบาท 4) โครงการรถไฟความเร็วสูงและระบบรถไฟทางคู่กรุงเทพฯ-หนองคาย มูลค่า 259 พันล้านบาท 5) โครงการเชื่อมโยงและเพิ่มเที่ยวการเดินเรือขนส่งระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือ Qinzhou และ 6) โครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา ถึงแม้ว่าประเทศไทยเรายังไม่ได้มีการก่อหนี้สาธารณะจนทะลุเพดานการก่อหนี้ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ทางการจีนเสนอให้กับประเทศไทยจะอยู่ในระดับที่ไม่ได้สูงเกินกว่าที่ไทยเคยกู้เงินจากแหล่งอื่นๆ

แต่การบริหารจัดการโครงการเหล่านี้ต้องทำด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะที่ต้องคำนึงถึงมากกว่าเพียงแค่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ นั่นคือ ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบทางด้านสังคม-วัฒนธรรม ซึ่งหากขาดการพิจารณาในมิติเหล่านี้ไป ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและจีนก็จะขาดความยั่งยืน และนำมาซึ่งปัญหาในอนาคตอย่างมากมาย

ประเด็นที่ 10 แล้วประเทศที่อาเซียนไว้ใจและมั่นใจมากที่สุดคือใคร จากการสำรวจโดย ASEAN Studies Centre, Institute of South East Asian Studies (ISEAS) ประเทศสิงคโปร์ พบว่า 5 อันดับของประเทศที่คนอาเซียนไว้ใจมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น (65.9%) สหภาพยุโรป (41.3%) สหรัฐอเมริกา (27.3%) อินเดีย (21.7%) และจีน (19.6%) และในทางตรงกันข้าม ประเทศที่คนอาเซียนรู้สึกไม่ไว้เนื้อเชื่อใจมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ จีน (51.5%) สหรัฐอเมริกา (50.6%) ซึ่งนับว่าสูสีกันมาก ตามมาด้วย อินเดีย (45.6%) สหภาพยุโรป (35.2%) และญี่ปุ่น (17%)

แน่นอนว่าการสำรวจนี้ไม่ได้สำรวจจากประชาชนทุกคนในอาเซียน แต่สำรวจจากนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ นักธุรกิจ ภาคประชาสังคม และสื่อสารมวลชนในอาเซียนจำนวน 1,008 คน นั่นหมายความว่าในทางสถิติก็มีความเชื่อมั่นในระดับหนึ่ง แต่อาจจะไม่ตรงกับความคิดเห็นของแต่ละคน

อย่างไรก็ตาม เหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องคำนึงถึง เพื่อที่จะดำเนินนโยบายต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและในระดับส่วนบุคคลในประเด็นที่จะต้องไปเกี่ยวข้องกับประเทศมหาอำนาจ

เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ

โดย ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3440 ระหว่างวันที่ 31 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว