พาณิชย์ผนึก สรท. ติวเข้มผู้ส่งออก รับมือค้าโลกปี 62 ผันผวนหนัก

28 ม.ค. 2562 | 10:58 น.
พาณิชย์จับมือ สรท. ติวเข้มผู้ประกอบการ พร้อมรับมือค้าโลกปี 62 ผันผวน ชี้! สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ส่งออกไทยมีได้-เสีย แนะผู้ประกอบการเร่งพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ นำระบบอัตโนมัติมาช่วยเพิ่มขีดแข่งขันมากขึ้น เร่งสร้างแบรนด์ตัวเอง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา สถานการณ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนอาจมีแนวโน้มดีขึ้นจากการที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้ง 2 ประเทศ มีการพบหารือกันเป็นระยะและต่อเนื่อง เพื่อหาทางออกต่อปัญหาทางการค้าระหว่างกัน โดยมีข่าวว่า จีนอาจเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพื่อลดช่องว่างการขาดดุลทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งหาก 2 ฝ่าย สามารถหาข้อสรุปเป็นที่น่าพอใจร่วมกันได้จะเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคธุรกิจและทำให้การค้าและการลงทุนของโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น

 

[caption id="attachment_380792" align="aligncenter" width="503"] นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม[/caption]

ขณะเดียวกัน ไทยจำเป็นต้องเตรียมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น หากสหรัฐฯ ขาดดุลการค้าจีนลดลง จากจีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นแทนการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น จะมีผลต่อการส่งออกของไทยไปจีนหรือไม่ อย่างไร หรือหากจีนพิจารณาย้ายฐานการผลิตสินค้าบางส่วนจากจีนไปตั้งในประเทศที่ 3 เพื่อลดการส่งออกโดยตรงจากจีนไปสหรัฐฯ ไทยจะสามารถดึงดูดจีนมาลงทุนในไทยได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ และในสาขาการผลิตใด

เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไทย รับมือสถานการณ์การค้าโลก ปี 2562 โดยเฉพาะปัญหาทางการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น สหรัฐฯ จีน และผลที่จะเกิดขึ้นต่อการค้าโลก รวมทั้งไทย เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2562 ทางกรมได้จัดสัมมนาร่วมกับสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เรื่อง "อนาคตส่งออกไทยกับพลวัตของสงครามการค้า" มีผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งผู้แทนจากกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของไทยเข้าร่วม ได้แก่ อาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วน เหล็กและอลูมิเนียม ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม โดยได้ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ แลกเปลี่ยนมุมมองต่อโอกาสทางการค้า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการไทย เพื่อเป็นแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์การค้าโลกที่ยังผันผวนอยู่ในขณะนี้


S__5513312

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถิติการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงของไทย จากมาตรการของทั้ง 2 ประเทศ ในเบื้องต้น พบว่า มีสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ สูงขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากการส่งออกไปทดแทนสินค้าจีน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้า ICT ส่วนสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าอาจเป็นเพราะไทยได้ประโยชน์จากการส่งออกไปทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ในตลาดจีน เช่น น้ำมันปิโตรเลียมดิบ สินค้าเกษตร จำพวกผลไม้ และกุ้งแช่แข็ง

ขณะเดียวกัน สินค้าไทยที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ ตามมาตรา 232 ทำให้การส่งออกเหล็กและท่อเหล็กของไทยลดลงในปี 2561 ส่วนผลกระทบทางอ้อมที่อาจเกิดขึ้น คือ การเบี่ยงเบนทางการค้าของสินค้ามายังประเทศไทย โดยไทยมีการนำเข้าเหล็กจากจีนเพิ่มขึ้นในปี 2561 และยังมีสินค้าที่จีนส่งออกมาไทยเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์บางรายการ และในปัจจุบัน สหรัฐฯ ยังอยู่ระหว่างการไต่สวน ว่า จะประกาศใช้มาตรา 232 กับสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนที่นำเข้าจากต่างประเทศ หากในที่สุดแล้ว สหรัฐฯ ตัดสินใจที่จะประกาศใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนจากประเทศต่าง ๆ (เป็น 25%) ผู้ประกอบการไทยก็จะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว

"ในฐานะที่ไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตโลก จึงต้องติดตามสถานการณ์ทางการค้าที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 อย่างใกล้ชิด รวมทั้งสถานการณ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เพราะมาตรการทางการค้าที่ทั้ง 2 ฝ่าย ใช้ต่อกัน อาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อไทยได้ ทั้งนี้ ในปี 2561 จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวม 80,136 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.6% ขณะที่ สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย มูลค่าการค้ารวม 43,116 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 4.22%


S__5496838

ด้าน นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ยังมองไม่เห็นปัจจัยบวกของภาคการส่งออก เพราะขณะนี้การค้าทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า แม้ว่าจะอยู่ระหว่างพักรบ 90 วัน ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองระหว่างจีนกับสหรัฐฯ หากไม่ได้ข้อสรุปในวันที่ 1 มี.ค. นี้ คาดว่าสถานการณ์การค้าจะยังไม่มีทิศทางที่ดีขึ้น สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับตัวรับกับปัจจัยลบ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดเงินที่ลดลง ซึ่งนักลงทุนที่เริ่มมองแนวโน้มเศรษฐกิจในทางลบ ส่งผลกระทบต่อคำสั่งซื้อเพื่อสต๊อกสินค้าสำหรับการขาย รวมถึงความผันผวนของค่าเงิน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยจะต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ โดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้นและพัฒนาแบรนด์สินค้าให้เข้มแข็ง

ขณะที่ นายกำจร คุณวพานิชกุล รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากประเมินแนวโน้มสถานการณ์การส่งออกและการผลิตในอุตสาหกรรมนี้ มองว่า หากไม่มีสงครามการค้าจะส่งผลต่อดัชนีการผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวได้ที่ 2.97% แต่สงครามการค้ายังไม่สงบ เชื่อว่าจะจะเกิดผลกระทบต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 0.16% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรม 0.12% แต่หากสถานการณ์การค้าแบบปกติ จะทำให้มูลค่าการค้าของอุตสาหกรรมอยู่ที่ 3.26% ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต เน้นการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในการผลิตมากขึ้น เพื่อจะช่วยลดต้นทุนการผลิตลง รวมไปถึงพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และการร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาด้านงานวิจัย เป็นต้น

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว