รมว.แรงงานสั่งเข้มเอาผิดนายจ้างทำเครนถล่ม

24 ม.ค. 2562 | 04:12 น.
รมว.แรงงาน สั่งเข้ม กสร.ตรวจสอบข้อเท็จจริงเอาผิดนายจ้างตามกฎหมาย กำชับ สปส.ดูแลสิทธิประโยชน์แก่ทายาทกรณีลูกจ้างเสียชีวิตและคุ้มครองผู้บาดเจ็บตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน

[caption id="attachment_378908" align="aligncenter" width="503"] พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว[/caption]

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีเครนถล่มขณะคนงานกำลังต่อเครนเพื่อก่อสร้างคอนโดมิเนียมหรูแห่งหนึ่งย่านถนนพระราม 3 แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพฯ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 คน  โดยมาตรการช่วยเหลือของกระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายสิทธิประโยชน์ให้แก่ทายาทของลูกจ้างที่เสียชีวิตจากการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 เป็นค่าทำศพจำนวน 40,000 บาท ท่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างเป็นเวลา 10 ปี และทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพกองทุนประกันสังคม ส่วนลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บจะได้รับเงินทดแทน เป็นค่ารักษาพยาบาลวงเงิน 50,000 บาทถึง 1 ล้านบาท กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ ค่าทดแทนกรณีหยุดงานร้อยละ 70 ของค่าจ้างโดยจ่ายตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ไปจนตลอดระยะเวลาที่ไม่สามารถทำงานได้แต่ต้องไม่เกิน 1 ปี ค่าทดแทนกรณีสูญเสียไม่เกิน 10 ปี กรณีทุพพลภาพจะได้รับค่าทดแทนไม่น้อยกว่า 15 ปี และค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่งแบ่งเป็นค่าฟื้นฟูด้านอาชีพ 24,000 บาท และค่าฟื้นฟูด้านการแพทย์ 24,000 บาท

รมว.แรงงาน ยังได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการเอาผิดกับนายจ้างตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ตามมาตรา 14 ในกรณีนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในสภาพการทำงานหรือสภาพแวดล้อมในการทำงานที่อาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัย ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำงานและแจกคู่มือปฏิบัติงานให้ลูกจ้างทุกคนก่อนที่ลูกจ้างจะเข้าทำงาน เปลี่ยนงาน หรือเปลี่ยนสถานที่ทำงานบทลงโทษ มาตรา 16 ให้นายจ้างจัดให้ผู้บริหาร หัวหน้างาน และลูกจ้างทุกคนได้รับการฝึกอบรมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้บริหารจัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวินามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานได้อย่างปลอดภัย ในกรณีนายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงาน เปลี่ยนงาน เปลี่ยนสถานที่ทำงานหรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ซึ่งอาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตราบต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัยให้นายจ้างจัดให้มีการฝึกอบรมลูกจ้างทุกคนก่อนการเริ่มทำงาน ทั้งนี้ มาตรา 56 นายจ้างผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 16 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 57 นายจ้างผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 14 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท

ด้านนายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ กรุ๊ป เปิดเผยถึงกรณีเครนล้มในโครงการ ลุมพินี เพลส พระราม 3-ริเวอร์ไรน์ว่า สาเหตุเกิดจากขั้นตอนการประกอบเครนของคนงานซึ่งเป็นบริษัทผู้รับเหมารายย่อย โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการประกอบเครนเพื่อยกความสูงขึ้นไป แต่เกิดอุบัติเหตุทำให้เครนหล่นลงมา ส่งผลให้เบื้องต้นมีคนงานเสียชีวิต 4 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บอยู่ระหว่างการตรวจสอบและรอการยืนยันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งบริษัทกำลังติดตามเพื่อดำเนินการในส่วนของการช่วยเหลือและเยียวยาต่อไป อย่างไรก็ตาม ในส่วนของอาคารนั้นไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก