ถึงเวลาขับเคลื่อน AI เป็น "วาระแห่งชาติ"

23 ม.ค. 2562 | 07:13 น.
230162-1406

ภายใต้ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 นั้น เศรษฐกิจดิจิตอลที่เทคโนโลยีสารสนเทศและหลากนวัตกรรมสมัยใหม่ถูกนำเข้ามาผนวกกับอุตสาหกรรมแขนงต่าง ๆ อย่างแยกออกจากกันไม่ได้ ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างต้องทำงานร่วมกัน เพื่อรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากกระแสคลื่นของเทคโนโลยีที่ถั่งโถมเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีเกี่ยวกับหุ่นยนต์ (Robotics & Automation) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ที่แทรกตัวเข้ามามีบทบาทในหลากแขนงธุรกิจและอุตสาหกรรม ทำให้การทำงานของคนเราเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

ในเดือน ส.ค. 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการติดตามการดำเนินงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในอนาคต ทำให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรม มีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ มาในปีนี้กำลังมีการเตรียมการเพื่อนำเสนอมาตรการพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้เป็น "วาระแห่งชาติ" เพื่อเสริมจุดแข็งให้กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันต่อไปในระยะยาว

 

[caption id="attachment_378586" align="aligncenter" width="500"] ถึงเวลาขับเคลื่อน AI เป็น "วาระแห่งชาติ" เพิ่มเพื่อน [/caption]

"ฐานเศรษฐกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านพัฒนาการศึกษา บุคลากร และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเตรียมการยุทธศาสตร์สำคัญด้านเทคโนโลยีทั้ง 2 สาขาดังกล่าว ดร.ชิต ย้ำว่า มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่น และจีน ต่างพยายามแข่งขันช่วงชิงการเป็นผู้นำในเทคโนโลยี AI ทำให้กระแสของโลกไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะขับเคลื่อนไปในทิศทางนี้ ใครที่ก้าวไม่ทันกระแสก็จะไม่สามารถแข่งขันกับใครได้

 

[caption id="attachment_378584" align="aligncenter" width="288"] ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ดร.ชิต เหล่าวัฒนา[/caption]

เทคโนโลยี AI ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตมนุษย์ ผ่านหลากหลายช่องทางและรูปแบบการใช้งาน โดยเชื่อมโยงการทำงานของเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น การประมวลและวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) การจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ไว้ในระบบคลาวด์ (Cloud) การทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงถึงกันด้วยอินเตอร์เน็ต (Internet of Things : IoT) ผนวกเข้ากับพัฒนาการของหุ่นยนต์อัตโนมัติวิทยาการเหล่านี้ จะทำให้มนุษย์ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แม่นยำขึ้น ใช้เวลาน้อยลง และโดยตัวของระบบ AI เอง ก็สามารถทำงานได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นศักยภาพที่เหนือความสามารถของมนุษย์

ในเรื่องของการนำนวัตกรรม AI มาใช้นั้น ดร.ชิต ซึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการเศรษฐกิจดิจิทัลและกรรมการซูเปอร์คลัสเตอร์อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของประเทศ มองว่า เอกชนมีความตื่นตัวมากกว่ารัฐบาล และปัจจุบัน ทาง FIBO ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการคิดค้นพัฒนาต้นแบบ (Prototype) ก็พยายามทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อต่อยอดนำองค์ความรู้ นำต้นแบบและโซลูชันที่ได้ไปขยายผลใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ-การค้า


07-3369-1

"เรานำเสนอให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งหมายความว่า เป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องรีบทำ เพื่อไม่ให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันปัจจุบันราว 28 ประเทศทั่วโลก ได้บรรจุเรื่องของ AI เป็นวาระแห่งชาติ นั่นหมายความ ถ้าเราล้าหลัง ขีดความสามารถในการแข่งขันของเราก็จะตกลงเรื่อย ๆ เทคโนโลยี AI กำลังถูกนำมาใช้ในหลายด้าน ๆ รวมถึงตลาดเงิน-ตลาดทุนที่มีมูลค่ามหาศาลไทย ไม่สามารถขยับตัวช้าไปกว่านี้ เพราะจริง ๆ แล้ว ตอนนี้เราก็ช้าไปพอสมควรแล้ว ฉะนั้น ในแผนยุทธศาสตร์ที่เราจะนำเสนอเป็นวาระแห่งชาติสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในราวเดือน เม.ย. นี้ จะครอบคลุมตั้งแต่การบ่มเพาะพัฒนาบุคลากรด้าน AI ให้ความรู้กันตั้งแต่ระดับประถม ไปจนถึงแนวทางพัฒนา ตลอดจนการส่งเสริมการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและการลงทุน เพื่อให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในการนำเทคโนโลยี AI มาใช้อย่างไร เพื่อให้เกิดพลวัตต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม นั่นหมายถึงการมีส่วนร่วมของทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง"

ดร.ชิต กล่าวว่า จะนำเสนอแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรมด้าน AI เป็นวาระแห่งชาติผ่าน 2 กระทรวงที่เกี่ยวเนื่องโดยตรง คือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม "ไม่ว่าการยื่นเสนอเรื่องนี้จะทัน ครม. ของรัฐบาลชุดนี้ หรือ ชุดใหม่ก็ตาม ผมเชื่อว่า ทุกรัฐบาลจะรับฟังและให้ความสนับสนุนเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญต่ออนาคตการขับเคลื่อนประเทศของเราอย่างแท้จริง ผมเองทำงานเรื่องนี้ ไม่ได้อิงการเมืองใด ๆ เราสบายใจในการทำงาน และอยากย้ำว่า ประเทศไทยจะต้องวิ่งตามเรื่องนี้ (AI) ให้ทัน เพราะถ้าไม่ทัน เราแพ้เขาแน่นอน"


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,437 วันที่ 20 - 23 ม.ค. 2562 หน้า 15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'นีลเส็น' นำเข้าเครื่องมือวิจัย ฝ่าพายุดิจิตอลรับ "Big Data-AI-IoT" แรง
สจล. ลุยเปิดสาขาวิชาใหม่ "Fun with AI : สนุกกับปัญญาประดิษฐ์"

เพิ่มเพื่อน ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว