แรงซื้อ "ทองคำ" จากธนาคารกลางปี 2018 แข็งแกร่งสุดนับตั้งแต่ปี 2015

23 ม.ค. 2562 | 23:21 น.
| คอลัมน์ : ครบเครื่องเรื่องทองกับ YLG

| โดย พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

……………….


เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (Foreign Exchange Reserves) คือ สินทรัพย์ต่างประเทศที่ถือครอง หรือ อยู่ภายใต้การควบคุม โดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วยเงินตราต่างประเทศต่าง ๆ อาทิ ดอลลาร์สหรัฐฯ ยูโร ปอนด์ เยน และหยวน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีทองคำ พันธบัตรรัฐบาล สิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights : SDR) และสินทรัพย์ส่งสมทบกองทุนการเงินระหว่างประเทศอีกด้วย จากข้อมูลของ Bloomberg IMF และ TDS Commodity Strategy พบว่า ปัจจุบัน โครงสร้างของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศทั่วโลก ประกอบกับด้วย ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งยังคงมีสัดส่วนราว 62% ของเงินทุนสำรองทั่วโลก ตามมาด้วยเงินยูโร 20% ทองคำ 10% เงินเยน 5% สินทรัพย์อื่น ๆ อีก 3% ประเด็นที่น่าสนใจและเกี่ยวเนื่องกับราคาทองคำโดยตรง คือ ช่วงไม่กี่ปีมานี้ ธนาคารกลางทั่วโลกได้เพิ่มการถือครองทองคำ โดยเฉพาะปี 2018 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกเพิ่มการถือครองทองคำในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ทำให้เดือน ม.ค. - พ.ย. ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำแล้วมากกว่า 450 ตัน โดยมีประเทศผู้ซื้อหลักอย่างธนาคารกลางรัสเซีย ที่ Reuters เพิ่งรายงานในวันที่ 18 ม.ค. ว่า ธนาคารกลางรัสเซียได้เข้าซื้อทองคำปริมาณ 8.8 ล้านทรอยออนซ์ หรือคิดเป็น 273 ตัน ในปี 2018 ซึ่งสูงกว่าระดับ 7.2 ล้านออนซ์ หรือ 224 ตัน ที่เคยทำสถิติไว้ในปี 2017 รวมไปถึงตุรกีและคาซัคสถานที่เป็นผู้ซื้อหลักในปี 2018


MP18-3438-A

นอกจากนี้ ยังมีธนาคารกลางอีกหลายแห่งที่กลับเข้าซื้อทองคําอีกครั้งในปี 2018 อาทิ ธนาคารกลางอียิปต์ที่เข้าซื้อทองคําเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1978 ขณะที่ ธนาคารกลางอินเดีย, อินโดนีเซีย, ไทย และฟิลิปปินส์ เข้าซื้อทองคำหลังจากไม่ได้ดําเนินการใด ๆ มาหลายปีติดต่อกัน ด้าน โปแลนด์และฮังการีมีการรายงานกิจกรรมการเข้าซื้อทองคำเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีนได้กลับเข้ามาซื้อทองคําในเดือน ธ.ค. จํานวน 10 ตัน เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี

สภาทองคำโลก เชื่อว่า ธนาคารกลางตัดสินใจเข้าซื้อทองคําเนื่องจากต้องการการกระจายเงินทุนสํารองออกห่างจากดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะประเทศที่ถูกควํ่าบาตรทางเศรษฐกิจ อาทิ รัสเซียที่เริ่มถูกควํ่าบาตรจากชาติตะวันตกในปี 2014 จึงเริ่มเข้าซื้อทองคําในปริมาณมากกว่า 200 ตันต่อปี หลังจากนั้น ขณะที่ ธนาคารกลางในหลายประเทศยังเข้าซื้อทองคําในฐานะสินทรัพย์ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากปัจจัยทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากทองคำไม่ใช่สินทรัพย์ของใครคนใดคนหนึ่งจึงไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงที่มาจากบุคคลที่ 3 อีกหนึ่งเหตุผลในการเข้าซื้อทองคำ คือ เพื่อปรับสมดุลสัดส่วนการลงทุนในเงินทุนสํารองระหว่างประเทศ รัสเซีย, อินเดีย, เม็กซิโก และประเทศเกิดใหม่ที่สำคัญอื่น ๆ ถือทองคำในสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะประเทศจีน ที่ถือครองทองคําอยู่ในสัดส่วนเพียง 2% ของทุนสํารองระหว่างประเทศ ทำให้หลายคนเชื่อว่า จีนอาจกําลังพยายามขยับสัดส่วนการสํารองทองคำให้ทัดเทียมกับชาติมหาอำนาจอย่าง สหรัฐฯ เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี ซึ่งมีทองคําสํารองมากกว่า 60% ของทุนสํารองระหว่างประเทศ


ทอง

มีการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางทั่วโลกจะเดินหน้าถือครองทองคำเพิ่มขึ้นอีกราว 800 ตัน ในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนุนราคาทองคำให้มีเสถียรภาพ เนื่องจากการเข้าซื้อทองคำของธนาคารกลางเพิ่มเติมจะจำกัดปริมาณอุปทานทองคำทางกายภาพ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่เหล่าธนาคารกลางต่าง ๆ มีต่อทองคำอีกด้วย

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,439  วันที่ 24-26 มกราคม 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว