ฟินันเซียไซรัสทุ่ม100ล. พัฒนาไอที-รุกตลาดอนุพันธ์-DW

24 ม.ค. 2562 | 03:25 น.
 

บล.ฟินันเซียไซรัสฯ ปรับตัวเพื่ออยู่รอดยุคเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ทุ่มงบกว่า 100 ล้านบาท พัฒนาระบบไอที สร้างทีมบุคลากร 50-60 คน เพิ่มสินค้าอนุพันธ์-DW พร้อมดึงจุดแข็งผนึก BNP Paribas เพิ่มลูกค้ากองทุนรวม-ต่างชาติ

นายช่วงชัย นะวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการปรับตัวของบริษัท เพื่อรองรับกับสภาพการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯที่เปลี่ยนแปลงไปว่า ในอดีตที่ผ่านมาสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยมีถึง 60-70% ของมูลค่าการซื้อขายรวม แต่ปัจจุบันสัดส่วนนักลงทุนสถาบัน กองทุนรวม และนักลงทุนต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ทำให้สัดส่วนนักลงทุนรายย่อยลดลงเหลือตํ่ากว่า 50%

โบรกเกอร์ต้องปรับตัว จะเน้นนักลงทุนรายย่อยอย่างเดียวไม่ได้ บล.ฟินันเซียไซรัสฯ จึงได้เน้นการเพิ่มลูกค้ากองทุนรวมและสถาบัน บริษัทมีความร่วมมือยาวนานกับ BNP paribas Securities Asia ในด้านงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ และ ให้บริการลูกค้าสถาบันในต่างประเทศผ่านบริษัทย่อย บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุนเอฟเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และได้ขยายการให้บริการเพื่อให้ครอบคลุมถึงลูกค้าสถาบันในประเทศไทยด้วย

นอกจากนี้ บริษัทได้เร่งสร้างทีมงานเพื่อให้บริการด้าน Wealth Management แก่ลูกค้ารายใหญ่ที่มีพอร์ตเริ่มตั้งแต่ 2-3 ล้านบาทขึ้นไป เป็นบริการที่ปรึกษาการลงทุน และจัดการกองทุนส่วนบุคคล โดยบริษัทเตรียมขอใบอนุญาตจัดการการลงทุนส่วนบุคคลและ Wealth Advice จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

[caption id="attachment_378515" align="aligncenter" width="335"] ช่วงชัย นะวงศ์ ช่วงชัย นะวงศ์[/caption]

ปัจจุบันบริษัทมีรายได้ด้านโบรกเกอร์ปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท เป็นสัดส่วน 70-80% ของรายได้รวม ในปี 2561 ที่ผ่านมา บริษัทได้ลงทุน ร่วม 100 ล้านบาทในการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ทั้งระบบไอที และการเพิ่มบุคลากรด้านไอทีจำนวน 50-60 คน

“เราให้ความสำคัญกับการลงทุนของลูกค้ารายย่อยผ่านเครื่องมือการลงทุนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น Finansia HERO นวัตกรรมทางการเงินที่จะช่วยตอบโจทย์นักลงทุนสามารถค้นหาหุ้นแบบ Real Time เพื่อลงทุนในภาวะที่ตลาดผันผวน ในรูปแบบที่นักลงทุนสามารถกำหนดได้เอง”

บล.ฟินันเซียฯ ได้พัฒนาแอพพลิเคชันซื้อขายหุ้น “Finansia  HERO” เพื่อให้นักลงทุนซื้อขายหุ้นได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ สามารถซื้อขายหุ้นและสแกนหุ้นในตัวเดียวกัน ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดแล้วกว่า 5 หมื่นราย โดยมี 3,000 รายที่มีการใช้อย่างคึกคัก บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดลูกค้ารายย่อยสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในตลาดออนไลน์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และตั้งเป้าขึ้นเป็นอันดับ 1 ในปีนี้

นอกจากนี้ บริษัทได้พัฒนาสินค้าอนุพันธ์ เพื่อรอง รับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ทั้ง TFEX และ DW นายช่วงชัยกล่าวว่า ในต่างประเทศอย่างสิงคโปร์ เกาหลี จีน นักลงทุนหันไปเล่นตราสารอนุพันธ์ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น และประเทศไทยก็เป็นไปในทิศทางนั้น บริษัทจึงเร่งพัฒนาสินค้าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า

แผนในปี 2562 นายช่วงชัยกล่าวว่าจะลงทุนพัฒนาด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งงบลงทุนไว้ไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา เพื่อเน้นการเติบโตของธุรกิจ และมุ่งเพิ่มสัดส่วนรายได้ด้านอื่นๆ อาทิ เพิ่มลูกค้าสถาบันและกองทุนรวม ธุรกิจด้านวาณิชธนกิจ ที่ปรึกษาการลงทุนและจัดการกองทุนส่วนบุคคล
หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,439  วันที่ 24-26 มกราคม 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว