AI ไล่ล่าระบบราชการ ฟันธง 5 ปี ยึดงานแทนคน

28 ม.ค. 2562 | 05:46 น.
หน่วยงานภาครัฐถือเป็นกลุ่มที่มีการปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีช้าสุด อย่างไรก็ตาม ด้วยแรงบีบจากประชาชนและองค์กรธุรกิจ จะเป็นตัวผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐต้องก้าวไปสู่การให้บริการด้านดิจิตอลมากขึ้น ... "ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ถึงผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) ของระบบราชการ


➣ 5 ปี AI กระทบระบบราชการ

โดย "นายปกรณ์" เชื่อว่า อีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า จะเห็นผลกระทบของ AI ต่อระบบราชการมากขึ้น ซึ่งข้าราชการยุคใหม่จะเข้าใจกับเรื่องพวกนี้ เพราะเขาโตมากับเทคโนโลยี ต่างจากข้าราชการยุคก่อน ที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่เอาเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม เอไอจะไม่ทำให้ขนาดโครงสร้างของระบบราชการเล็กลงได้ในทันที เพราะบางงานยังต้องใช้คนในการทำงาน เชื่อว่าถ้านำเทคโนโลยีฉลาดมาใช้ ข้าราชการอาจจะมีจำนวนน้อยลง ไม่จำเป็นต้องตั้งกรมใหม่ ไม่ต้องเพิ่มจำนวนคน แต่จะมีความฉลาดมากขึ้นโดยใช้อุปกรณ์ แต่จะไม่มีทันที ไม่ใช่เข้ามาทำงานแทนคนแล้วปลดข้าราชการออก คงไม่ถึงขนาดนั้น แต่จะเป็นไปตามธรรมชาติ ค่อยเป็นค่อยไป ไม่เหมือนโรงงานผลิตรถยนต์ที่ไม่ต้องมีคนก็ได้

"สังคมบีบให้ราชการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพราะสามารถซื้อของออนไลน์ จ่ายเงิน สามารถทำในโทรศัพท์มือถือได้ทั้งหมด เมื่อเอกชนเป็นแบบนั้น ประชาชนก็คาดหวังภาครัฐแบบนั้นเช่นกัน ถามว่าทุกหน่วยพยายามหรือไม่ ตอบได้เลยว่าพยายาม"

 

[caption id="attachment_378154" align="aligncenter" width="283"] ปกรณ์ นิลประพันธ์ ปกรณ์ นิลประพันธ์[/caption]

เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวอีกว่า งานราชการที่ยังต้องใช้กำลังคน คือ งานด้านบริการ งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ หรือ ครีเอทีฟ การติดต่อประสานงาน งานที่ต้องตัดสินใจ เช่น การวินิจฉัยโรค การว่าความด้านกฎหมาย ส่วนประเภทงานที่ใช้กำลังคนลดลงเรื่อย ๆ คือ งานเดินเอกสาร งานการประมวลผล การคิดคำนวณ-สถิติ โดยเฉพาะในตำแหน่งบัญชี ยกตัวอย่าง ธนาคารที่ปิดสาขามากขึ้น เพราะใช้เอไอทำงานแทนได้แล้ว มีโมบายแบงกิ้งที่ทุกอย่างทำออนไลน์ได้หมด


➣ แนะทักษะข้าราชการอนาคต

นายปกรณ์ กล่าวชี้ให้เห็นถึงทักษะของข้าราชการในอนาคตที่จะต้องมี คือ 1.มีความรู้เรื่องทางการเงิน หรือ Financial Literacy 2.ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิตอล หรือ Digital Literacy ดังนั้น คนที่ทำงานอยู่กับกระดาษ เดินเอกสาร ประทับตราเอกสาร ที่ล้าสมัยมาก ที่ประเทศออสเตรเลียมีการปฏิรูประบบราชการ ใช้เวลาทดสอบเป็นปี ที่ทำให้ข้าราชการคนหนึ่งคนทำได้หมด ทั้งคิดได้ พิมพ์ได้ และเดินไปส่งเอกสารได้ เช่นเดียวกับของเรา ตอนนี้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการส่งเอกสารแทนคน คนเดินเอกสารจึงน้อยลงไปเรื่อย ๆ

"สำคัญ คือ ผู้นำองค์กรต้องเป็นตัวอย่าง ถ้ายังเป็นผู้นำอนาล็อกอยู่ก็ช่วยไม่ได้ ถ้าไม่เข้าใจว่าเราอาศัยในโลกของคนรุ่นใหม่ โลกของไอทีที่เราไม่รู้จัก ถ้าเราเป็นคนโลกอนาล็อกที่อาศัยอยู่ในโลกไอที ถ้ายังไม่ปรับตัว ไม่ทัน จะยุ่ง และมีผลกระทบต่อระบบการทำงาน" นายปกรณ์ กล่าว


➣ AI ช่วยแก้ปัญหาตรงจุด

เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวถึงข้อดีของการใช้เอไอในระบบราชการ ว่า ถ้าระบบราชการเชื่อมโยงกันได้ทั้งหมด จะสามารถนำเอไอมาประกอบในการวิเคราะห์ หรือ สังเคราะห์ข้อมูล แล้วจะทำให้เราสามารถให้บริการประชาชนได้ตรงกับความต้องการมากขึ้น ได้เร็ว สะดวกขึ้น ราคาถูกลง และไม่เหวี่ยงแหเหมือนแต่ก่อน ถ้าเหวี่ยงแหเหมือนแต่ก่อนก็เป็นการตำนํ้าพริกละลายแม่นํ้า เงินภาษีที่ใช้ไปก็ไม่คุ้มค่า เช่น เราบอกว่าชาวนาจน แต่เอไอบอกว่าชาวนาไม่ได้จน จากสาเหตุเดียวกัน วิเคราะห์ได้ว่า เขาจนเพราะอะไร จึงจะสามารถดีไซน์โปรแกรมในการช่วยเหลือชาวนาได้ง่ายขึ้น ตรงกับเป้าหมายมากขึ้น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเขาก็ใช้เอไอในการวิเคราะห์ข้อมูล ว่า ผู้ที่มาลงทะเบียนขอรับสวัสดิการมีข้อมูลอะไรบ้าง เพื่อช่วยเหลือได้ตรงเป้า แทนที่จะให้เงินเหมือนกันทุกคน

ด้าน "การท่องเที่ยว" เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวในประเทศ แล้วเขาเช่า Pocket Wi-Fi ซึ่งเราสามารถดูการประมวลผลการใช้งาน Wi-Fi ได้ว่า นักท่องเที่ยวชอบไปเที่ยวที่ไหน และดูว่าทำไมแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงกันแต่ไม่มีคนไปเที่ยว หรือ เที่ยวน้อย ทำอย่างไรเราจึงจะทำให้เศรษฐกิจการท่องเที่ยวในท้องถิ่นที่ไม่มีคนไปเที่ยวเกิดขึ้นมาได้ ได้รับโอกาสบ้าง เพื่อกระจายความเจริญทุกพื้นที่

ส่วน "การป้องกันการทุจริต" กรณีคนเสียภาษีถ้าอยู่ในระบบ แล้วมีการใช้จ่ายเงินผิดปกติ เอไอสามารถเตือนเราได้ว่า ผู้เสียภาษีรายไหนมีการใช้จ่ายที่ผิดปกติ ทั้งที่มีการซื้อรถ ซื้อข้าวของมหาศาล แต่กลับแจ้งเสียภาษีน้อยผิดปกติ ก็น่าสงสัย ต้องมีอะไรบางอย่าง ซึ่งเรื่องนี้เริ่มมีการใช้กันแล้ว โดยในต่างประเทศมีการใช้กันแล้วเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ผิดปกติอะไร

การดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงก็ทำได้ง่ายขึ้น เพราะปัจจุบันมี "Smart Watch" ถ้าสามารถให้กับทุกคน ทำให้ราคาถูกลงและฟีเจอร์ไม่ต้องเยอะ แค่สามารถวัดความดัน ชีพจร การออกกำลังกาย แล้วสวมให้ผู้สูงอายุ หรือ ผู้ป่วยติดเตียง ส่งสัญญาณไปที่โรงพยาบาลที่มีการบันทึกข้อมูล หมอก็จะสามารถแทร็กข้อมูลได้ว่า คนไข้แต่ละรายเป็นอะไร สามารถนำไปใช้ในโครงการหมอชุมชน หมอครอบครัวได้ ก็จะทำให้ง่ายขึ้น ในกรณีที่เกิดอะไรขึ้นกับคนไข้ เมื่อมีการส่งมาโรงพยาบาลก็ดึงข้อมูลจากนาฬิกาเพื่อรักษาได้แม่นยำขึ้น เพราะตลอด 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือนที่ผ่านมา มันจะบันทึกว่า เรามีชีพจร ความดัน การออกกำลังกายเท่าไร หมอจะมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ สามารถรักษาได้ตรงกับสิ่งที่เขาเป็นมากขึ้น ไม่ใช่เดาสุ่ม สามารถเรียกดูข้อมูลได้บนจอ เลขที่บัตรประชาชนเลขนี้ คุณลุงคุณป้าคนนี้ข้อมูลสามารถดูเป็นกราฟได้ทันที

"รัฐบาลสิงคโปร์เขาแจกสมาร์ทวอชต์ แล้วให้ประชาชนเดิน แล้วนำจำนวนก้าวเดินที่บันทึกในนาฬิกาสามารถนำมาแลกคะแนนได้ ถ้าเดินมากแสดงว่า คุณออกกำลังกายเยอะ ถ้าออกกำลังเยอะ โอกาสป่วยก็น้อย การกินยาก็น้อยลงแข็งแรงขึ้น ดังนั้น ผลที่ออกมาไม่ใช่ออกมาเพียงเรื่องเดียว แต่อยู่ที่ว่า เราจะมองเห็นโอกาสจากมันได้ขนาดไหนมากกว่า"


➣ ใช้คิวอาร์โค้ดยันตัวตน

นายปกรณ์ กล่าวยกตัวอย่างว่า ตอนนี้มีการพัฒนาการเข้าระบบล็อกอินยืนยันตัวตนของระบบราชการ ด้วยคิวอาร์โค้ดส่วนตัวของแต่ละคน โดยที่ไม่ต้องพิมพ์ยูสเซอร์เนมและพาสเวิร์ด แต่จะใช่คิวอาร์โค้ดในการล็อกอินการทำงาน ซึ่งจะทำให้สะดวกขึ้น สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ ทั้งนี้ มีการเริ่มการใช้คิวอาร์โค้ดในการทำงานแล้ว อย่างเช่น การประชุมก็ไม่ต้องแจกเอกสาร เพียงทำคิวอาร์โค้ดกลางขึ้นมาสำหรับการประชุม ผู้เข้าประชุมเพียงสแกนคิวอาร์โค้ดเอกสารการประชุมก็จะไปอยู่ในมือถือแล้ว


090861-1927-9-335x503-8-335x503-9-2-335x503

การทำ "คิวอาร์โค้ด" ถ้าจะให้ดี คือ ข้อมูลไม่ควรไปอยู่ที่กูเกิล ทำอย่างไรจะทำให้อยู่ในฐานข้อมูลของเราเอง ภายในประเทศ หรือ การสั่งงานก็มีการสั่งงานผ่านไลน์ แต่ที่สำนักงาน ก.พ.ร. มีการใช้ระบบการสั่งงานผ่าน G-Chat เป็นระบบภายใน ข้อมูลจะที่อยู่ในคลาวด์ของ ก.พ.ร. เท่านั้น ไม่รั่วไหลไปไหน แต่ส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการใช้ไลน์ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากระบบนี้เมื่อมีความเสถียรคนก็เริ่มไปใช้มากขึ้น

"ผมเองก็ไม่จำเป็นต้องเข้ามาเซ็นเอกสารที่สำนักงาน ก.พ.ร. เท่านั้น เพราะสามารถเซ็นเอกสารเป็นลายเซ็นดิจิตอลผ่านสมาร์ทโฟน แท็บเลต ได้แล้ว ในระบบที่ใช้อยู่จะแจ้งเข้ามามีเอกสารรอการลงนาม ก็เพียงกดเข้าไปลงนาม ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะไปดึงลายเซ็นมาใส่ในช่องว่างที่เรามาร์กไว้ ซึ่งมันก็คือ ตัวผมเซ็นเอง เพราะสามารถแทร็กดูได้ ก็จะมีการแจ้งเตือนกลับมาให้เราทราบว่า เราลงนามเรียบร้อยแล้ว มีเลขแจ้งยืนยัน ซึ่งเป็นระบบของ ก.พ.ร. ที่กำลังจะแนะนำให้คนอื่นนำเอาไปใช้ ซึ่งเป็นมาตรการการลดการใช้กระดาษ ระบบราชการไปข้างหน้าเยอะ แต่ไม่ได้เป็นข่าวเปิดเผยกับประชาชน"

สัมภาษณ์ | หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,438 ระหว่างวันที่ 24-26 มกราคม 2562

595959859