'ซีแวลู' บุกอาหารสัตว์เลี้ยง ทุ่ม 700 ล้าน ผุดโรงงานใหม่เจาะตลาดโลก

24 ม.ค. 2562 | 09:01 น.
"ซี แวลู" สบช่องตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงระดับโลก โตสวนกระแส ทุ่มงบ 700 ล้านบาท ผุดโรงงานพร้อมไลน์เครื่องจักรใหม่ รับเทรนด์ตลาดโลก พร้อมต่อสัญญา "โลหะกิจรุ่งเจริญทรัพย์" เพิ่ม 10 ปี เสริมแกร่งตลาดโลก มั่นใจโกยยอดขาย 3 หมื่นล้านบาท ในปี 2563 พร้อมขึ้นแท่นผู้นำโออีเอ็มโลก

นายอมรพันธุ์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซี แวลู จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลแปรรูป เปิดเผยว่า แนวโน้มสถานการณ์โลกในปัจจุบัน พบว่า อัตราการเกิดของประชากรโลกน้อยลง ประชาชนส่วนใหญ่หันมาให้ความรักและเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากขึ้น เห็นได้จากยอดการส่งออกกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงโตขึ้น 100% ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทนับจากนี้ จะให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นหลัก ล่าสุด ได้ใช้เงินลงทุนกว่า 700 ล้านบาท ในการเพิ่มกำลังการผลิต พร้อมทั้งเสริมแกร่งให้บริษัท แบ่งเป็น 100 ล้านบาท สำหรับลงเครื่องจักรเพิ่มในส่วนของโรงงานเดิมที่ผลิตอาหารสัตว์ และอีก 600 ล้านบาท ในการก่อสร้างโรงงานผลิตอาหารสัตว์ในบริเวณโรงงานเดิม บนพื้นที่ 1 หมื่น ตร.ม. กำหนดแล้วเสร็จต้นปี 2563 ซึ่งโรงงานแห่งใหม่นี้จะเน้นผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงพรีเมียมที่ทำจากเนื้อวัวหรือแกะ เป็นต้น และหากสามารถดำเนินการผลิตได้เต็มรูปแบบในช่วง 3-4 ปีนี้ โรงงานใหม่นี้จะทำยอดขายให้บริษัทได้ไม่ตํ่ากว่า 3,000 ล้านบาท

 

[caption id="attachment_377963" align="aligncenter" width="377"] อมรพันธุ์ อร่ามวัฒนานนท์ อมรพันธุ์ อร่ามวัฒนานนท์[/caption]

"ต้องยอมรับว่า ในกลุ่มธุรกิจอาหารคนในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มที่ชื่นชอบการรับประทานเนื้อปลาทูน่านั้น เริ่มมีฐานลูกค้าที่ครอบคลุมในทุกพื้นที่แล้ว ส่งผลให้โอกาสทางการเติบโตในกลุ่มธุรกิจดังกล่าวค่อนข้างชะลอตัว ดังนั้น บริษัทจึงโฟกัสการทำตลาดมายังกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมากกว่า โดยจะให้ความสำคัญกับการส่งออกยังอเมริกาที่เป็นตลาดใหญ่สุด รวมถึงออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ ส่วนอาหารแปรรูปสำหรับรับประทาน ปัจจุบัน ยอดขายทรงตัว โดยเฉพาะในกลุ่มปลา เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น หลังจากนี้จะเน้นนวัตกรรมใหม่เข้ามาเพิ่ม เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเนื้อไก่ เป็นต้น"


mp30-3438-a

อย่างไรก็ตาม บริษัทวางเป้าหมายยอดขายในสิ้นปีนี้ไว้ที่ 2.75 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 10% จากปีที่ผ่านมา ที่มีรายได้ 2.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น รายได้ที่มาจากการส่งออก 2.3 หมื่นล้านบาท และอีก 2,000 ล้านบาท เป็นรายได้ที่มาจากในประเทศ โดยปัจจุบัน บริษัทมียอดขายในกลุ่มอาหารแปรรูปที่ทำจากปลาทูน่า ปลาแมคเคอเรล ไก่ ภายใต้แบรนด์ ซูเปอร์ ซีเชฟ และโออีเอ็มอยู่ที่ 75%, กลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง ภายใต้แบรนด์ Petsimo และโออีเอ็ม อีก 25% หลังจากให้ความสำคัญกับกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงในครั้งนี้ มองว่า สัดส่วนรายได้จะเปลี่ยนไป เป็นกลุ่มธุรกิจอาหารคน สัดส่วน 70% และกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง 30% ขณะที่ ภาพรวมรายได้ หลังปี 2563 น่าจะทำได้ไม่ตํ่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท พร้อมตั้งเป้าขึ้นเป็นผู้นำในตลาดรับจ้างผลิต หรือ โออีเอ็ม (Private Labels) ให้ได้ จากปัจจุบัน ที่ ซี แวลู ถือเป็น ท็อป 2 ของตลาดโออีเอ็มโลก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการทำโออีเอ็มให้กับแบรนด์ชั้นนำ โดยส่งออกไปทั่วโลกไม่ตํ่ากว่า 100 ประเทศ

"แนวโน้มการแข่งขันในธุรกิจอาหารคนของโลกในอนาคต คาดการณ์ว่าจะเหลือเพียงผู้เล่นรายใหญ่เบอร์ 1 และ 2 เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่า ปัจจุบันมียักษ์ใหญ่ครองตลาดอยู่แล้ว หากเราจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นลำดับต้น ๆ แล้ว การขายผ่านห้าง หรือ รับจ้างผลิตในรูปแบบ Private Labels คือ โอกาสสำคัญของการแข่งขันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการขึ้นเป็นผู้นำให้ได้ แต่หากมีแบรนด์สินค้าที่น่าสนใจและมีโอกาสทางการเติบโต บริษัทก็พร้อมที่จะซื้อ หลังจากเมื่อปี 2558 บริษัทได้ใช้เงิน 200 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการแบรนด์ แอตแลนติก กรูเมต์ ของฝรั่งเศส โดยทำตลาดฝั่งยุโรปเป็นหลัก"

หน้า 30 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,438 วันที่ 24 - 26 มกราคม พ.ศ. 2562

595959859