น้ำมันดิบขึ้นต่อ หลัง IEA มองราคาน้ำมันดิบน่าจะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว

14 มี.ค. 2559 | 02:35 น.
น้ำมันดิบขึ้นต่อ หลัง IEA มองราคาน้ำมันดิบน่าจะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ขณะที่ Goldman Sach ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบปีนี้ลง

หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์ วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมันประจำ

วันที่ 14 มีนาคม 2559

+ ราคาน้ำมันดิบขยับขึ้นอีกครั้งหลังรายงานของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) เผยสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตกต่ำน่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว และมีความเห็นว่าการผลิตและส่งออกของอิหร่านที่เพิ่มขึ้นจะไม่ส่งผลกดดันราคามากนัก พร้อมเผยคาดการณ์ปริมาณน้ำมันคงคลังของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD) ในเดือน ก.พ. จะลดลงเป็นครั้งแรกในรอบปี

+ นอกจากนี้ รายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือน มี.ค. ของ IEA คาดการณ์การผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก (Non-OPEC) จะลดลงราว 750,000 บาร์เรลต่อวัน มากกว่าที่คาดไว้เดิมว่าจะลดลง 600,000 บาร์เรลต่อวันเมื่อเดือนที่แล้ว ขณะที่คงคาดการณ์การเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันปีนี้ไว้ที่ระดับเดิมที่ 1.17 ล้านบาร์เรลต่อวัน และมองว่าอุปทานน้ำมันในช่วงครึ่งปีหลังอาจล้นตลาดลดลงเล็กน้อย โดยในช่วงเดือน ก.ค. จะมีการปิดซ่อมบำรุงแหล่งผลิตน้ำมันดิบในทะเลเหนือปริมาณ 180,000 บาร์เรลต่อวันเป็นเวลา 1 เดือน

+ บริษัท Baker Hughes รายงานตัวเลขหลุมขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ ลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 12 มาอยู่ที่รับ 386 หลุม ณ วันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยำนักงานสารสนเทศน์ด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในปีนี้จะลดลงจากระดับ 9.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 58 มาอยู่ที่ระดับ 8.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 59 และระดับ 8.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 60 อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายคาดว่าหลุมขุดเจาะจะปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปีหลังราคาน้ำมันปรับเพิ่มสูงขึ้น

- บริษัท Goldman Sach ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในปีนี้และปีหน้าลงมาเฉลี่ยที่ 39 และ 60 เหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ จากเดิมที่มองไว้ที่ 45 และ 62 เหรียญสหรัฐฯ เมื่อครั้งก่อนหน้า ทั้งปรับลดคาดการณ์สำหรับน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสลง 7 เหรียญฯ มาเฉลี่ยที่ 38 และลดลง 2 เหรียญฯ มาเฉลี่ยที่ 58 เหรียญสหรัฐฯ ในปี 2559 และ 2560 ตามลำดับด้วย

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยราคาได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้เกรดหน้าร้อนที่กำลังจะมาถึงที่เพิ่มขึ้นจากทั้งในสหรัฐฯ แอฟริกา และในภูมิภาคเอง ประกอบกับการส่งออกจากจีนที่ยังไม่แน่นอนเนื่องจากมีโรงกลั่นหลักจะปิดซ่อมบำรุงในเดือน มี.ค.-เม.ย. นี้

 

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีแรงซื้อจากเวียดนาม ศรีลังกา และอินเดียเข้ามาในตลาด ประกอบกับฤดูกาลซ่อมบำรุงโรงกลั่นในเอเชียเหนือที่คาดว่าจะทำให้อุปทานบางส่วนลดลง อย่างไรก็ตาม จีนมีแผนจะส่งออกน้ำมันดีเซลอย่างต่อเนื่องในเดือน มี.ค.

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบสัปดานี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 34-40 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนด์เคลื่อนไหวในกรอบ 36-42 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ปัจจัยน่าจับตามอง

ติดตามการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในวันที่ 15-16 มี.ค. นี้ โดยตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและมีแนวโน้มที่จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมที่ 0.25 - 0.5%

ติดตามการประชุมนัดพิเศษระหว่างผู้ผลิตน้ำมันดิบในและนอกกลุ่มโอเปกที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 มี.ค.และ 1 เม.ย.นี้ เพื่อหามาตรการในรักษาเสถียรภาพราคาของราคาน้ำมันดิบ ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวยังคงมีความไม่แน่นอนสูง และยังไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับสถานที่และเวลาได้

จับตาปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิรักทางตอนเหนือคาดจะกลับมาเพิ่มขึ้นในเร็วๆ นี้ หลังตุรกีเพิ่มกำลังทางทหารเพื่อรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติม ส่งผลให้การซ่อมแซมท่อขนส่งน้ำมันดิบกว่า 600,000 บาร์เรลต่อวันอาจจะเปิดดำเนินการได้ในเร็วๆนี้